มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

เด็กพิการซ้อน (Children with Multiple Disabilities)


ความพิการซ้อน (Multiple Disabilities) หมายถึง ความบกพร่องร่วมกันมากกว่า 1 ลักษณะที่เกิดขึ้นต่อบุคคล (Simultaneous impairments) อาทิเช่น บกพร่องทางสติปัญญาร่วมกับตาบอด หรือบกพร่องทางสติปัญญาร่วมกับความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ

โดยปกติแล้ว สำหรับเด็ก ความซ้ำซ้อนเหล่านี้มักก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กไม่สามารถเข้ารับการศึกษาพิเศษที่เหมาะสมต่อความบกพร่องทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้

เด็กพิการซ้อนมักมีปัญหาความผิดปกติที่หลากหลาย ซึ่งมักได้แก่ การพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การเรียนรู้ การมองเห็น การได้ยิน ความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กยังอาจมีภาวะสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensory Losses) รวมทั้งมีปัญหาด้านพฤติกรรมและสังคม

เด็กพิการซ้อนแต่ละราย จะมีความแตกต่างกันทางลักษณะและระดับความรุนแรงของอาการ เด็กกลุ่มนี้มักมีความบกพร่องทางการได้ยินและมีปัญหาในการประมวลผลของสิ่งที่ได้ยิน รวมถึงมีข้อจำกัดในการพูด การเคลื่อนไหวของร่างกาย เด็กอาจมีความลำบากในการปฏิบัติและจดจำ อีกทั้งยังไม่สามารถนำทักษะที่มีไปปรับใช้ได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นแล้ว ความช่วยเหลือและการสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่ดี ซึ่งวิธีการดูแลและรักษาความพิการซ้อนจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละราย โดยพิจารณาจากสาเหตุและลักษณะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก

เด็กพิการซ้อนมีลักษณะอย่างไร?

เด็กที่มีปัญหาพิการซ้อนอาจแสดงลักษณะได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะความซ้ำซ้อน (Combination) ความรุนแรงของความพิการ (Severity of Disabilities) รวมทั้งปัจจัยเรื่องอายุด้วย อย่างไรก็ตาม ลักษณะปัญหาที่พบได้บ่อย มักมีลักษณะดังนี้

ปัญหาด้านจิตใจ

  • มีความรู้สึกเหมือนถูกขับไล่ออกจากสังคม
  • ปลีกตัวจากสังคม
  • กลัว โกรธ และไม่พอใจเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือเมื่อถูกบังคับ
  • ทำร้ายตัวเอง

ปัญหาด้านพฤติกรรม

  • ยังคงแสดงพฤติกรรมเหมือนเด็กแม้จะโตขึ้น
  • ขาดความยับยั้งชั่งใจ
  • มีความยากลำบากในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • มีทักษะในการดูแลและพึ่งตัวเองที่จำกัด

ปัญหาด้านร่างกาย

  • มีความผิดปกติของร่างกาย (Medical problems) อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการชัก (Seizures) การสูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส (Sensory Loss) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) และกระดูกสันหลังโค้ง (Scoliosis)
  • เชื่องช้าและงุ่มง่าม
  • มีความบกพร่องในการกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

ปัญหาทางด้านการเรียนรู้

  • มีปัญหาในการคัดลายมือหรือเขียนหนังสืออันเนื่องมาจากความบกพร่องของกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine-motor deficits) และปัญหาความไม่สัมพันธ์ของมือและตา
  • มีข้อจำกัดในการพูดและสื่อสาร
  • ลืมทักษะบางอย่างเมื่อไม่ได้ใช้
  • มีปัญหาในการเข้าใจ รับมือ หรือนำทักษะที่มีมาปรับใช้ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
  • ขาดความคิดระดับสูง (High level thinking) ส่งผลให้มีปัญหาในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ
  • มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ต่ำ
  • มีระดับจินตนาการและความเข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรมอย่างจำกัด
  • มีผลการสอบระดับต่ำ
  • ไม่สามารถระบุตำแหน่งของแหล่งเกิดเสียงได้
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม
  • มีปัญหาในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งของและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ

ความพิการซ้อนมีสาเหตุมาจากอะไร?

โดยทั่วไป สาเหตุของความพิการซ้อนมักเกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมของระบบประสาทบางส่วน เช่น สติปัญญา (Intelligence) และความไวของประสาทสัมผัส (Sensory sensitivity) แม้ว่าในเด็กบางรายจะไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยรายที่สามารถระบุสาเหตุได้ มักพบว่าอาการพิการซ้อนเกิดจากปัจจัยทางชีวเคมีในช่วงก่อนกำเนิด (Prenatal Biomedical factors) หรือจากปัจจัยทางพันธุกรรม อันเนื่องมาจากความผิดปกติของยีนหรือโครโมโซม นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ อาจเชื่อมโยงกับโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (Genetic Metabolic Disorders) การทำหน้าที่ผิดปกติของอวัยวะในร่างกายในการสร้างเอนไซม์ (Dysfunction in production of enzymes) ซึ่งนำไปสู่การสะสมของสารพิษในสมอง และส่งผลให้สมองผิดปกติ (Brain Malformation)

