มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ (Children with Learning Disabilities)

ปัญหาความบกพร่องด้านการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ใช้อธิบายลักษณะพิเศษของเด็กที่มีปัญหาในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ทางวิชาการ ภาษา และการเขียน เป็นผลมาจากระบบการทำงานที่ผิดปกติของสมองในขั้นตอนการรับรู้และสื่อสารข้อมูล ทำให้มีปัญหาเรียนยาก หรือเรียนช้ากว่าเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ในลักษณะนี้ จัดเป็น 1 ใน 9 กลุ่มเด็กที่ต้องรับการดูแลพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่ฉลาดหรือขี้เกียจ เพียงแต่มีระบบความคิด การจัดเก็บและสื่อสารข้อมูลแตกต่างจากคนอื่น และที่จริงแล้วเด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวเท่ากับเด็กทั่วไป หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เราสามารถแบ่งลักษณะอาการเป็น 2 ประเภท คือ ปัญหาทางภาษา และปัญหาทางภาพสัญลักษณ์

 

  • ปัญหาทางภาษา เด็กที่มีปัญหาทางภาษาจะพบอุปสรรคในการทำความเข้าใจคำพูดหรือกลุ่มคำ ทั้งการเขียน และการอ่าน เพราะนอกจากจะมีปัญหาในการจดจำตัวอักษรแล้ว ยังมีปัญหาในการเชื่อมโยงคำกับการอ่านออกเสียง สำหรับเด็กบางคน ถึงแม้จะอ่านเขียนได้เป็นปกติแต่ก็อาจจะมีปัญหาทางภาษาด้านอื่นๆ เช่น บางคนอาจจะอ่านและออกเสียงได้ถูกต้อง แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองอ่าน และบางคนอาจจะมีปัญหาทางการเขียนเพราะไม่สามารถสั่งให้มือเขียนตามหลักไวยากรณ์ได้ เช่น วรรคตอนผิดปกติ หรือเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละย่อหน้าไม่ได้ ลายมือแย่มาก เป็นต้น
  • ปัญหาทางภาพสัญลักษณ์ เด็กที่มีปัญหาทางภาพสัญลักษณ์ มักจะมีปัญหาในการเชื่อมโยงสิ่งที่ตัวเองมองเห็น เด็กมักจะมีปัญหากับรายละเอียดในภาพ เช่น สับสนตัวเลขบนกระดาน หรือสับสนสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์พวก เศษส่วน หรือจำสลับระหว่างตัวบวกกับตัวหาร เป็นต้น

ปัญหาการเรียนรู้นี้เป็นไปได้ตลอดชีวิต และยังไม่มีวิธีรักษา แต่หากเรามีวิธีดูแลที่ถูกต้องจะสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ใช้ชีวิตแบบปกติและเรียนตามคนอื่นได้ อาการของเด็กที่เป็นปัญหานี้แตกต่างและมีหลายลักษณะ เช่น เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาทางการอ่านและเขียน แต่ไม่มีปัญหาทางคณิตศาสตร์ หรือเด็กบางคนมีปัญหาการเขียนเพียงอย่างเดียว เป็นต้น อีกทั้งความรุนแรงของอาการแต่ละคนยังแตกต่างกันไปอีกด้วย

เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้มีลักษณะอย่างไร?

เราไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนไหนมีปัญหาการเรียนรู้เพียงแค่มองจากภายนอก ทำให้สังเกตอาการได้ยาก แต่พ่อแม่จะเริ่มสังเกตเห็นจากความผิดปกติของเด็กทางการพูด อ่านเขียน การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ การสื่อสาร หรือการขาดสมาธิในห้องเรียน ประมาณช่วงประถมศึกษา ครูและพ่อแม่จะเริ่มเห็นว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้กติกาของเกมบางเกมหรือไม่สามารถทำการบ้านบางอย่างได้ทั้งๆ ที่เป็นงานที่ง่ายมาก เป็นต้น แต่เด็กบางคนก็พยายามหาวิธีแก้ไขจนเรียนตามเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันได้ แม้แต่พ่อแม่เองก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วลูกมีอาการผิดปกติทางการเรียนรู้ และกว่าจะสังเกตได้ก็เมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่นที่ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเองแล้ว เด็กจะเริ่มรู้สึกว่าความพยายามที่ใช้ไปในการเรียนไม่ส่งผลต่อผลการศึกษาเท่าที่ควร เมื่อมารู้ตัวในวัยรุ่นเช่นนี้ ยิ่งทำให้ยากต่อการดูแลรักษา ซึ่งลักษณะที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

ก่อนวัยเรียน

  • มีปัญหาในการพูดคำบางคำ
  • ใช้คำพูดแบบผิดๆ
  • จำทำนองเพลงหรือเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้
  • มีปัญหาในการเรียนตัวอักษร ตัวเลข สี รูปร่าง วันในสัปดาห์
  • ไม่เข้าใจการทำตามกฎหรือกติกา
  • จับดินสอ ปากกา หรือกรรไกร ให้ไปในทางที่ต้องการไม่ได้
  • มีปัญหากับการติดกระดุมหรือซิป หรือผูกเชือกรองเท้า

5-9ขวบ

  • ไม่สามารถเชื่อมโยงคำกับการเสียงอ่านของคำนั้นได้
  • ไม่สามารถผสมเสียงพยัญชนะกับสระให้เป็นคำพูดได้
  • สับสนคำง่ายๆ เวลาอ่าน
  • เขียนคำผิดซ้ำๆ
  • มีปัญหากับโจทย์เลขทั่วไป
  • บอกเวลาไม่ได้
  • เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ช้า

10-13 ขวบ

  • มีปัญหากับการอ่านทำความเข้าใจ
  • ปัญหาการเรียนเลข
  • ไม่ถนัดการตอบคำถามปลายเปิด และมีปัญหาการใช้คำ
  • ไม่ชอบการอ่านและเขียน หลีกเลี่ยงการอ่านออกเสียง
  • ไม่มีทักษะการจัดการ (ห้องนอน การบ้าน โต๊ะเรียน)
  • ลายมืออ่านยาก

เด็กกลุ่มนี้จะขี้อาย และปฏิเสธที่จะฝึกฝนซ้ำๆ เพราะพวกเขาทำไม่ได้ หรือพบว่ามันยากสำหรับพวกเขา ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ทำได้ ทำให้รู้สึกอายและไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม แค่เพียงมีปัญหาในห้องเรียนไม่ได้หมายความว่าเด็กจะต้องมีปัญหาทางการเรียนรู้เสมอไป เด็กแต่ละคนมีวิธีที่จะเรียนรู้แตกต่างกันไป เช่น บางคนชอบที่จะฝึกฝนไปเรื่อยๆ บางคนชอบที่จะฟังเพื่อทำความเข้าใจ เป็นต้น หรือเด็กบางคนอาจแค่อ่านช้าหรือเรียนช้ากว่าเพื่อนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีพัฒนาการที่ด้อยกว่าเกณฑ์ หากรู้สึกว่าลูกมีอาการดังกล่าว จะให้แน่ใจที่สุดพ่อแม่ควรพาลูกไปหานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบจากแบบทดสอบอย่างละเอียด

เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้มีสาเหตุมาจากอะไร?

ไม่มีใครสามารถบอกสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงได้ แต่นักวิจัยก็ได้ให้ทฤษฎีบางอย่างที่สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรม นักวิจัยกลุ่มหนึ่งสังเกตเห็นว่า ปัญหาทางการเรียนรู้ถ่ายทอดต่อกันมาในครอบครัว และพวกเขาคิดว่า พันธุกรรมน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า อาจจะไม่ใช่พันธุกรรมที่เป็นตัวถ่ายทอดลักษณะมาในเด็ก แต่อาจเป็นที่ลักษณะการเลี้ยงดูที่เหมือนๆ กันจากรุ่นสู่รุ่นก็เป็นได้
  • พัฒนาการทางสมอง นักวิจัยบางคนเชื่อว่าปัญหานี้เกิดจากขั้นตอนการพัฒนาของสมอง ทั้งก่อนและหลังการคลอด ตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัวของเด็กที่น้อยเกินไป ขาดออกซิเจนระหว่างคลอด หรือสภาพแวดล้อมระหว่างตั้งครรภ์ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหาการเรียนรู้ให้กับเด็ก เด็กเล็กๆ บางคนที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ หรือส่วนที่ส่งผลกระทบสู่สมอง อาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางการเรียนรู้ได้
  • ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ทารกหรือเด็กเล็กเป็นวัยที่อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม และไวต่อสารพิษหรือมลพิษเป็นอย่างมาก เช่น เรามักจะได้ยินมาว่าตะกั่ว (มักพบได้ในบ้านหลังเก่าๆ หรือในสีบางชนิด) อาจส่งผลกระทบต่อสมองได้ สภาพโภชนาการในการเลี้ยงดูเด็กจึงมีผลสำคัญในการเจริญเติบโต

ปัญหาการเรียนรู้มีความสำคัญอย่างไร?

