มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

คงสมองให้”ไบรท์”อยู่เสมอ แค่ใส่ใจ”อาหารการกิน”


14519057441451905784lสมองดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะสมองมีบทบาทต่อการทำงานของอวัยวะหรือระบบอื่น ๆ ด้วย เช่น
ระบบประสาท การเคลื่อนไหวของแขน ขา ไปจนถึงการเดิน การทรงตัว และความจำ ปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมองเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดังเช่นหลาย ๆ ประเทศที่กำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งเราอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคระบบประสาทมากเช่นกัน

โดยจากสถิติพบว่า ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคระบบประสาทเฉลี่ย 4 นาทีต่อคน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองตีบนี้เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากทั่วโลกรองจากโรคมะเร็ง เช่นนี้แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถ รักษาสมองให้คงประสิทธิภาพ อยู่กับเราไปได้นานที่สุด การเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมองเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย ๆ

เอกสิทธิ์ จิตธรรม นักโภชนาการ-กำหนดอาหารวิชาชีพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS แนะนำว่า ในแต่ละวันหากเราเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมองบ้าง ก็จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์สมอง ป้องกันการเสื่อมเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น เหมือนการออกกำลังกาย หรือการเลือกรับประทานอาหารบำรุงส่วนอื่น ๆ เพราะสมองก็ต้องการการดูแลเพื่อให้ฟิตแอนด์เฟิร์มด้วยเช่นกัน

สารอาหารอะไรบ้างที่ทำให้สมองเราฟิต และจะเลือกทานอะไรกันดี?

เอกสิทธิ์แนะนำว่า สารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุง สนับสนุนการทำงาน และชะลอความเสื่อมของสมอง ได้แก่ วิตามินชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี1 บี6 บี12 วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายประเภท ดังนี้

– วิตามินบี1 มีมากในอาหารจำพวกข้าวแข็ง ๆ ไข่แดง ปลา ถั่วเหลือง

– วิตามินบี6 แนะนำให้รับประทานไข่ เนื้อสัตว์ จมูกข้าว ข้าวโพด กล้วย

– วิตามินบี12 จะช่วยสนับสนุนการทำงานของกระแสประสาท ทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุราว 4 เท่า อาหารที่เหมาะสมประกอบด้วยไข่ เครื่องในสัตว์ นม เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่มีไขมันต่ำ

– วิตามินซี มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ พบในผลไม้จำพวกกีวี ฝรั่ง มะละกอ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง

– วิตามินอี มีมากในผักคะน้า ผักโขม ถั่ว อัลมอนด์ น้ำมันรำข้าว ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยส่งออกซิเจนเลี้ยงสมอง

3 NO ที่เข้าใจผิด! งดไขมัน คาร์โบไฮเดรต และไข่แดง

“ยังมีความเข้าใจผิดในการเลือกรับประทานอาหารหลายประเภท เพราะคิดว่าอาหารเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าก่อให้เกิดประโยชน์” คุณเอกสิทธิ์กล่าว และเพิ่มเติมว่า โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และไขแดง ซึ่งจริงๆ แล้วอาหารทั้ง 3 ประเภทนี้มีความสำคัญมากกว่าส่งผลกระทบต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม

14519057441451905792lงดไขมัน ดีจริงหรือ?

ร่างกายคนเรายังต้องการไขมัน และโครงสร้างสมองก็มีไขมันอยู่ถึง 60% การรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งไขมันที่ดีจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและสร้างความแข็งแรงให้เซลล์สมอง อาหารที่ให้โอเมก้า 3 สูงประกอบ ด้วย ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาจะละเม็ด รวมถึงไข่แดง สาหร่ายทะเล เมล็ดเซีย เมล็ดฟักทอง งา น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน อาหารเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของไขมันดีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

งดคาร์โบไฮเดรต ดีจริงหรือ?

สาว ๆ ที่กลัวอ้วนล้วนต้องการลดแป้งเป็นอย่างแรก แน่นอนสิ่งที่นึกถึงคือ “คาร์โบไฮเดรต” ใช่ไหม? แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สมองยังต้องใช้น้ำตาลกลูโคสจากคาร์โบไฮเดรตที่เรารับประทาน ดังนั้นถ้าจะงดเสียทุกอย่างคงไม่ได้ การที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลกลูโคสในปริมาณที่ไม่เพียงพอ อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง มีอาการหาวนอน เพลีย หน้ามืด ใจสั่น เพราะได้รับพลังงานไม่เพียงพอ นอกจากนี้ก็ควรรับประทานข้าวกล้อง เผือก มัน ข้าวโพด ธัญพืช ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานคุณภาพที่ร่างกายต้องการ

งดไข่แดง ดีจริงหรือ?

ไข่แดงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เราพบว่าหลายคนมักเลี่ยงที่จะรับประทาน คุณเอกสิทธิ์กล่าวว่า การทำงานของสมองต้องอาศัยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ การรับประทานอาหารที่หลากหลาย ในสัดส่วนเหมาะสมและสมดุลเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เน้นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วละเลยส่วนอื่น อาหารจากพืชและสัตว์จำพวกไข่แดง เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ และธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ไก่ ปลา เป็นต้น เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่อุดมด้วยโคลีน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง และอาหารประเภทนม ไข่ อัลมอนด์ งา และเมล็ดฟักทอง ยังมีส่วนช่วยในเรื่องความจำอีกด้วย

เราควรทานอาหารบำรุงสมองบ่อยแค่ไหน?picture1

– ผักใบเขียว รับประทานทุกวัน

– ผัก อย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

– ถั่ว 3-5 ครั้ง/สัปดาห์

– ธัญพืช 4-5 ครั้ง/สัปดาห์

– ปลา 3 ครั้ง/สัปดาห์

– ไก่ 3 ครั้ง/สัปดาห์

– ไข่ 2-3 ฟอง/สัปดาห์

– นม 3-4 แก้ว/สัปดาห์

ทั้งนี้ ยังมีกรดอะมิโนบางประเภทที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ แต่จำเป็นต่อสมอง เช่น ทริปโตเฟน พบได้ในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่ว กล้วย นมอุ่นๆ และนมถั่วเหลือง ส่วนกลูตาเมทก็เป็นสารธรรมชาติพบมากในโปรตีน เช่น ไก่ หมู ปลา ซึ่งถ้าเราได้รับในปริมาณที่ต่ำเกินไปก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้และจดจำ แต่หากได้รับมากเกินไป ก็อาจไปทำลายเซลล์ประสาทได้

“มีสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง ที่เราไม่อาจละเลย ได้แก่ กลุ่มสารอาหารจำพวกกรดอะมิโนที่มีส่วนในการสร้างกาบา ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ เช่น กลูตามีนซึ่งเราได้จากการรับประทานอาหารประเภทข้าวกล้อง จมูกข้าว หรือธัญพืชอื่น ๆ ซึ่งเราควรรับประทานเฉลี่ย 4-5 ครั้ง/สัปดาห์ ร่วมด้วยปลา ข้าวโอ๊ต กล้วย เป็นต้น” เอกสิทธิ์ฝากทิ้งท้าย

เพราะใคร ๆ ก็ต้องการมีสมองที่ดีอยู่กับตนเองให้นานที่สุด การให้ความสำคัญกับอาหารสมอง ด้วยการเลือกอาหารที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้เราก็จะมีสมองที่เปี่ยมประสิทธิภาพ อยู่กับเราไปได้นาน ๆ

ที่มา : มติชนออนไลน์

ขอบคุณhttps://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1451905744


ย้อนกลับ