สาเหตุและสัดส่วนของเด็กพิการซ้อน สามารถจำแนกได้ดังนี้

  • ร้อยละ 30 ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
  • ร้อยละ 15 เกิดจากปัจจัยในช่วงคลอด ซึ่งความบาดเจ็บจากการคลอดก่อให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญ
  • ร้อยละ 5 เกิดจากปัจจัยในช่วงหลังกำเนิด เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคสมองอักเสบ (Encephalitis) ภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) และจากอุบัติเหตุ เช่น ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
  • ร้อยละ 50 เกิดจากปัจจัยในช่วงก่อนเกิดกำเนิด ได้แก่ ความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ โรคหลอดเลือดสมองในตัวอ่อน รวมถึงโรคพยาธิสภาพในตัวอ่อน (Embryopathy) ซึ่งได้แก่ เชื้อไวรัสไซโตเมกาโล และเชื้อไวรัสเอดส์ เป็นต้น

ปัญหาพิการซ้อนมีความสำคัญอย่างไร?

สำหรับเด็กพิการซ้อน ปัจจัยด้านประเภทและความรุนแรงของความพิการจะเป็นตัวกำหนดความช่วยเหลือที่เด็กควรได้รับ ซึ่งโดยปกติเด็กมักจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในการใช้ชีวิตมากกว่าหนึ่งด้าน แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด ครู และผู้ปกครอง ต้องร่วมมือกันเพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทั้งนี้เป้าหมายในการช่วยเหลือเด็กพิการซ้อนคือเพื่อให้เด็กสามารถมีพัฒนาการที่สำคัญได้ ทั้งด้านอารมณ์ ภาษา สังคม อาชีพ และการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้การอำนวยความสะดวกระหว่างการรักษา อาหาร และเครื่องมือพิเศษ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเอื้อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กพิการซ้อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรกเกิด ก่อนเข้าเรียน และในวัยเรียนอย่างใกล้ชิด ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กพิการซ้อน ซึ่งนอกจากความช่วยเหลือจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักบำบัด ครู และผู้ปกครองแล้ว เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive technology) อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ช่วยสื่อสารแบบพกพาสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการพูด (Augmentative and Alterative communication devices) ก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสมือนผู้ให้ความช่วยเหลือในการเรียนรู้ อันจะส่งผลให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอย่างราบรื่นขึ้นได้

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่พิการซ้อนได้อย่างไร?

เนื่องจากไม่มีเด็กคนไหนบนโลกนี้ที่จะเหมือนกันไปหมดทุกอย่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กมีปัญหาพิการซ้อน เด็กย่อมมีจุดแข็ง และต้องการความช่วยเหลือที่ไม่เหมือนใคร เด็กเหล่านี้นอกจากจะมีความแตกต่างกันทางด้านลักษณะความพิการแล้ว ยังมีความแตกต่างกันอีกมากในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ ความสนใจ ประสิทธิภาพของสายตาและประสาทสัมผัส บางคนอาจจะพูดเก่ง หรือบางคนก็ไม่สามารถพูดได้ บางคนอาจจะชอบให้กอด หรือบางคนก็อาจจะไม่ชอบให้ใครมาจับเนื้อน้องตัว

แม้ในกลุ่มที่มีความพิการซ้อนในลักษณะเดียวกัน เครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ได้ผลกับเด็กคนหนึ่ง ก็อาจไม่ได้ผลกับเด็กคนอื่นๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เด็กเหล่านี้มักมีร่วมกัน ได้แก่ ความผิดปกติที่ซ้ำซ้อนซึ่งนำไปสู่ความท้าทายในการเข้าถึง รับรู้ และเข้าใจข้อมูล รวมถึงความพยายามที่จะเอาชนะขีดจำกัดของตนเอง

พ่อแม่และครอบครัวจึงควรมีส่วนร่วม และแสดงบทบาทที่สำคัญ เพื่อช่วยให้ลูกพัฒนาตนเองได้ และสามารถเอาชนะขีดจำกัดของตนเองได้ ดังนี้

  • ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของลูก ยิ่งรู้มาก พ่อแม่ก็จะยิ่งสามารถช่วยลูกได้มากเท่านั้น
  • รักและเล่นกับลูกให้มาก ปฏิบัติต่อลูกอย่างที่พ่อแม่พึงกระทำกับลูกคนอื่นๆ ที่ปกติ
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือเพื่อนผู้ปกครอง ถึงวิธีการตอบสนองต่อความต้องการพิเศษ (Special needs) ของลูก
  • ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน รวมทั้งสอนให้พวกเขารู้จักวิธีการดูแลเด็กพิการซ้อน ทั้งนี้เพราะการดูแลเด็กพิการซ้อนถือเป็นเรื่องที่เหนื่อย อีกทั้งผู้ปกครองยังไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเด็กและแบ่งเบาภาระหนักจากพ่อแม่
  • ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวิธีการรักษาหรือเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลูกได้
  • ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) ที่สามารถช่วยลูกได้ ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่กกระดานสำหรับให้เด็กแสดงสิ่งที่ต้องการ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ที่มีชุดคำสั่งพิเศษ
  • ความอดทนจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรละทิ้งความหวังที่จะเห็นพัฒนาการในทางที่ดีของลูก เพราะพวกเขาก็ไม่ได้ต่างไปจากเด็กคนอื่นที่มีโอกาสทั้งชีวิตเพื่อเรียนรู้และเติบโต
  • ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือเด็กตั้งแต่แรกเกิดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความสามารถของเด็ก รวมทั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมด้วย เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบถ้วน ทั้งปัญหาทางการพูด และความผิดปกติประเภทอื่นๆ ซึ่งเกิดต่อร่างกาย พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมด้วย

เกร็ดความรู้เพื่อครู

สำหรับเด็กที่มีความพิการ ภาพลักษณ์ของตนเอง (Self-image) ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ครูจำเป็นต้องมั่นใจว่าเด็กมองตัวเองในแง่บวก เด็กพิการทางร่างกายรู้ว่าตนเองมีสภาพร่างกายที่ต่างไปจากคนอื่น รวมทั้งรู้ว่าอะไรบ้างที่ตนทำไม่ได้ เพื่อนเด็กสามารถกลายเป็นความโหดร้ายของเด็กที่มีความพิการ โดยการล้อเลียน แสดงท่าทีดูถูก และกีดกันเด็กจากการเล่นหรือทำกิจกรรมกลุ่ม อย่างไรก็ตามเด็กพิการซ้อนย่อมอยากจะสามารถทำได้ดี และเข้าร่วมทุกกิจกรรมได้ไม่ต่างจากเด็กปกติ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งครู เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีอย่างที่เขาคาดหวัง ซึ่งวิธีการที่ครูจะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กพิการซ้อนได้ มีดังนี้

  • เด็กพิการซ้อนย่อมปรารถนาซึ่งความเป็นปกติและได้รับการยอมรับไม่ต่างไปจากเด็กปกติ โดยครูควรสนใจและสังเกตสิ่งที่เด็กสามารถทำได้หรือทำไม่ได้
  • ค้นหาสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ดีและต่อยอดความสามารถนั้น เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป
  • ตั้งความคาดหวังให้สูงเข้าไว้ เพราะเด็กพิการซ้อนก็สามารถพัฒนาได้
  • เด็กที่มีปัญหาในเรื่องสมาธิ จะได้รับประโยชน์จากการทำงานที่มีเวลาจำกัด เพราะถือเป็นการช่วยให้เด็กได้จัดการตนเอง อย่างไรก็ตาม ครูไม่ควรลืมว่าเขาจะเขียนได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป จึงอาจจำเป็นต้องลดปริมาณงานหรือการบ้านสำหรับเด็กกลุ่มนี้
  • ครูควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาวะความเครียดหรือซึมเศร้า เช่น เด็กอาจแสดงออกถึงลักษณะดังต่อไปนี้ในระดับที่มากขึ้น เช่น สับสน ไม่เป็นระเบียบ ขาดความกระตือรือร้น และปลีกตัวอยู่คนเดียว รวมทั้งมีอาการเหนื่อยเรื้อรัง หรืออาจแสดงสัญญาณที่อาจนำไปสู่ความคิดอยากฆ่าตัวตาย ดังนั้นครูไม่ควรวางใจ แม้เด็กจะบอกว่า “ไม่เป็นไร” ก็ตาม
  • ไม่เพิกเฉยต่อการกระทำหยาบคายของเด็กคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการดูถูกด้วยคำพูดหรือการกระทำ
  • ใช้โอกาสเมื่อเด็กพิการซ้อนไม่อยู่ในห้องเรียน สำหรับสอนเด็กทุกคนอย่างจริงจังถึงความจริงเกี่ยวกับความพิการ เพื่อให้เด็กตระหนักถึงความผิดปกติที่ควรได้รับการช่วยเหลือ พร้อมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เด็กยอมรับและเคารพเด็กพิการด้วยทัศนคติที่ดี
  • ไม่ควรแสดงออกว่าสงสารเด็ก เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการความสงสารหรือเวทนา
  • ชมเชยรูปลักษณ์ของเด็กเป็นประจำ เช่น ทรงผม การแต่งกาย เป็นต้น
  • ปรับรูปแบบกิจกรรมและอำนวยความสะดวกแก่เด็ก เพื่อให้เด็กสามารถเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับเพื่อนทุกคนได้เช่นกัน
  • หาโอกาสคุยกับเด็กตัวต่อตัวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขาว่าครูพร้อมจะช่วยเหลือเขาเสมอผู้เขียน: ปัณณ์พัฒน์ จันทร์สว่าง และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็ก
    ขอบคุณ: https://taamkru.com

ย้อนกลับ