มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด

ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (ผู้ปกครอง)
 โครงการสวนบำบัดสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส

ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (ผู้ปกครอง)

 แม่มองโลกในแง่บวกมากขึ้น ทำให้มีพลัง  จากการมาอบรม ทำให้คิดได้ว่าถ้ามองเห็นว่าลูกทำให้เหนื่อยเป็นภาระ ก็จะท้อ ถ้ามองดูว่าลูกทำให้แม่ยิ้มได้อย่างไรบ้าง ก็พบว่ามีเยอะมาก  จึงมองว่าชีวิตมีความสุขมากกว่าความทุกข์ เช่น วันนี้รถติด แต่ทำให้แม่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้เล่นเกมพัฒนาลูก เห็นบ่อบัวข้างทางก็ถามลูกว่าบัวนี้สีอะไร ลูกได้เรียนรู้ ทำให้เห็นว่ารอบๆ ตัวมีความสุขมากขึ้น เป็นพลัง
– ลูกได้ฝึกทำกายภาพบำบัดโดยไม่รู้ตัว
ลูกได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม การเรียนรู้ต่างๆ
ทั้งแม่และลูกผ่อนคลาย มีความสุข

(แม่แอน)

 



ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (ผู้ปกครอง)

-เป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ มีความกระตือรือร้นที่จะทำ
-ลูกมีความสุข อารมณ์แจ่มใส
-ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อมือ
-สร้างแรงจูงใจให้ลูกกินผัก
-แม่สบายใจ มีความสุข

(แม่หญิง)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (ผู้ปกครอง)

-ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีขึ้น อารมณ์นิ่งมากขึ้น
-บรรยากาศในบ้านเริ่มดีขึ้น ที่บ้านปกติไม่เคยมีดอกไม้  พอจัดแจกันวางไว้ โดนบ่นว่าเกะกะ แต่ก็ฝืนวางต่อ ต่อมาเอาออก ก็ถูกทักว่าแจกันดอกไม้หายไปไหน แสดงว่าเริ่มสนใจ จึงเอากลับมาวางและเพิ่มแจกันในห้องอื่นด้วย ต่อมาพ่อเอ่ยว่าอยากมีน้ำตกเล็กๆ ตรงหน้าบ้าน

(พี่จิตร)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (บ้านเด็กพิการคามิลเลี่ยน)

ผลต่อเด็ก
-เป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ ทำให้เด็กออกไปทำกิจกรรมข้างนอกได้นานกว่าปกติ เด็กพยายามทำกิจกรรมสวนบำบัดจนเสร็จ
-กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ขณะทำกิจกรรมเด็กเกิดคำถามว่า “พ่อวัฒน์ ทำไมต้องทำอย่างนี้”

ผลต่อผู้ปกครอง
-ผู้ปกครองเกิดคำถามและเรียนรู้ร่วม เรียนรู้ว่าที่บ้านก็ทำได้ แต่ต้องปลดปล่อยสิ่งที่คุ้นเคย หรือประสบการณ์เดิม
-ผู้ปกครองเริ่มให้ความใส่ใจ เมื่อก่อนให้ทำกิจกรรมอะไรก็ทำลวกๆ  แต่เมื่อมาเรียนรู้ขั้นตอนต่าง เช่น แยกดิน ผสมดิน ผู้ปกครองสนใจต่อยอดนำไปทำกิจกรรมกับลูกที่บ้าน
(อนุวัฒน์ จันธิ)  


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

-เด็กได้ฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้า
-เด็กได้ฝึกความรับผิดชอบ
-ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและรู้สึกเป็นเจ้าของสวน
-อาสาสมัครได้ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ได้
-เจ้าหน้าที่ได้คลายเครียด

(แพรว)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (สมาคมเพื่อคนพิการฯ )

-เด็กชอบกิจกรรมนี้ อยากปลูกต้นไม้ อยากออกนอกห้องเรียนลงไปเรียนกับธรรมชาติ ได้ออกไปรับอากาศข้างนอก
-เด็กมีความสุข รู้สึกเพลิดเพลิน ทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น
-เด็กได้ขุดดิน ได้ปลูกต้นไม้ ทำให้ได้ฝึกกล้ามเนื้อมือ
-เด็กเรียนรู้ได้ดีจากของจริง ปกติเด็กเรียนในห้องเรียนรู้จากภาพ
-เด็กภูมิใจในผลงานของตนเอง

