มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ศอ.บต. ขอความร่วมมือ จนท.ด่านหน้า เฝ้าระวังการเดินทางเข้าออกไทย- มาเลย์ เคร่งครัด

ศอ.บต. ขอความร่วมมือ จนท.ด่านหน้า เฝ้าระวังการเดินทางเข้าออกไทย- มาเลย์ เคร่งครัด พร้อมเผยแนวทางการดูแลผู้พิการกว่า 70,000 ราย ให้กลับมาช่วยเหลือตนเอง

นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะโฆษก ศอ.บต. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การของโรคโควิด- 19 ในประเทศไทย รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีตัวเลขสูงขึ้น และยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง จึงขอความร่วมมือและให้กำลังใจ ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ทำหน้าที่อยู่ด่านหน้าในการดูแลพื้นที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ให้เฝ้าระวังการเดินทางเข้าออกบริเวณด่านชายแดนทั้ง 9 แห่ง อย่างเคร่งครัดให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งฝากถึงพี่น้องประชาชนที่มีญาติที่อยู่ต่างประเทศ ให้สื่อสารและแจ้งไปยังญาติพี่น้องเหล่านั้น หากต้องการกลับประเทศไทย ควรเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งให้ข้อมูลตรวจโรคตามความเป็นจริง และลงทะเบียนจองวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อสังคม ใช้ชีวิตอย่างระมัดวังและมีสติภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก็จะสามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ได้

ขณะที่ ศอ.บต. ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในห้วงสถานการณ์โควิด -19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองในพื้นที่จังหวัดสงขลาซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านหรือตลาดที่เคยรับซื้อถูกปิด ผู้ประกอบการไม่สะดวกในการเดินทางมารับซื้อผลผลิตตลอดจนกิจกรรมและกิจการต่างๆ ทั้งร้านอาหาร การจัดกิจกรรม งานบุญ งานกุศล ถูกจำกัด ทำให้ผลผลิตฟักทอง เกิดการตกค้าง ไม่สามารถออกสู่ตลาดได้ โดยในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกกว่า 6,000 ไร่ มีผลผลิตกว่า 3,200 ตัน / ปี จากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 – 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สามารถประสานให้มีการรับซื้อผลผลิตฟักทองในพื้นที่อำเภอระโนด สิงหนคร สทิงพระ จะนะ และอำเภอเทพา ได้จำนวนกว่า 460 ตัน มีหน่วยงานและบริษัทที่มารับซื้ออย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัทปาล์มพัฒนา บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 อบจ.สงขลา หจก.กันธนาการค้าและอีกจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อนำผลผลิตดังกล่าว ไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ต่อไป

ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการรับซื้อผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกฟักทอง ให้ระบายสินค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งตามปกติกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการผ่านมายัง ศอ.บต.ให้ช่วยประสานและดำเนินการกับเรื่องดังกล่าว โดยประสานไปยังผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้และภาคกลางต่อไป

ในห้วง 3 ปี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ศอ.บต. ได้มีการดูแลและช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ เพราะผลลัพธ์สุดท้ายที่ภาครัฐต้องการคือ ประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรม ประชาชนต้องไม่แตกต่าง เหลื่อมล้ำ และต้องเกิดความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ กลุ่มคนเปราะบางคือกลุ่มคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างเต็มที่มีจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ เด็กกำพร้า คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้ไร้สถานะทางทะเบียน ผู้ได้รับผลกระทบฯ จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ผู้เพิ่งพ้นโทษ คนไร้ที่อยู่ และโอรังอัสลี เป็นต้น โดยกลุ่มคนพิการ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประมาณ 75,000 คน ในจำนวนนั้นประมาณครึ่งหนึ่งจะมีผู้พิการทางด้านการเคลื่อนไหวและประมาณ 7,000 คน เป็นผู้พิการซ้ำซ้อน ศอ.บต. จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืน โดยได้บูรณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันสิรินธร และหน่วยอื่นๆ ในการช่วยเหลือและดูแลเด็กพิการที่ซ้ำซ้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจากการดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 – 16 เมษายน 2564 ศอ.บต. มีเด็กพิการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 662 คน สามารถชันคอและฝึกนั่งได้ 517 ราย นั่งได้ 11 ราย ยืนทรงตัวได้ 48 ราย เดินได้โดยใช้วอล์คเกอร์ 71 ราย และเดินได้โดยรองเท้าสั่งตัด 22 ราย โดยเฉพาะที่ยืนทรงตัวได้ และเดินได้รวมเป็น 141 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.3 ทั้งนี้มีการช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นจากการทำเป็นเก้าอี้สุขใจ ปรับเก้าอี้ ให้เข้ากับเด็กแต่ละคน ฝึกให้มีการทรงตัว โดยเตียงฝึกยืน ออกแบบเป็นรองเท้าคู่แรก รองเท้าสั่งตัด จากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกแบบเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะและรายบุคคล หลังจากนั้นหลายคนก็เริ่มเดิน รวมถึงรถสิริเวชยาน ที่ได้รับพระราชทานนามอันเป็นมงคลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล สามารถที่จะฟื้นฟูสภาพเด็กพิการซ้ำซ้อนหรือผู้ป่วยติดเตียงได้

ขอบคุณ : https://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0066&postid=0022618&currentpage=1

ขอบคุณ… https://bit.ly/2RVeje8


ย้อนกลับ