มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
อัจฉริยะหรือปัญญาอ่อน

“พี่สด” คุณแม่ของน้องเหน่ง มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าโหลส่งให้ลูกค้าประจำในตัวเมือง เล่าถึงเรื่องราวของลูกชายว่า แรกคลอดนั้นน้องเหน่งออกมาปรกติดีทุกอย่าง ไม่มีอะไรผิดแปลกไปจากเด็กคนอื่น กระทั่งอายุได้ 2 เดือน ตนเองก็สังเกตเห็นความผิดปรกติที่ศีรษะของน้องเหน่งเริ่มโตขึ้นทุกวันจนน่าตกใจ จึงพาน้องเหน่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช หมอได้เอ็กซเรย์ และรับตัวไว้เป็นคนไข้ถึงหนึ่งเดือนเพื่อดูอาการอย่างละเอียด คุณหมอได้ชี้แจงถึงสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นกับน้องเหน่งเป็นภาษาทางการแพทย์เสียยืดยาว แต่พี่สดพอจะสรุปใจความได้ว่า น้องเหน่งเป็นโรคหัวโต (หัวบวมน้ำ) คุณหมอได้ส่งตัวน้องเหน่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) จังหวัดสงขลา ในอีกสองเดือนต่อมา ขณะนั้นน้องเหน่งอายุเพียงสี่เดือนเท่านั้น หลังรับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว คุณหมอบอกว่า อาการของน้องเหน่งมีโอกาสที่จะเป็นเด็กปัญญาอ่อนสูง ต้องทำการผ่าตัดศรีษะเพื่อดูดน้ำออกด่วน คำบอกกล่าวของคุณหมอครั้งนั้น มันช่างเสียดแทงหัวอกของคนเป็นแม่ได้ลึกถึงขั้วหัวใจ
น้องเหน่งเข้ารับการผ่าตัดศีรษะครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2551 ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี หลังการผ่าตัดน้องเหน่งพักฟื้นอยู่ประมาณ 1 เดือน อาการป่วยเริ่มดีขึ้น คุณหมออนุญาตให้กลับบ้าน หลังจากนั้น อีก 3 เดือน คุณหมอนัดผ่าตัดครั้งที่ 2 พักฟื้นที่โรงพยาบาลอีก 1 เดือนก็กลับบ้าน ระหว่างนั้นคุณหมอก็นัดตรวจอย่างต่อเนื่อง จากสัปดาห์ละครั้งเป็น สองสัปดาห์ครั้ง ห่างไปเรื่อย ๆ เป็นอย่างนี้ประมาณหนึ่งปี สองปีให้หลังสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวค่อนข้างฝืดเคือง พี่สดจึงไม่ได้พาน้องเหน่งไปรับการรักษาอีก แต่น้องเหน่งก็ไม่มีอาการใดที่น่าเป็นห่วง สามารถใช้มือและแขนได้ ไม่มีปัญหาทางสายตาและการได้ยิน สนทนาโต้ตอบได้ดี นอกเสียจากศีรษะที่โตผิดธรรมชาติและขาที่ยังควบคุมการทรงตัวไม่ได้เท่านั้น พอเหน่งอายุได้ 3 ขวบ พี่สด ได้เข้าร่วมอบรมการฟื้นฟูเด็กพิการกับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ทำให้คุณแม่ได้รับความรู้ทั้งการนวดไทย การทำกายภาพบำบัด วิธีการเล่นกับลูก พี่สดจะให้ความสำคัญและทำเป็นประจำทุกวัน สิ่งสำคัญคือ การพาน้องเหน่งไปเดิน พาไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ให้ได้สนุกสนานเหมือนเด็กคนอื่นๆ

พออายุ 6 ขวบ น้องเหน่งต้องเข้ารับการผ่าตัดเป็นครั้งที่สาม ความซุกซนประสาเด็กทำให้แผลกระทบกระเทือน พี่สดต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเป็นช่วงฝึกเดิน พี่สดจึงหาอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินที่เหมาะกับลูกและปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยหวังว่า สักวันหนึ่งลูกจะเดินได้เหมือนเด็กทั่วไป
เก้าปีกับการเฝ้ารอของแม่ น้องเหน่งสร้างความฝันของแม่ให้เป็นจริงทีละน้อย เริ่มจากฝึกยืน ฝึกเดินด้วยแอกเวียน ราวคู่ เป็นการก้าวเดินทีละก้าวช้า ๆ โดยใช้ผนังบ้านช่วยเกาะยึด ฝึกเหนื่อยก็หยุดพักและกลับมาฝึกใหม่เมื่อหายเหนื่อย น้องเหน่งฝึกทุกวันจนเป็นกิจวัตร เวลาหนึ่งปีกว่า แม่และน้องเหน่งก็ผ่านบททดสอบที่ยากที่สุดบทหนึ่งในชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ “เหน่งเดินเองได้แล้ว” แต่ทั้งสองก็ไม่หยุดความฝันเพียงเท่านั้น น้องเหน่ง ยังสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเหมือนเด็กทั่วไป ด้วยความร่วมมือจากโรงเรียนและศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดนครศรีธรรมราช