มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

เด็กบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Children with Behavioral and Emotional Disorders)


เด็กบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Children with Behavioral and Emotional Disorders) หมายถึง เด็กที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม (ต่อต้านตนเองหรือผู้อื่น) หรือมีความรู้สึกนึกคิดที่ผิดไปจากปกติ (แสดงออกถึงความต้องการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ) ออกมาอย่างเนื่องจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กไม่ว่าจะเพียงลักษณะเดียว หรือหลายลักษณะร่วมกันก็ได้ เช่น มีความยากลำบากในการเรียน ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางด้านสติปัญญา ประสาทสัมผัส หรือสุขภาพ มีความยากลำบากในการสร้างหรือคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนและครู แสดงออกถึงภาวะความเครียดและไม่มีความสุขอย่างเป็นปกติ มีแนวโน้มของอาการทางสุขภาพร่างกาย หรือความกลัวอันเป็นผลของปัญหาที่เกิดกับตัวเด็กเองหรือปัญหาที่เกิดในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งปัญหาเหล่านั้น ส่วนใหญ่สามารถได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขได้ หากเด็กได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเด็กในบางกรณีอาจจะมีความรุนแรง ซึ่งเป็นสัญญาณของปัญหาสำคัญที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานจนกระทั่งเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผลเสียที่ตามมาอาจลุกลามไปถึงการสูญเสียของชีวิตก็เป็นได้

ในปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 6 ถึง 10 ของเด็กกำลังประสบภาวะความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Emotional and Behavioral Disorders) โดยเด็กจำนวนดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการศึกษาพิเศษ รวมทั้งการรักษาที่เหมาะสม เพราะการสอนในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำลายข้อจำกัดในการเรียนรู้ของเด็กได้ อีกทั้งตัวเด็กเองยังมักเป็นผู้ขัดขวางการเรียนการสอนในห้องเรียนอีกด้วย ทั้งนี้ ความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์นั้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็ก แม้ว่าในความเป็นจริงเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีความบกพร่องทางสติปัญญาแต่อย่างใดก็ตาม อีกทั้งยังสามารถมีผลการเรียนดีเยี่ยม เพียงแต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ความหมายของความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์นั้น ครอบคลุมถึงโรคจิตเภท (Schizophrenia) อย่างไรก็ตามความหมายดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับเด็กที่มีปัญหาปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก เว้นเสียแต่ว่าได้รับการรับรองว่าเป็นผลของความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์

เด็กบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์มีลักษณะอย่างไร?

ความบกพร่องทางอารมณ์ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องทางพฤติกรรมมีลักษณะที่หลากหลาย ซึ่งจำแนกได้เป็นระดับตั้งแต่เบา (Mild) จนถึงรุนแรง (Severe) นอกจากนี้เด็กยังสามารถแสดงอาการผิดปกติได้มากกว่าหนึ่งลักษณะอีกด้วย ซึ่งตัวอย่างของความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความวิตกกังวล (Anxiety) ซึ่งทำให้เด็กมีนิสัยขี้กลัว รวมไปถึงภาวะซึมเศร้า (Depression) ที่ส่งผลกระทบให้เด็ก 2 คนในจำนวน 100 คนมีความเศร้าในระดับที่สูงเกินไป รวมทั้งมีปัญหาทางสุขภาพ และขาดแรงกระตุ้นหรือความหวังในชีวิต นอกจากนี้เด็กยังอาจมีความผิดปกติทางการรับประทานร่วมด้วย โดยลักษณะของปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ในเด็ก สามารถจำแนกได้ตามกลุ่มอาการ ดังนี้

