มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

การเดินทาง’โดยเครื่องบิน’ ปัญหาของผู้พิการนั่งวีลแชร์

สัปดาห์นี้ไปดูปัญหาที่คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ “ผู้พิการ” เดินทางโดยเครื่องบินต้องเผชิญกับอะไรบ้าง แล้วทำไมแต่ละสายการบินมีข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างกัน

การเดินทางโดยเครื่องบินสำหรับผู้พิการ คือ ความขมขื่น ความลำบากใจ แม้การเดินทางโดยวิธีนี้จะรวดเร็วและสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารในประเทศ ทุกสายการบินมีข้อกำหนดและเงื่อนไขให้คนพิการโดยเฉพาะ “ผู้ที่นั่งวีลแชร์” ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการเดินทาง 48 ชม. หรือ 2 วันเพื่อให้สายการบินตั้งหลักเตรียมพร้อม

วีลแชร์ไฟฟ้าและแบบปกติต้องแจ้งชัดๆ เพราะวีลแชร์ไฟฟ้าถ้าใช้แบตเตอรี่เป็นลิเทียมไอออน หากกำลังวัตต์เกิน 240 วัตต์ โหลดใต้ท้องเครื่องบินไม่ได้เป็นเด็ดขาด ต้องยกขึ้นมาไว้กับที่นั่งบนห้องโดยสาร ฉะนั้นผู้พิการที่มีวีลแชร์ไฟฟ้าต้องตรวจสอบกำลังวัตต์ของแบตเตอรี่รถท่านให้ดี

ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่เมื่อจองตั๋วเครื่องบินจะแจ้งพนักงานว่า ขอที่นั่งด้านหน้า เพื่อความสะดวกในการไปห้องน้ำ หรือกรณีที่ต้องอาศัยผู้ช่วยอุ้มจากวีลแชร์ไปยังที่นั่ง แต่ในความเป็นจริงบางสายการบินพนักงานก็ไม่เข้าใจ มักจะจัดให้ไปอยู่กลางๆ เครื่อง หรือท้ายเครื่องเลยก็มี

คนไม่ใช่กระเป๋าแฮนด์แบ็ก…ประเด็นก็คือบางคนสภาพร่างกายพิการระดับสูง เมื่อต้องอุ้มต้องแบกในที่แคบพลุกพล่านคิดเอาละกันว่าทุกข์แค่ไหน ขนาดคนปกติยังลำบาก การเดินทางโดยเครื่องบินสำหรับผู้พิการจึงมากกว่าผู้โดยสารคนปกติเป็นหลายเท่า

คนพิการหนึ่งคนอย่างน้อยต้องมีผู้ติดตาม 1 คน การจองตั๋วต้องแจ้งรายละเอียดล่วงหน้า อย่างนั้นก็ตามหลายครั้งที่ไม่ได้เป็นอย่างที่แจ้ง การขึ้นเครื่องต้องขึ้นล่วงหน้าผู้โดยสารคนอื่นประมาณ 30 นาที การเช็คอินต้องใช้ช่องพิเศษ สิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้โดยสารวีลแชร์ที่จำเป็นต้องใช้ รถวีลแชร์เฉพาะของตัวเองเท่านั้น

ต้องเน้นย้ำกับสายการบินว่า จะใช้รถวีลแชร์ของตัวเองจนถึงประตูเครื่องบิน ถ้าเกรงใจเจ้าหน้าที่สายการบินใช้รถวีลแชร์ของสนามบินจะเกิดอุบัติเหตุกลิ้งตกรถได้ เพราะมีคนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว วีลแชร์ที่ใช้ทุกสนามบิน “ไม่ใช่วีลแชร์” เป็นเพียงรถเข็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุธรรมดาเท่านั้น

รถ cabin wheelchair คือรถเข็นที่ใช้ในห้องโดยสารเครื่องบิน เมื่อผู้ที่นั่งวีลแชร์ของตัวเองมาถึงประตูเครื่องบินก็จะต้องเปลี่ยนไปนั่ง cabin wheelchair เพื่อนำผู้พิการไปยังที่นั่งโดยสาร สายการบินต้นทุนต่ำซึ่งหมายรวมถึงการบริการก็หย่อนตามด้วย ไม่รับผู้โดยสารพิการที่ต้องนั่งวีลแชร์ เพราะการลงทุนอุปกรณ์เสริมสำหรับผู้พิการนับเป็นต้นทุน

เครื่องบินต้นทุนต่ำทั้งหลายโดยเฉพาะสายการบินนกแอร์ ไทยสมายล์ นั้นมีนโยบายชัดเจนไม่รับผู้โดยสารพิการที่นั่งวีลแชร์ การบินไทยเป็นสายการบินที่มีบริการ cabin wheelchair ทว่าค่าโดยสารนับว่าสูงมาก โดยการบินไทยลดราคาตั๋วสำหรับคนพิการถึง 50% และให้ผู้ติดตาม 25% แต่เป็นการลดราคาจากหน้าตั๋วเมื่อเทียบกับราคาที่ขายให้เอเยนต์และนำมาจัดโปรโมชันยังมีราคาถูกกว่าราคาตั๋วที่ลดให้ผู้โดยสารพิการ

ในครั้งหน้าเราจะไปคุยกับ คุณภัทรพันธ์ กฤษณา เลขาธิการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ถึงสิ่งจำเป็นในการเดินทางด้วยเครื่องบินของผู้พิการ ใคร หน่วยงานไหนต้องจับมือกัน อุปกรณ์สำหรับผู้พิการในการเดินทางโดยเครื่องบินมีราคาสูงมากจริงหรือไม่?

ครั้งหน้าเราจะไปค้นหาคำตอบและได้รู้กัน

ขอบคุณ :https://www.tddf.or.th/

ขอบคุณ… https://www.dailynews.co.th/article/694920


ย้อนกลับ