พ่อแม่บางคนจะเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วลูกจะสามารถอ่านหนังสือออกไหม หรือเขาจะเขียนได้เหมือนปกติรึเปล่า คำตอบก็คือ ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่า พ่อแม่รู้ว่าลูกมีปัญหาการเรียนรู้เมื่อไหร่ และตอบรับกับปัญหานั้นอย่างไรบ้าง หากพบปัญหาตั้งแต่แรกๆ และดูแลลูกได้อย่างถูกต้องไม่ว่ากรณีร้ายแรงแค่ไหน โอกาสที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ใกล้เคียงเด็กปกติยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน หากพ่อแม่รู้ตัวเมื่อลูกอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป และไม่ได้รับการดูแลแบบพิเศษ ก็ยิ่งยากต่อการส่งเสริมให้เขาอยู่ในสังคมได้แบบปกติ ดังนั้น จึงสำคัญมากที่พ่อแม่จะต้องไม่ละเลยปัญหานี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเขาในอนาคต ยิ่งรู้ตัวเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

เด็กอาจถือเอาปัญหาการเรียนเป็นปมด้อยของตัวเอง ลองคิดดูว่าถ้าเป็นตัวเราเองที่ทำอะไรอย่างหนึ่งไม่ได้ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ทำได้อย่างง่ายดาย กังวลอยู่ตลอดว่าจะเสียหน้าในห้องเรียน หรือต้องพยายามอย่างมากเวลาจะอธิบายอะไร เราจะรู้สึกอย่างไร ปัญหาของเขาคือเขาไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ หากถูกละเลย จะสร้างความเครียดให้กับเด็ก ที่เขาเรียนไม่ได้ไม่ใช่ความผิดของเขา อาจทำให้เขาไม่เข้าใจและหลีกหนี และนั่นจะส่งผลต่อทักษะทางสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต และที่สำคัญ ความสุขของลูก

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขลูกที่มีปัญหาการเรียนรู้ได้อย่างไร?

เด็กทุกคนต้องการความรักและกำลังใจ สำหรับเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ การให้กำลังใจให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ให้พวกเขามีความมั่นใจและสู้กับปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจคือ หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่การรักษาโรคให้ลูก แต่คือการสอนให้ลูกดูแลตัวเองได้ และต้องระลึกเสมอว่า สิ่งที่พ่อแม่กระทำและแสดงออกต่ออุปสรรคต่างๆ ส่งผลอย่างมากต่อลูก จริงอยู่ว่าการมองโลกในแง่ดีไม่ได้ช่วยให้อาการลูกดีขึ้น แต่แน่นอนว่ามันได้ให้ความหวังและความมั่นใจแก่ลูกอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมันมาจากพ่อแม่ของเขาเอง

