มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

การจดทะเบียนคนพิการ

บัตรประจำตัวคนพิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย คนพิการจึงสามารถยื่นขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้

สถานที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ

  1. ในเขตกรุงเทพมหานคร ขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ที่ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชนเขต ๑-๑๒ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ศูนย์บริการร่วมกระทรวง พม.) หรือฝ่ายสังคมสงเคราะห์ งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช หรืองานสิทธิประโยชน์ สถาบันราชานุกูล หรือฝ่ายสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
  2. ในต่างจังหวัด ขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอ ที่มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาล หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด

หลักฐานที่ใช้ในการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ

  1. สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตรของคนพิการ
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
  3. รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๒ รูป
  4. ใบรับรองความพิการรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติประกาศกำหนด เว้นแต่กรณีสภาพความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์ไม่ต้องมีใบรับรองความพิการก็ได้

หลักฐานผู้ขอมีบัตรประจำตัวคนพิการแทน

หากคนพิการไม่สามารถขอมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ด้วยตนเองให้มีผู้อื่นดำเนินการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการแทนได้ ทั้งนี้ผู้ขอมีบัตรประจำตัวคนพิการแทนต้องนำเอกสารมาด้วย ดังนี้

  1. เอกสารหลักฐานการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งต้นฉบับตัวจริง
  3. สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมทั้งต้นฉบับตัวจริง
  4. หลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นว่าได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการ เนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนพิการแล้วแต่กรณี

สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ

คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการแล้ว สามารถยื่นคำขอใช้สิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด ได้แก่การคุ้มครองสิทธิคนพิการด้านบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนทางการแพทย์ ในเรื่องการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการเพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น

การคุ้มครองสิทธิคนพิการทางการศึกษา ในเรื่องการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หรือแผนการศึกษาแห่งชาติตามความเหมาะสมในสถานศึกษาเฉพาะ หรือในสถานศึกษาทั่วไป หรือการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษานอกระบบ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกสื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา สำหรับคนพิการให้การสนับสนุนตามความจำเป็นและเหมาะสมอย่างทั่วถึง

การคุ้มครองสิทธิคนพิการด้านการประกอบอาชีพและการมีงานทำ ในเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ การให้บริการที่มีมาตรฐาน การคุ้มครองแรงงาน มาตรการเพื่อการมีงานทำ ตลอดจนได้รับการส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ และบริการสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกเทคโนโลยี หรือความช่วยเหลืออื่นใด เพื่อการทำงานและประกอบอาชีพของคนพิการการคุ้มครองสิทธิคนพิการทางสังคมและสวัสดิการสังคม เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิคนพิการทางสังคมและสวัสดิการสังคมเป็นไปอย่างทั่วถึง เช่น การให้บริการล่ามภาษามือ การช่วยเหลือทางกฎหมาย การจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ การช่วยเหลือคนพิการที่ไม่มีผู้

ดูแล การส่งเสริมสนับสนุนผู้ดูแลคนพิการ และการจัดสวัสดิการเบี้ย ความพิการการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่คนพิการเข้าถึงได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการมีให้สภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรคต่อการเข้ามามีส่วนร่วมทางสังคมสำหรับคนพิการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ได้กำหนดห้ามหน่วยราชการ องค์กรเอกชนหรือบุคคลกระทำการที่มีการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรับ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และให้หมายความรวมถึงการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดที่กระทบต่อคนพิการแม้จะไม่มีจุดมุ่งหมายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการโดยตรง แต่ผลของการกระทำนั้นทำให้คนพิการต้องเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เพราะเหตุผลแห่งความพิการด้วย ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้คนพิการที่ได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อคนพิการสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติให้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้

กรณีบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ชำรุด/สูญหาย หรือมีการเปลี่ยนแปลง

บัตรประจำตัวคนพิการจะมีอายุใช้งาน ๖ ปี นับแต่วันออกบัตร เมื่อครบกำหนดแล้ว คนพิการจะต้องยื่นคำขอขอมีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่ ณ สถานที่ที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ พร้อมเอกสารดังนี้

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตรของคนพิการ
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
  3. รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๒ รูป

การออกบัตรใหม่แทนบัตรเดิมที่ชำรุด/สูญหาย

หากบัตรประจำตัวคนพิการชำรุดหรือสูญหายหรือมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญก่อนวันหมดอายุ คนพิการสามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่แทนบัตรเดิมได้ พร้อมเอกสาร ดังนี้

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตรของคนพิการ
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
  3. รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๒ รูป

หากคนพิการมีปัญหา

หรือมีข้อสงสัยในการดำเนินการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่

  • สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัด
  • ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน เขต ๑-๑๒ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โทร. ๐ ๒๓๕๔-๓๓๘๘ ต่อ ๑๑๔, ๑๑๕ ในวันและเวลาราชการ หรือสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nep.go.th

ย้อนกลับ