มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ศอ.บต. ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ติดตามผลการปฎิบัติงานด้านการเยียวยาและงานด้านเด็กและสตรี เพื่อเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ดีขึ้น

วันนี้ (16 กรกฎาคม 2563) นายธรรมงค์ คงวัดใหม่ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนัก กอง และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ให้การต้อนรับพลตรี กฤษดา พงษ์สามารถ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และคณะ ร่วมประชุมรับทราบผลการปฏิบัติงานของ ศอ.บต. ด้านการเยียวยาและงานด้านเด็กและสตรี ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 ศอ.บต.

พลตรี กฤษดา พงษ์สามารถ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า วันนี้เป็นการเยี่ยม ศอ.บต. และรับทราบผลการปฏิบัติงานที่ ศอ.บต. ขับเคลื่อนด้านงานเยียวยา งานเด็กและสตรีทั้งในด้านระเบียบ หลักการ วิธีการ และความคืบหน้าของการเยียวยาต่าง ๆ ข้อมูลและประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทางคณะของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะต้องชี้แจงกับคณะกรรมาธิการงบประมาณ ทั้งในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. เพื่อให้การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ด้าน นายธรรมงค์ คงวัดใหม่ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนงานที่สำคัญ คือ การเยียวยาทั้งเด็กและสตรี กลุ่มบุคคลเปราะบางเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องปรับแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในการนี้ ศอ.บต. ได้สรุปผลการปฎิบัติงานทั้งด้านการเยียวยาและงานเด็กและสตรีดังกล่าว โดยงานด้านการเยียวยาจะมีหลักเกณฑ์การเยียวยา 2 ส่วน ด้านผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะใช้ระเบียบคณะกรรมการพัฒนาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันสืบเนื่องมาจากความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 เป็นระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ด้านผู้ที่ถูกกระทำจากผู้ก่อความไม่สงบใช้มติ ครม. ซึ่งการดำเนินงานของ ศอ.บต. ในการเยียวยาด้านร่างกาย ทรัพย์สิน ด้านจิตใจ ด้านคุณภาพชีวิต กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ 3 เงื่อนไข ดังนี้

1.เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2.เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

และ 3.เป็นเหตุที่เกิดจากสถานการณ์สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ การดำเนินงานจะช่วยเหลือเยียวยาด้านคุณภาพชีวิต ด้านเยียวยาจิตใจครอบครัว และงานระบบฐานข้อมูลเยียวยา ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ทั้งนี้ ในส่วนงานด้านเด็กและสตรีนั้น ทาง ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาพปัญหาและสถานการณ์ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรี ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคม 28 องค์กรเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนงานสร้างสันติสุขในพื้นที่ ทั้งในด้านส่งเสริมการศึกษาและเสริมสร้างโอการทางสังคม การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การให้ความช่วยเหลือเยียวยา การพัฒนาคุณภาพชีวิต การบูรณาการทำงานร่วมกับองค์กร หน่วยงานในต่างในต่างประเทศ และการส่งเสริมการเข้าถึงการอำนวยความเป็นธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชนในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนงานด้านกลุ่มบุคคลเปราะบางโดยดำเนินงานกิจกรรมสำคัญ คือ กิจกรรมการเข้าถึงด้านการศึกษาแก่ครอบครัวที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์ กิจกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะกลุ่มเด็กกำพร้า กิจกรรมการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่ในการแพร่ระบาดของโรคหัดในปี 2561 และ 2562 โดยเร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครอบถึงการป้องกันโรคดังกล่าว กิจกรรมเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเด็กพิการ เพื่อจัดตั้งธนาคารอุปกรณ์ผู้พิการ กิจกรรมนำร่องที่ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 คือ โครงการขยายผลนวัตกรรมอุปกรณ์ฟื้นฟูสภาพความพิการประกอบด้วย 4 ชนิด เก้าอี้สุขใจ รองเท้าสั่งตัด เตียงฝึกยืน และวอร์คเกอร์ในการฝึกเดิน และกิจกรรมการขยายผลโครงการนำร่องคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้า ตลอดจนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่

ขอบคุณ : https://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0066&postid=0021362&currentpage=1

ขอบคุณ… https://bit.ly/3h8cMZo 


ย้อนกลับ