(พรรณวิภา โสภาจิตร)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ)

-ทำให้ใส่ใจในรายละเอียดของกระบวนการธรรมชาติมากขึ้นอย่างช้าๆ อย่างมีสติ จากการที่วิทยากรให้คำแนะนำ ซึ่งก่อนหน้านี้การใช้ธรรมชาติบำบัดเราไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดมาก  เช่น วิธีการที่เราจะปลูกพืชให้ได้ผลสมบูรณ์ เราจะต้องเลือกดิน ผสมดิน ใส่ใจรายละเอียดของขั้นตอนการปลูก วิธีการให้น้ำ วิธีการสังเกต และสอนโยงไปถึงการดำเนินงานและชีวิต
-ทำให้เป็นคนช่างสังเกตมากขึ้น สังเกตธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น สังเกตแม้กระทั่งตัวเราเอง
-นำสิ่งที่เรียนไปขยายต่อ สอนลูกเล็กให้รู้จักเรียนรู้ธรรมชาติ
-ได้เห็นว่าเด็กได้เรียนรู้จากธรรมชาติ เด็กกับธรรมชาติเป็นเพื่อนกัน มีการแลกเปลี่ยน เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  อย่างเช่นตอนเย็นมีเด็กมาเล่นในสวน เด็กจะชี้ชวนกันไปดูปลา ต้นไม้ ดอกไม้ เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติ
-ทำให้คนเมืองซึ่งปกติไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ ได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติ
-ธรรมชาติสามารถพัฒนาอารมณ์ หล่อหลอมสำนึก พฤติกรรม
– นำความรู้ไปใช้กับเด็กพิเศษที่ดูแลอยู่ และจะต้องขยายต่อให้ผู้ปกครองนำความรู้นี้ไปกระตุ้นลูก พัฒนาลูกให้ได้ใช้ร่างกายส่วนต่างๆ ได้ฝึกกายภาพบำบัด ได้ฝึกเรื่องของสังคมอารมณ์ สติ
(โชติกา บริสุทธิ์ ครูจุ๋ม)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษฯ)

-ผลที่เห็นชัดเจน คือ ชุมชนรอบข้างบอกว่าโรงเรียนสวยขึ้น เดิมโรงเรียนมีแต่หญ้า ต้นไม้ขึ้นรก
ปรับปรุงเป็นสวนขึ้นมา
-เด็กได้ใช้สวนเป็นห้องเรียนในช่วงเช้าและบ่าย
-เด็กได้เรียนรู้ สัมผัสธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้
-ในสวนมีเครื่องออกกำลังกาย ชาวบ้านเข้ามาใช้ มานั่งเล่น  ชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย

(มงคล ภานิตร)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (ศูนย์บริการคนพิการนครศรีธรรมราช )

-ข้อดีที่เห็นได้ชัดของโครงการคือการได้ลงมือปฏิบัติเลย แล้วได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก อย่างเช่นการตัดกิ่งโหระพาไปเพาะ เขาเคยทำแบบปักๆ ไปเลยโดยไม่ได้เอาไปแช่น้ำแล้วเฝ้าดูให้มันงอกรากเสียก่อน การเฝ้าดูรากงอกทำให้คนปลูกตื่นเต้นดีใจ
-ด้วยกระบวนการที่เรียนรู้และทำ ผู้ปกครองและลูกได้พัฒนาความช่างสังเกต
-เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเรื่องอารมณ์ สังคม จิตใจ ทั้งผู้ปกครองเองและลูกรู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น มีความรู้สึกอยากไปดูแลพืชที่ปลูก
-ทางด้านสังคม ทำให้มีเพื่อน เช่นการขยายพันธุ์โหระพา แบ่งกิ่งให้เพื่อนบ้านไปปลูก ขยายให้คนที่สนใจได้รู้ว่าไปรับความรู้มาจากไหน ทำให้มีความสัมพันธ์กับคนอื่น มีความมั่นใจมากขึ้น มีเพื่อนเพิ่มขึ้น จากคนไม่รู้จักกลายเป็นเพื่อน
-ได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ครอบครัวหนึ่งเล่าว่าพ่อทำแต่งาน เมื่อเอากิจกรรมสวนบำบัดไปปฏิบัติ ก็ พ่อแม่ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ปกติในครอบครัวไม่ค่อยได้คุยกัน กิจกรรมนี้ทำให้ได้พูดคุยกัน พ่อเข้ามามีส่วนร่วมมีความเข้าใจเรื่องลูกมากขึ้น ทำให้แม่มีความสุข
-ขยายผลจนเป็นอาชีพ กิจกรรมนี้ลงทุนแค่ 100 กว่าบาท มีคนหนึ่งเริ่มด้วยการปลูกบวบแล้วปลูกไปเรื่อยๆ จนถึงกับปลูกข้าวโพด ที่สุดขายได้เงิน 2,000 กว่าบาท และมองว่าจะยึดเป็นอาชีพต่อไป สรุปว่าจากการปลูกเอง กินเอง เด็กได้เรียนรู้แล้ว ยังได้แจก ได้ขาย กลายเป็นอาชีพได้ด้วย
-ทำให้เกิดเครือข่าย ได้รู้จักเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่นอุทยานในพื้นที่ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ได้รับการสนับสนุน เช่นนำหญ้ามาปลูกให้ มาสอนแนะนำการปลูกต้นไม้บางชนิด ได้ไปดูการปลูกการบำรุงรักษา
-พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกภาคภูมิใจกับผลผลิตซึ่งขายได้ ปกติแม่มีหน้าที่ดูแลลูกอย่างเดียว เขาบอกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ปลูกผักขายได้
(สมัญญา โสภาพล)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (โรงพยาบาลลับแล )

-จากการทดลองทำด้วยตัวเองก่อน ทำให้ปัจจุบันเพาะว่านขาย เป็นรายได้พิเศษ
-สร้างอาชีพเสริมให้ชาวบ้านเพาะผักหวานบ้าน ผักปัง หม่อน ขายสร้างรายได้
-ได้ขยายความรู้สู่ชุมชนและกลุ่มผู้สูงอายุ มีผู้แสดงความสนใจ ตอนนี้เริ่มมีตลาดสีเขียวสาขาตามชุมชน เพราะฉะนั้นกิจกรรมสวนบำบัดก็จะค่อยๆ กระจายไปเรื่อยๆ

 

(สุวพิชญ์ ซ้อมจันทร์ทรา )

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ )

-ได้ทำกายภาพบำบัด เพราะเราประยุกต์เอาการฝึกเข้าไปในสวนบำบัดด้วย อย่างเช่นการนั่งทรงตัวเวลาเด็กปลูกผัก เป็นการฝึกโดยเด็กไม่รู้ตัว
-เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านกระบวนความคิด ครูถามเด็ก และเห็นว่าเด็กเกิดการเรียนรู้
-เด็กได้พัฒนาภาษา เด็ก CP ส่วนมากพูดไม่ได้ แต่กิจกรรมกระตุ้นให้เด็กสื่อสาร ซึ่งเห็นได้ว่ากิจกรรมเป็นตัวกระตุ้นที่เข้มแข็งมาก ซึ่งตรงนี้ ครู พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เห็นวิธีที่เด็กสื่อสาร
-เด็กได้ทักษะทางสังคม เด็กๆ ได้รู้จักการรอคอย แบ่งปัน เพราะการทำกิจกรรมร่วมกันหลายคน เด็กๆ ต้องแบ่งปันอุปกรณ์หรือเวลาครูพูดเด็กก็ต้องฟัง

