มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

โอบประคองด้วยสองมือแม่

โอบประคองด้วยสองมือแม่น้องคิวเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว เก้าเดือนที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นทุกอย่างเป็นปรกติดี แต่มาสะดุดตอนที่ทำคลอด เพราะน้องคิวคลอดยากมาก ทั้งหมอทั้งพยาบาลต่างพยายามช่วยกันเต็มที่ หนักเข้าต้องใช้เครื่องดูดเข้าช่วย ๓ – ๔ ครั้ง แต่น้องคิวก็ยังไม่ยอมออก ทางคณะหมอได้ปรึกษากันและเดินออกมาบอกกับทางญาติ ๆ ว่าถ้าปล่อยไว้นานและเด็กไม่ยอมออกแม่จะหมดแรงอาจเสียชีวิตได้ หมอจำเป็นที่จะต้องรักษาชีวิตแม่ให้ปลอดภัยก่อน เมื่อคุณแม่รับรู้เช่นนั้นก็ตกใจมากและกว่าที่จะทำใจได้ก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน ระหว่างนั้นเองจู่ๆ น้องคิวก็คลอดออกมาท่ามกลางความโล่งอกของทีมหมอและความดีใจของผู้เป็นแม่ แต่ทว่าเด็กไม่ยอมส่งเสียงร้องแม้แต่นิดเดียว เนื้อตัวบางจุดเป็นสีเขียว ๆ คล้ายรอยฟกช้ำ คุณหมอบอกว่าโอกาสรอดมีไม่มาก จากนั้นก็น้ำน้องคิวเข้าตู้อบช่วยกันปั๊มหัวใจ เวลาผ่านไป ๗ วันกว่าที่คุณแม่จะเข้าไปเยี่ยมและได้สัมผัสลูกเป็นครั้งแรก

“วันแรกที่ได้กอดลูกรู้สึกดีใจมาก ดูดนมได้ดี อยู่ด้วยกันหนึ่งวันเต็ม ๆ คุณหมอก็คงเห็นว่าเด็กแข็งแรงดี กินนมได้ จึงอนุญาตให้กลับบ้าน”

หลังจากกลับบ้านมาอยู่ที่บ้านได้เพียง ๒ วัน น้องคิวเริ่มตัวเหลืองและไม่ยอมดูดนม แม่ต้องพากลับไปที่โรงพยาบาล คุณหมอดูอาการแล้วก็นำเด็กเข้าตู้อบอีกครั้ง รักษาอยู่ร่วมเดือน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ ๒-๓ ครั้งต่อสัปดาห์ ระยะหลังอาการหนักขึ้นเนื่องจากระบบการหายใจติดขัดทำให้ดูดนมไม่ได้ คุณแม่จึงต้องพาไปดูดเสมหะออกที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์ จนกระทั่งน้องคิวอายุ ๑ ขวบ คุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติของลูกที่มีพัฒนาการไม่เหมือนเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน เพราะตามปรกติเด็กในวัยนี้จะเริ่มฝึกเดิน แต่ลูกตนเองกลับทำได้แค่เพียงนอนดูเพดานอย่างเดียว ไม่สามารถกินหรือเคี้ยวอาหารได้ ดูดน้ำหรือนมก็ไม่เป็น ด้วยหัวใจของผู้เป็นแม่ในตอนนั้นถือว่าทุกข์ระทมอย่างหนัก แต่ก็พยายามหาวิธีการรักษาอยู่ทุกวิถีทาง