  • ปัญหาด้านความประพฤติ (Conduct Disorders)
    • ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ ลักทรัพย์
    • ฉุนเฉียวง่าย มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น และเกรี้ยวกราด
    • มีนิสัยกลับกลอก เชื่อถือไม่ได้ ชอบโทษผู้อื่น และมักโกหกอยู่เสมอ
    • เอะอะและหยาบคาย
    • หนีเรียน รวมถึงหนีออกจากบ้าน
    • ใช้สารเสพติด
    • หมกมุ่นในกิจกรรมทางเพศ
  • ปัญหาด้านความตั้งใจและสมาธิ (Attention and Concentration)
    • มีความสามารถในการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะสั้น (Short attention span) ซึ่งอาจไม่เกิน 20 วินาที และสามารถถูกสิ่งต่างๆ รอบตัวดึงความสนใจได้ทุกเมื่อ
    • มีลักษณะงัวเงีย ไม่แสดงความสนใจใดๆ รวมถึงมีท่าทางเหมือนไม่ฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูด
  • ภาวะอยู่ไม่สุข (Hyperactivity) และสมาธิสั้น (Attention Deficit)
    • มีลักษณะกระวนกระวาย ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้ และหยุกหยิกไปมา
    • พูดคุยตลอดเวลา และมักรบกวนหรือเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นอยู่เสมอ
    • มีทักษะการจัดการในระดับต่ำ
  • การถอนตัวหรือล้มเลิก (Withdrawal)
    • หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมักรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น
    • เฉื่อยชา และมีลักษณะคล้ายเหนื่อยตลอดเวลา
    • ขาดความมั่นใจ ขี้อาย ขี้กลัว ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก
  • ความผิดปกติในการทำงานของร่างกาย (Function Disorder)
    • ความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน (Eating Disorder) เช่น การอาเจียนโดยสมัครใจ (Voluntary Regurgitation) การปฏิเสธที่จะรับประทาน รวมถึงนิสัยการรับประทานสิ่งที่รับประทานไม่ได้
    • โรคอ้วน (Obesity)
    • ความผิดปกติของการขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะ (Elimination Disorder)
  • ภาวะความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ระดับรุนแรง
    • ขาดเหตุผลในการคิด
    • อาการหลงผิด (Delusion)
    • อาการประสาทหลอน (Hallucination)
    • พฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง

ปัญหาเด็กบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์มีสาเหตุมาจากอะไร?

ความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากความซับซ้อนของความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น กลไกทางพันธุกรรมซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติได้หลายประการ ซึ่งรวมถึงความเสียหายทางด้านชีวภาพ (Biological insults) ยกตัวอย่างเช่น การบาดเจ็บของร่างกาย หรือการได้รับสารพิษ นอกจากนี้ ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ความจน ความรุนแรง หรือการละเลยของผู้ปกครอง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ ทั้งนี้สาเหตุของปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์สามารถจำแนกได้ดังนี้

  • ปัจจัยทางชีวภาพ (Biology) ถือเป็นปัจจัยที่มีความซับซ้อนอย่างมาก โดยความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์อาจได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรม เช่น โรคจิตเภทหรือจิตเสื่อม (Schizophrenia) และภาวะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ประมาณร้อยละ 20 ถึง 60 นั้น มีสาเหตุมาจากพ่อหรือแม่ที่มีภาวะซึมเศร้า อีกทั้งเมื่อเคมีในร่างกายมีความเชื่อมโยงต่อภาวะซึมเศร้าอันเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมอยู่แล้ว ความเครียดหรือเผชิญเหตุการณ์ที่ตึงเครียดอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เด็กเกิดภาวะซึมเศร้า (Depressive episodes) ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้การบาดเจ็บทางสมอง (Brain injury) ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์เช่นกัน
  • ปัจจัยทางจิตสังคม (Psychosocial) เนื่องจากโรงเรียนและบ้านเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สำคัญสำหรับเด็กที่สุด ดังนั้น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก อิทธิพลจากคนรอบข้าง รวมถึงปัญหาที่เกิดจากโรงเรียนและบ้าน จึงมีส่วนสำคัญที่อาจนำไปสู่ปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) อันเกิดจากการทะเลาะกับผู้ปกครอง รายได้ครอบครัวที่น้อย การอาศัยอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม เป็นต้น หรืออาจเกิดจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ตึงเครียดในชีวิต เช่น พ่อแม่แยกทางกัน และการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงการทารุณกรรมเด็ก (Childhood Maltreatment) ทั้งการใช้ความรุนแรงและการไม่ใส่ใจเด็กของผู้ปกครอง นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและโรงเรียน เช่น การชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่กับน้อง การถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง หรือการที่ผู้ปกครองมีภาวะซึมเศร้า ล้วนมีส่วนทำให้เด็กมีปัญหาความปกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ได้

ปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์มีความสำคัญอย่างไร?

ความสำคัญในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ก็มีหลักการเช่นเดียวกับปัญหาอื่นที่พบได้ในเด็ก คือ “ยิ่งเร็วยิ่งดี” โดยหากปัญหาได้รับการตรวจพบยิ่งเร็ว ย่อมส่งผลให้เด็กสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งย่อมจะเพิ่มโอกาสของความสำเร็จของเด็กในการหายขาดจากความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ให้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงควรหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติแรกเริ่มที่เด็กอาจแสดงออกมา เช่น การมีนิสัยลักขโมย การโกหก หรือการใช้อารมณ์ การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งต่อบุคคลอื่น สัตว์ หรือสิ่งของ อีกทั้งพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศที่ไม่เหมาะสม และปัญหาการสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติดในเด็กที่โตขึ้นมา โดยพ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาดหากลูกแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางลบดังกล่าวออกมาให้เห็น เพราะสัญญาณดังกล่าวย่อมบ่งบอกว่าพ่อแม่ควรดูแลลูกให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม หรือหากพ่อแม่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเกินความสามารถของตนเอง การพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็กถือเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจากอาจเป็นตัวกำหนดอนาคตของลูกได้ เพราะหากเด็กไม่ได้รับการตรวจตั้งแต่เริ่มแรกและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ก็อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาเรื้อรังติดตัวเด็กไปจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และกลายเป็นปัญหาร้ายแรงเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าตัวตาย ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของในกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี ทั้งนี้กว่าร้อยละ 95 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้น ได้รับการตรวจพบว่ามีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์

การบำบัดและการใช้ยา ถือเป็นวิธีการรักษาโดยทั่วไปสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ โดยเด็กและครอบครัวสามารถได้รับประโยชน์จากการบำบัดหลากหลายรูปแบบร่วมกัน เช่น ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ซึ่งเน้นการพูดคุยกันของสมาชิกในครอบครัว ในขณะที่การบำบัดทางปัญญาพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) มุ่งไปที่การเปลี่ยนแบบแผนความคิดของเด็ก นอกจากนี้ การเล่นบำบัด (Play Therapy) จะช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกได้ สำหรับการใช้ยานั้นก็สามารถแก้ไขปัญหาความบกพร่องลักษณะต่างๆ ของเด็กได้ตามประเภทของยา ได้แก่ ยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressant) ยากระตุ้น (Stimulant) ยาควบคุมอารมณ์ (Mood Stabilizer) และยารักษาภาวะวิตกกังวล (Anti-anxiety Drug)

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่บกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ได้อย่างไร?

ความร่วมมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้การรักษาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกสัมฤทธิ์ผล โดยพ่อแม่ควรปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ โรงเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง มักนำมาซึ่งความสำเร็จเสมอ ทั้งนี้เพราะร้อยละ 60 ถึง 80 ของผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ชนิดรุนแรง เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคซึมเศร้า (Major Depression) และโรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorder) ล้วนมีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมไปในทางบวกเมื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม พ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและมีความสำคัญกับเด็กมากที่สุด จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก โดยวิธีการที่ผู้ปกครองควรกระทำต่อลูกเพื่อสนับสนุนการรักษาดังกล่าว ได้แก่

