มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงยึดมั่น “สร้างโลกอ่านออกเขียนได้” ให้เด็กผ่านวิกฤติโควิด-19

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา : ปวงชนเพื่อการศึกษา และทรงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส” ตอนหนึ่งว่า “แนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาฝังรากหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยมานานกว่า 100 ปี นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชดำริต้องการให้ราษฎรทุกคนมีความรู้และอ่านออกเขียนได้ ทำให้ประเทศไทยมีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไปให้มีโอกาสได้เล่าเรียน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสต่อว่า สำหรับข้าพเจ้าได้สืบสานต่อพระราชปณิธานจากพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อน และจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการโครงการในพระราชดำริต่างๆทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ประชาชนบนแผ่นดินไทยทุกคนมีความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงานอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต หาเลี้ยงดูครอบครัวและพึ่งพาตนเองได้ สำหรับข้าพเจ้า ตลอดระยะเวลา 40 ปี ในการทำงานด้านการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงดำเนินการไว้ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนลูกพระดาบส เพื่อให้เด็กยากจนและด้อยโอกาส มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ ทั้งวิชาการเกษตร วิชาชีพต่างๆ รวมทั้งการดูแลเด็กพิการและทุพพลภาพ เพราะการศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กผู้พิการเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสต่อว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดอุปสรรคมากมาย หนึ่งในนั้นคือการหาแนวทางให้การเรียนการสอนยังคงดำเนินต่อไปได้ ข้าพเจ้าได้จัดหาเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายให้ครูอาจารย์เดินทางไปเยี่ยมลูกศิษย์และติดตามความก้าวหน้า จัดหาโทรทัศน์เพื่อรับสัญญาณถ่ายทอดบทเรียนต่างๆ จัดหายานพาหนะ จัดถุงยังชีพที่บรรจุเมล็ดพันธุ์และหนังสือคู่มือการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและครอบครัวดำรงชีวิตต่อไปได้ภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก ขณะเดียวกันก็ยังตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

“ในปี 1999 ข้าพเจ้าได้เขียนคติพจน์ “มาร่วมกันสร้างโลกที่อ่านออกเขียนได้” ขึ้น เป็นคติพจน์ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเมื่อครั้งทำงานกับทีมคณะทำงานจอมเทียน และข้าพเจ้าจะยังคงยึดมั่นในอุดมคติดังกล่าว รวมถึงอุดมคติของการศึกษาเพื่อปวงชนและปวงชนเพื่อการศึกษา” สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวปิดท้ายการปาฐกถาพิเศษ.

ขอบคุณ : https://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0068&postid=0021335&currentpage=1

ขอบคุณ… https://www.thairath.co.th/news/local/1886877


ย้อนกลับ