มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

“โรคมือเท้าปาก” รู้ทันไม่อันตราย

ในช่วงเข้าหน้าฝน หลายคนมักจะได้ยินข่าวคราว “โรคมือเท้าปาก” ระบาดบ่อยครั้งโดยเฉพาะในเด็กเล็กช่วงเปิดเทอม จนหลายโรงเรียนต้องประกาศหยุดเรียนกันเลยทีเดียว แล้วโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีอันตรายหรือไม่ วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส.มีคำตอบมาฝากกัน

ความหมายโรคมือเท้าปาก
เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารก และเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปีในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กสถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝนซึ่งอากาศเย็นและชื้น

การแพร่ติดต่อ
การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากการไอจามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลา จนกระทั่งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

อาการของโรค

หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ตํ่าๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนนํ้าลายไม่ได้ และไม่ยอมทานอาหารเนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน

การรักษา

– โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
– ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด
– ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดหากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารหรือนํ้าดื่ม อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
– โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยนํ้าและสบู่ (ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ภายหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บ ให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน (เช่น ขวดนม แก้วนํ้า หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ) และใช้ช้อนกลาง
– สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย

วิธีการควบคุมโรค

หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่นสระว่ายนํ้า ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูกปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสนํ้ามูก นํ้าลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

กรณีมีเด็กป่วยจำนวนมาก โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กต้องดำเนินการ ดังนี้

1. ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (ประมาณ 5–7 วัน)
2. ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องนํ้า ห้องส้วม สระว่ายนํ้า ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้ผงซักฟอก หรือสบู่ทำความสะอาดก่อนแล้วตามด้วยนํ้ายาฟอกขาว ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้าง/เช็ด/แช่ ด้วยนํ้าสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
3. ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
4. หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง
สำหรับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยอนุบาล ที่มักจะติดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย อย่างโรคมือเท้าปาก การฝึกวินัยล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง จะเป็นวิธีหนึ่งที่ป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสได้ดี ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคุณครู อาจลองใช้สื่อสุขศึกษาสอนล้างมือผ่านการร้องเพลง ที่ สสส. ได้เคยจัดทำไว้ เพื่อช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้กับการล้างมือ โดยสอนให้เด็กๆ ร้องเพลง ช้าง ช้าง ช้าง จนจบ 1 รอบ ใช้เวลาเพียง 20-30 วินาที ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาล้างมือที่นานพอจะเจือจางเชื้อไวรัสได้มากที่สุด

เพียงแค่ล้างมือให้สะอาด ก็มีโอกาสที่จะปลอดภัยจากโรคมือเท้าปากได้ไม่ยาก และยังเป็นการลดการเกิดโรคติดต่อได้ทางหนึ่ง

เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content  www.thaihealth.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 


ย้อนกลับ