พออายุย่างเข้า ๒ ขวบ คุณแม่ได้ค้นพบวิธีการฝึกพัฒนาการของลูกด้วยตนเองหลากหลายวิธี เช่น ทำราวเกาะยืนด้วยไม้ไผ่ความยาวพอประมาณ ตรงทางเดินจะวางกั้นด้วยต้นกล้วยที่ตัดเป็นท่อนๆ กั้นระยะพอประมาณเพื่อให้ลูกได้ก้าวข้ามทีละท่อนๆ สาเหตุที่ใช้ต้นกล้วยนั้นคุณแม่บอกว่าเวลาลูกเกิดก้าวพลาดหรือยกเท้าข้ามไม่พ้นจะได้ไม่เจ็บปลายเท้าหรือบริเวณที่เป็นเล็บ หรือฝึกการทรงตัวก็จะให้ลูกนั่งคร่อมบนต้นกล้วยที่ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๑ เมตร แล้วพยายามให้ลูกใช้เท้าทั้งสองข้างสลับกันดันหรือถีบพื้นให้ตัวโยกไปซ้ายทีขวาที วิธีนี้จะทำให้ลูกได้บริหารส่วนเท้าทั้งสองข้างและควบคุมตัวเองไม่ให้หล่นจากท่อนกล้วย หรือนำวิธีการของคนเฒ่าคนแก่ที่บอกเล่ากันมาคือการพาลูกเดินบนหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะอยู่ในตอนเช้าของทุกวัน หรือที่เรียกว่าผีตากผ้าอ้อม การอาบน้ำต้มสมุนไพรทุกเช้าเพื่อให้เส้นได้คลายตัวซึ่งจะให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายสบายตัว ส่งผงให้อารมณ์ดีขึ้นด้วย

นอกจากนั้นยังใช้น้ำมันที่สกัดจากมะพร้าวนำมาเคี่ยวกับผักเซี้ยนผี นำมานวดให้ลูกทั้งตัวเพื่อให้ข้อกระดูกแข็งแรง แต่วิธีการที่ทำให้ลูกมีความสนุกร่วมด้วยก็คือการใช้ผ้าขาวม้าฝึกเดิน โดยจะใช้ผ้าสอดไว้ใต้รักแร้ของลูกทั้งสองข้าง แม่ดึงชายผ้าให้ตึงแล้วผ่อนๆ ส่วนลูกจะใช้เท้าทั้งสองดันพื้นเพื่อให้ตัวเองพุ่งไปข้างหน้า และล่าสุดคุณแม่ฝึกลูกด้วยธาราบำบัดโดยคุณแม่จะพาน้องคิวลงเล่นน้ำในลำคลองข้างบ้านทุกเช้า เพื่อให้ลูกได้บริหารอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่วิธีนี้จะต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด นอกจากฝึกทางร่างกายแล้วคุณแม่ต้องคอยหากิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสติปัญญาเสริมด้วย ที่สำคัญคุณแม่จะให้ลูกมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทั้งในกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมนอกบ้าน เช่นพาลูกออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เขามีกำลังใจและเป็นคนอารมณ์ดีอยู่เสมอ

อายุ ๔ ขวบ น้องคิวยังเดินไม่ได้และจะใช้วิธีการเดินด้วยเข่าหรือใช้วิธีการกระโดดคล้ายกบแทนเพราะเวลาคลานแขนทั้งสองข้างแข็งจนทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมการฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กพิการกับทางมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ และการฝึกการเคลื่อนไหวแบบญี่ปุ่นหรือโดสะโฮ ความรู้ต่างๆ เช่น การนวด การทำกายภาพบำบัด การเล่นกับลูก การใช้อุปกรณ์ช่วยหัดเดิน และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คุณแม่สามารถนำกลับมาปฏิบัติกับน้องคิวได้เป็นอย่างดีและได้กระทำติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้คุณแม่ยืนยันได้อย่างเต็มปากแล้วว่า อาการและพัฒนาการของน้องคิวดีขึ้นมาก จากเมื่อก่อนที่พูดไม่ได้ ก็สามารถพูดได้บ้างถึงแม้จะไม่ชัดเจน หยิบจับสิ่งของได้ กินได้ เคี้ยวเป็น ปีนป่ายเก่ง บางครั้งก็สามารถใส่กางเกงเสื้อผ้าเองได้ แขนขาจากที่เกร็งก็อ่อนลง สามารถนั่งได้ด้วยตัวเองนานขึ้น เจ็บป่วยเป็นไข้ก็หายเอง เสมหะก็ไม่มี ตอนกลางวันก็นอนหลับพักผ่อนได้นานขึ้น