ผลต่อผู้ปกครอง

  • ผู้ปกครองได้เห็นเทคนิควิธีการ จากการที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้กับลูก ได้เรียนรู้ไปกับลูก
  • แม่ได้ผ่อนคลาย แม่ที่มีลูกพิเศษเวลาอยู่บ้านมักเครียด 24 ชม.แม่ต้องเป็นพยาบาล ต้องดูแล ไม่มีคนมาผลัดเปลี่ยน เพราะฉะนั้นแม่จะมีความเครียดมาก พอแม่เครียดลูกก็เครียดไปด้วย
  • สามารถเลือกใช้กิจกรรมได้หลากหลาย เช่นกรณีคุณแม่น้องนะโมใช้สวนสาธารณะ คุณแม่น้องชมพู่แค่ทำงานศิลปะเป็นโมบายล์ให้ลูกมอง แม่ก็หันไปทำงานอย่างอื่นได้ ช่วยเปลี่ยนความรู้สึกแม่ คลายเครียด เปลี่ยนความรู้สึกลูกที่หงุดหงิด โดยมีกิจกรรมที่มาช่วยเบี่ยงเบนอารมณ์ จึงขึ้นอยู่กับวิธีการที่แต่ละคนนำไปใช้ หรือแม่บางคนปลูกผักจริงจัง และเอามาทำกิจกรรมกับลูกกับสมาชิกครอบครัว
  • กิจกรรมสวนบำบัดดึงคนในครอบครัวให้มามีปฏิสัมพันธ์กัน พ่อแม่ลูกทำกิจกรรมร่วมกัน พัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว
  • เกิดเครือข่าย แม่หนึ่งคนที่มีประสบการณ์แล้ว สามารถถ่ายทอดให้แม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เกิดประโยชน์กับแม่ใหม่ๆ ด้วย

ผลต่อครู

  • ครูจะได้ประโยชน์มากจากการใช้กิจกรรมสวนบำบัด แค่เปลี่ยนจากห้องเรียนไปที่สวนในชุนชน ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ ไปสวนสาธารณะใกล้ชุมชน หรือสวนสาธารณสุขที่ใกล้มูลนิธิ ที่เป็นสวนธรรมชาติ แม้ไม่มีกิจกรรมมากอย่างน้อยก็ได้สัมผัสธรรมชาติตรงนั้น ครูต้องคิดกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ และมีแม่คอยกระตุ้นด้วย

(จุลิน  ภู่ไพบูลย์ )


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเฟื่องฟ้า)

-ผลทางด้านพัฒนาการทางอารมณ์เห็นได้ชัดที่สุด เด็กสดใสร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส พบว่าเด็กที่นอนติดเตียง มีอาการเกร็งมาก ได้ออกมาในสวนมองโน่นนี่ ยิ้มแย้ม หัวเราะ มีความสุข การเกร็งกล้ามเนื้อก็ลดลง
-เด็กได้ฝึกกายภาพบำบัดโดยธรรมชาติ
-นอกจากเจ้าหน้าที่ใช้พื้นที่นี้แล้ว เริ่มมีผู้ปกครองเข้ามานั่งพักผ่อน แม่ที่มาเยี่ยมลูกพาลูกออกมานั่งที่สวน เพราะในห้องที่เยี่ยมจะคับแคบ

(รุ่งนภา จิตต์สุภา)

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด ( บ้านนนทภูมิ )

-เป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ
-เด็กได้เรียนรู้ ฝึกประสาทสัมผัสด้านต่างๆ
-ทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น
-ช่วยเบี่ยงเบนอารมณ์ ถ้าเด็กอารมณ์ไม่ดี ร้องไห้ พาไปดูต้นไม้ ก็จะอารมณ์ดีขึ้น

(ชุลีพร ยอดสมุทร )

 


ผลสำเร็จที่ได้จากการจัดกิจกรรมสวนบำบัด (บ้านราชาวดี )

-เด็กมีความสุข สนุก ถ้าเด็กเห็นเราเตรียมอุปกรณ์ก็จะดีใจ มีความกระตือรือร้นอยากจะทำ
-เด็กได้ฝึกการใช้มือ ใช้นิ้ว ฝึกการหยิบ ปล่อย การคอนโทรลกล้ามเนื้อเพื่อให้เด็กไปใช้มือทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้เช่นการตักข้าวกินเอง
-เด็กได้ฝึกสมาธิจดจ่อจากการเรียงเมล็ดทีละเมล็ดสำหรับปลูก ทำให้เด็กนิ่งขึ้น
-เด็กได้สื่อสาร แม้จะพูดไม่ได้ แต่ก็ยังมีการสื่อสารกันด้วยภาษาที่เข้าใจกันเองได้
-มีผลผลิตต้นอ่อนทานตะวันจำหน่ายได้

(ภิรมย์ ศรีสร้อย )

 


 


ย้อนกลับ