  • เข้าจัดการกับการศึกษาของลูก สื่อสารกับที่โรงเรียนเกี่ยวกับการเรียนของลูก ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและการให้บริการจากโรงเรียนในส่วนนี้ให้ดีก่อนที่จะตกลงร่วมกันกับโรงเรียน พ่อแม่หลายคนมีความคิดที่ว่าโรงเรียนต้องสอนเด็กทุกอย่างและมีหน้าที่ดูแลเด็กในทุกแง่ จำไว้เสมอว่าโรงเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกและชีวิตครอบครัว ข้อจำกัดของโรงเรียนอาจไม่สามารถตอบโจทย์ที่พ่อแม่ต้องการได้ ลองมองหาตัวช่วยอื่นๆ ให้กับลูก
  • หาให้เจอว่าลูกถนัดเรียนแบบไหน เด็กแต่ละคนมีวิธีเรียนที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กบางคนชอบที่จะเรียนจากภาพ เด็กจะเข้าใจได้ดีขึ้นเมื่ออธิบายเป็นกราฟหรือแผนภูมิ จากการอ่าน หากเด็กถนัดเรียนจากการฟัง เด็กจะทำได้ดีกับการเรียนในห้องเรียน และมีแนวโน้มจะชอบฟังเพลงหรือเล่นละคร หรือเด็กบางคนจะถนัดเรียนแบบปฏิบัติ พวกเขาจะทำได้ดีในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือทำอะไรที่ได้ค้นหา
  • ให้ความสำคัญกับชีวิตนอกห้องเรียน จำไว้ว่าความสำเร็จไม่ได้หมายถึงการเรียนเสมอไป แต่รวมถึงสุขภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น พ่อแม่ควรจะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ด้วย เหล่านี้คือคำแนะนำที่พ่อแม่ควรจะเริ่มต้นให้ความสนใจ
    • ควรสอนให้ลูกภูมิใจในตัวเอง โดยให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่ลูกชอบและถนัดคืออะไร และส่งเสริมเขาในจุดนั้น ให้กำลังใจลูกเมื่อต้องพูดถึงทักษะที่ตัวเองมีปัญหา ให้เด็กยอมรับและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือกับผู้ใหญ่
    • สอนให้ลูกมั่นใจในการตัดสินใจ พูดคุยกับเกี่ยวกับปัญหาหลายๆ เรื่อง และถามว่าถ้าเป็นเขาจะทำอย่างไร ผลจากการแก้ปัญหาแต่ละแบบเป็นอย่างไร และให้กำลังใจเด็กเวลาจะตัดสินใจ หรือเสนอตัวเลือกให้เขา
    • สอนให้เด็กมีความพยายาม ให้เขาไม่หลีกหนีจากปัญหา
    • ให้เด็กรู้จักมีเป้าหมายในชีวิต ลองให้เด็กสร้างเป้าหมายเล็กๆ และวิธีที่จะไปให้ถึง
    • รู้จักที่จะขอความช่วยเหลือ และช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นหลักในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
    • สามารถจัดการความเครียดและควบคุมอารมณ์ของตนเอง โดยสอนให้เขารู้จักกับอารมณ์ในแบบต่างๆ และทำความเข้าใจมัน เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังเครียดอยู่ และสามารถหากิจกรรมที่จะลดความเครียดลงได้ ที่สำคัญ พ่อแม่จะต้องรู้ได้ทันทีว่าเมื่อไหร่ที่ลูกมีความเครียด
  • ดูแลสุขภาพให้ดี แน่นอนว่าสุขภาพที่ดีจะนำมาสู่สุขภาพจิตที่ดี และจะทำให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ง่ายๆ แค่ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนเพียงพอ
  • อย่าลืมดูแลตัวเอง พ่อแม่จะไม่สามารถดูแลลูกได้เลยหากว่าตัวเองเหนื่อยหรือเครียด อย่าเก็บเอาทุกอย่างไว้กับตัว มองหาตัวช่วย เช่น เพื่อน ครอบครัว ครู นักจิตวิทยา ที่จะคอยแบ่งเบาปัญหาและช่วยเหลือได้ ที่สำคัญ ลองมองหากลุ่มหรือองค์กรที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่และเด็กคนอื่นๆ

เกร็ดความรู้เพื่อครู

ครูควรเรียนรู้เกี่ยวกับอาการและลักษณะต่างๆ รวมทั้งแหล่งข้อมูลและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อว่าจะช่วยเด็กในด้านการศึกษาได้อย่างถูกต้อง เรียนรู้ว่าสิ่งที่เด็กถนัดและสนใจคืออะไรและให้การสนับสนุนสิ่งนั้น คอยให้กำลังใจและเป็นกำลังสำคัญให้น้องมีโอกาสฝึกฝนต่อไป และคอยประเมินผลการเรียนของเด็ก เพื่อจะรู้ว่าทักษะการเรียนรู้ใดที่เด็กมีปัญหาและจะได้รู้ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรไปบ้างหรือไม่ มีพัฒนาการอย่างไร พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีที่จะสอนเด็กลักษณะพิเศษ ตัวอย่างเช่น

  • ให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละขั้น ให้คำแนะนำทั้งจากคำพูด และการเขียน
  • ให้เวลามากขึ้นในการทำการบ้าน
  • หากเด็กมีปัญหาทางการอ่าน ให้ใช้วิธีอ่านจากหนังสือควบคู่ไปกับฟังเทป
  • หากเด็กมีปัญหาทางการฟัง ให้เด็กยืมที่เพื่อนจดในห้องเรียน หรือให้เด็กใช้เครื่องอัดเสียงตอนเรียน
  • หากเด็กมีปัญหาในการเขียน ให้หาคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมตรวจคำผิดมาให้เด็กฝึกฝน

สอนทักษะการจัดการให้กับเด็ก ทักษะการเรียนหรือหลักในการเรียน การทำแบบนี้เป็นผลดีต่อเด็กทั่วไป แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และหมั่นติดต่อสื่อสารกับพ่อแม่ของเด็ก คอยบอกความเปลี่ยนแปลงของเด็กที่โรงเรียน และติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่บ้าน เพื่อที่จะได้วางแผนการเรียนที่เหมาะสมและจำเป็นกับเด็กร่วมกัน

ผู้เขียน: เววิรี อิทธิอนันต์กุล และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็ก

ขอบคุณ : https://taamkru.com


ย้อนกลับ