อายุย่างเข้า ๗ ขวบ หลังจากได้เข้าเตรียมความพร้อมกับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชมาระยะหนึ่ง ทำให้มีทักษะในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน การเข้าสังคมกับเพื่อน การอ่าน การเขียน และงานศิลปะต่างๆ น้องคิวก็สมัครเข้าเรียนชั้น ป.1ในโรงเรียนบ้านห้วยหาร ถึงแม้จะไม่สามารถเดินได้เหมือนเด็กคนอื่น แต่ไม่ใช่อุปสรรคของความตั้งใจที่จะเรียนหนังสือ ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการได้สนับสนุนรถเข็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตที่โรงเรียน ด้วยความโชคดีของเด็กๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูกรรมการโรงเรียน และนักเรียนทุกคนต่างก็ให้ความสำคัญกับน้องๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยจัดโครงการ “พี่ช่วยน้อง” น้องคิวและเพื่อนๆ จึงได้รับการดูแลที่ดีจากทุกคนในรั้วโรงเรียน

วันนี้ถึงแม้ว่าน้องคิวได้ไปโรงเรียนสมความตั้งใจแล้ว คุณแม่ก็ยังฝึกกายภาพบำบัด ฝึกกระตุ้นพัฒนาการที่บ้านทั้งโดสะโฮ นวดไทย และฝึกการเล่นกับลูกทุกวัน จนมีความคิดว่าการฝึกลูกคนเดียวบางครั้งรู้สึกเครียด และสังเกตว่าบางครั้งลูกตัวเองก็ไม่มีอารมณ์ร่วมที่จะฝึก จึงมีความคิดว่าน่าจะชักชวนแม่ๆ ที่อยู่ใกล้กันมาทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน นอกเหนือจากการไปประเมินพัฒนาการของลูกที่มูลนิธิฯ ทุกเดือน

โอบประคองด้วยสองมือแม่ศูนย์การเรียนรู้บ้านน้องคิว” จึงเกิดขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกผู้ปกครองเด็กพิการ จำนวน ๗ คน โดยที่นี่เด็กๆ จะได้ลงฝึกกับของเล่นกระตุ้นพัฒนาการที่ทำด้วยวัสดุในท้องถิ่น ที่ทำขึ้นจากฝีมือของแม่ๆ เอง การฝึกโดสะโฮ,การนวดไทย การประเมินเด็กเป็นรายบุคคล ที่สำคัญแม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้การเลี้ยงดูแลลูกซึ่งกันและกัน โดยจะพบกันทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่หนึ่งและสามของทุกเดือน ทั้งนี้กลุ่มหวังว่าในอนาคตคงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในชุมชนและผลักดันศูนย์แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจงานด้านการพัฒนาผู้พิการ

ทั้งหมดที่ทำมานั้นคุณแม่คาดหวังว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าน้องคิวจะสามารถเดินและช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ พูดจาสนทนาตอบโต้กับคนรอบข้างได้ เมื่อถึงวันนั้นความกังวลของคุณแม่และครอบครัวก็คงหมดไป และหวังว่าจะมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตของคนในครอบครัวบ้าง

ด้วยหัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว ต่อให้ลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ดีเลวมากแค่ไหน หรือต่อให้ลูกๆ ออกมาร่างกายพิกลพิการอย่างไร คำว่า “ให้อภัย และให้การเลี้ยงดู” ท่านพร้อมเสนอที่จะหยิบยื่นให้ตราบเท่าที่ลมหายใจยังมีอยู่ แล้วลูกๆ ล่ะ วันนี้ลองหันมาเหลียวมองท่านบ้างหรือยัง!!!

— ที่มา: หนังสือ “ด้วยสองมือและหัวใจ,มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ, 2550” —


ย้อนกลับ