  • พ่อแม่ควรตระหนักถึงบทบาทของตนเอง และความสำคัญของการแก้ไขปัญหาของลูกที่บ้าน โดยการช่วยให้ลูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสดงออก รวมถึงปรับเปลี่ยนทัศนคติ
  • ชี้ให้ลูกเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ลูกแสดงออก และแสดงตัวอย่างการกระทำที่เหมาะสมให้ลูกเห็น พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาปฏิบัติตาม
  • ตั้งกฎภายในบ้านให้ชัดเจน และบังคับใช้อย่างสมเหตุสมผล โดยระมัดระวังไม่ให้เคร่งครัดจนเกินไป เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกเครียดหรือรู้สึกกดดัน อันจะนำไปสู่ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น
  • ชมเชยเมื่อลูกสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบในบ้านและในสังคมได้ดี
  • ดูแลลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และความอดทน รวมถึงเคารพการตัดสินใจของลูก เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากเด็กกลับคืนมาเช่นกัน
  • หมั่นสังเกตแนวโน้มของพฤติกรรมของลูก หากลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ควรหาสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เช่น ความเครียด ความกลัว หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
  • ไม่เป็นต้นเหตุปัญหาของลูก ทั้งนี้เพราะพ่อแม่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกได้ เช่น การทะเลาะกันระหว่างพ่อกับแม่ การหย่าร้าง การเลี้ยงลูกด้วยความเคร่งครัดจนเกินไป และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น
  • นอกจากผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว ครูก็คืออีกบุคคลหนึ่งที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะการรักษาที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องและต่อเนื่องระหว่างบ้านและโรงเรียน ย่อมสามารถกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมได้ดียิ่งกว่าเดิม ดังนั้นผู้ปกครองและครูจึงควรพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของเด็กที่พบในบ้านและโรงเรียน และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่าใกล้ชิด

เกร็ดความรู้เพื่อครู

  • ตั้งกฎเกณฑ์ในห้องเรียนอย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กปฏิบัติตาม อันจะเป็นการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เด็กอาจแสดงออกในห้องเรียนในระดับหนึ่ง
  • ส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองและมีความเชื่อมั่นในการกระทำสิ่งต่างๆ โดยการหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก หากเห็นว่าเด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือกระทำสิ่งใดได้ดี ครูควรชมเชย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากทำดีต่อไป
  • ให้โอกาสเด็กได้ฝึกความรับผิดชอบ โดยหากเด็กสามารถจัดการสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้ดี ครูควรแจ้งให้เด็กทราบถึงความดีที่เขาได้กระทำ พร้อมทั้งกล่าวชมเชย
  • ใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจตัวเด็กและปัญหาของเด็ก เช่น หากเด็กพูดจาหยาบคายกับครูหรือเพื่อน ครูควรวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กอย่างสมเหตุสมผล แล้วจึงดำเนินการต่อไป
  • เมื่อเด็กกระทำผิด หรือไม่เข้าใจวิธีการประพฤติที่ถูกต้อง ครูควรยกตัวอย่างพฤติกรรมให้เด็กเห็นอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กสามารถปฏิบัติตามได้ โดยอาจใช้เพื่อนนักเรียนที่มีพฤติกรรมเหมาะสมเป็นตัวอย่าง หรือครูอาจแสดงเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นเองก็ได้เช่นกัน
  • จัดห้องเรียนให้มีบรรยากาศเหมาะสมต่อการเรียนรู้ ปัจจัยเสี่ยงของปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะปัญหาของเด็กกับเพื่อน เช่น เด็กถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง หรือในทางกลับกัน เด็กอาจเป็นฝ่ายกลั่นแกล้งเพื่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูที่ควรจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ติดต่อกับผู้ปกครอง เพื่อแจ้งปัญหาของเด็กที่โรงเรียน และร่วมมือกับผู้ปกครองในการกำจัดปัญหาให้หมดไปผู้เขียน: ปัณณ์พัฒน์ จันทร์สว่าง และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็กขอบคุณ : https://taamkru.com

ย้อนกลับ