มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ลูกมีความบกพร่องทางสติปัญญา (Children with Mental Retardation)

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Children with Mental Retardation) หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในการทำงานของกระบวนการทางปัญญา (cognitive functioning) และมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการปรับตัว (adaptive behaviors) ตั้งแต่ 2 ประการขึ้นไป ในอดีตได้กำหนดให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาคือเด็กที่มีระดับ IQ หรือ ความฉลาดทางสติปัญญาต่ำกว่า 70 คะแนน (IQ ของคนปกติจะอยู่ที่ประมาณ 100 คะแนน) อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคำจำกัดความของความบกพร่องทางสติปัญญานั้นจะรวมทั้งเรื่องของการทำงานของกระบวนการทางปัญญา และทักษะความสามารถในการทำสิ่งต่างๆของบุคคลในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ดังนั้นผู้ที่มีระดับความฉลาดทางสติปัญญาต่ำกว่าค่ามาตรฐานเพียงอย่างเดียว จึงไม่เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อนึ่ง Syndromic mental retardation คือ ภาวะความบกพร่องทางสติปัญญาที่เกี่ยวโยงกับลักษณะ อาการ ความผิดปกติทางการแพทย์และทางพฤติกรรมอื่นๆ ส่วน Non-syndromic mental retardation เป็นภาวะความบกพร่องทางสติปัญญาที่ไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ปรากฏร่วมด้วย

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามีลักษณะอย่างไร?

ลักษณะที่เป็นปัญหาของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จะเห็นได้จากพฤติกรรมของเด็ก หากดูจากภายนอก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดูไม่เหมือนกับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากความบกพร่องนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น การขาดสารอาหาร หรือ การได้รับสารพิษจากตะกั่ว ลักษณะทั่วไปภายนอกของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญานั้น จะแสดงออกให้เห็นเพียงไม่กี่กรณี ซึ่งทั้งหมดจะมีความเกี่ยวข้องกับ Syndromic mental retardation

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจะเรียนรู้เกี่ยวกับการลุกขึ้นนั่ง การคลาน หรือการยืน ช้ากว่าเด็กทั่วไป และเด็กก็อาจจะเรียนรู้ในการพูดช้ากว่าเด็กโดยทั่วไปเช่นกัน ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • มีพัฒนาการในการพูดที่ล่าช้า
  • มีทักษะในด้านความจำที่ไม่ดี
  • เรียนรู้เกี่ยวกับกฎของสังคมได้ยาก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับทักษะการแก้ปัญหา
  • มีพัฒนาการทางด้านพฤติกรรมการปรับตัวที่ล่าช้า เช่น ทักษะการช่วยเหลือตัวเอง และทักษะการดูแลตัวเอง
  • ขาดทักษะทางสังคม

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป เด็กอาจใช้เวลานานกว่าในการเรียนภาษา การพัฒนาทักษะทางสังคม และการดูแลตนเอง เช่น การแต่งตัว หรือการรับประทานอาหาร เด็กเหล่านี้จะใช้เวลานานในการเรียนรู้ ต้องมีการทำซ้ำๆหลายครั้ง และการเรียนรู้ทักษะต่างๆ นั้นต้องมีการปรับให้เข้ากับระดับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมทางสังคมได้

ในเด็กเล็ก ความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเล็กน้อย (mild mental retardation) คือ มีระดับ IQ หรือความฉลาดทางสติปัญญาอยู่ที่ 50-69 หรือราวๆ ครึ่งหนึ่งถึงสองในสามของค่ามาตรฐาน อาจยังแสดงอาการไม่ชัดเจนและตรวจสอบไม่พบจนกระทั่งเด็กเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียน ถึงแม้เด็กจะมีความสามารถทางการศึกษาที่ไม่ดี แต่ก็ต้องใช้การประเมินที่อาศัยความเชี่ยวชาญในการแยกเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาออกจากเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพียงเล็กน้อยสามารถเรียนรู้ทักษะการอ่าน และทักษะทางคณิตศาสตร์ ได้เทียบเท่ากับเด็กทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 9 ถึง 12 ปี พวกเขาสามารถเรียนรู้การดูแลตัวเอง และทักษะต่างๆที่ใช้ได้จริง เช่น การทำอาหาร หรือการใช้ระบบขนส่งมวลชนของท้องถิ่น เมื่อเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ หลายๆคนสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยตนเอง และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้

เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับปานกลาง (moderate mental retardation) คือมี IQ หรือระดับความฉลาดทางสติปัญญาอยู่ที่ 35-49 ส่วนใหญ่มักจะเห็นถึงความบกพร่องทางสติปัญญาได้ชัดเจนภายในอายุ 1 ปี โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับปานกลางก็คือ การที่เด็กจะพูดได้ช้า ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับปานกลางจึงมีความต้องการความช่วยเหลือที่มากขึ้น ทั้งที่โรงเรียน ที่บ้าน และในสังคม เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ แม้ความสามารถทางการศึกษาของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับปานกลางจะมีจำกัด พวกเขาสามารถเรียนรู้ทักษะทางด้านสุขภาพ และทักษะด้านความปลอดภัยที่ง่ายๆ หรือทักษะด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมง่ายๆได้ เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาอาจอยู่กับพ่อแม่ หรืออยู่ในสถานที่ที่ออกแบบให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้พำนัก หรือแม้แต่การอยู่ด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง และมีผู้อื่นช่วยในเรื่องอื่นๆ เช่น ในเรื่องการจัดการด้านการเงิน พวกเขายังสามารถทำงานได้ในองค์กร หรือหน่วยงานที่มีการจ้างผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเข้าไปทำงาน

สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับรุนแรง/สูง (severe/profound mental retardation) พวกเขาต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดชีวิตของพวกเขา โดยผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับสูง อาจเรียนรู้กิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างได้ แต่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในระดับสูงบางคนอาจต้องการการดูแลตลอดเวลา

ความบกพร่องทางสติปัญญามีสาเหตุมาจากอะไร?

สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาตั้งแต่วัยเด็กนั้น ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ราวหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมด อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) กลุ่มอาการเวโลคาร์ดิโอเฟเชียล (Velocardiofacial syndrome) และกลุ่มอาการของทารกที่ถือกำเนิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome) คือสามสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาตั้งแต่แรกเกิด ถึงกระนั้น ทางการแพทย์ได้มีการค้นพบสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย ดังนี้

  • สภาพทางพันธุกรรม ในบางครั้งความบกพร่องมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ซึ่งความผิดปกติอาจเกิดขึ้นได้เมื่อยีนส์ของพ่อและแม่รวมเข้าด้วยกัน หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ความผิดปกติของลักษณะทางพันธุกรรมที่พบมากในปัจจุบันนั้นรวมไปถึงกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) กลุ่มอาการเวโลคาร์ดิโอเฟเชียล (Velocardiofacial syndrome) และกลุ่มอาการของทารกที่ถือกำเนิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome) ซึ่งเกิดได้มากในเด็กผู้ชาย โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital hypothyroidism) กลุ่มอาการวิลเลี่ยม (Williams syndrome) ฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) หรือ PKU และกลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi syndrome) โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆยังรวมไปถึงกลุ่มอาการพรีแลน-แมคเดอร์มิด (Phelan-McDermid syndrome (22q13del), กลุ่มอาการโมวัท-วิลสัน (Mowat-Wilson syndrome) และชนิดของ Siderius หรือความบกพร่องทางสติปัญญาจากการถ่ายทอดทางโครโมโซม X แบบลักษณะด้อย ซึ่งเกิดจากการผ่าเหล่าในยีนส์ชนิด PHF8 ความผิดปกติของโครโมโซม X หรือ โครโมโซม Y ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความบกพร่อง แต่สำหรับกรณีดังกล่าว ถือได้ว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่สุด ความผิดปกติของโครโมโซม 48,XXXX และ 49,XXXX ส่งผลกระทบต่อเด็กผู้หญิงทั่วโลกจำนวนหนึ่ง ส่วนเด็กผู้ชายจะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติของโครโมโซม 47,XYY, 49,XXXXY หรือ 49,XYYYY
  • ปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ ความบกพร่องทางสติปัญญาสามารถเกิดได้จากการที่ทารกในครรภ์ไม่ได้เจริญเติบโตอย่างถูกต้องเหมาะสม ตัวอย่างเช่น อาจเกิดปัญหาในระหว่างการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์ระหว่างการเจริญเติบโต มารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันระหว่างการตั้งครรภ์ อาจให้กำเนิดบุตรที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้
  • ปัญหาระหว่างการคลอด หากทารกเกิดปัญหาระหว่างการทำคลอด หรือหลังการคลอด เช่น ทารกได้รับออกซิเจนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดความบกพร่องเนื่องจากสมองถูกทำลาย
  • การที่เด็กได้รับสารพิษ หรือป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคไอกรน โรคหัด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สามารถก่อให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า หรือการได้รับการรักษาที่ไม่เพียงพอ การที่เด็กได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว หรือ สารปรอท อาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาได้เช่นกัน
  • การขาดสารไอโอดีน เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งเกิดในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากปัญหาปริมาณไอโอดีนขาดแคลนในบางท้องถิ่น ปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชากรราวๆสองล้านล้านคนทั่วโลก การขาดสารไอโอดีนก็ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคอพอกอีกด้วย ความบกพร่องทางสติปัญญาที่เกิดจากการขาดสารไอโอดีนที่รุนแรง จะทำให้สติปัญญาแย่ลง หรืออาจทำให้กลายเป็นโรคเอ๋อ หรือเครทินิซึม บางพื้นที่ในโลกที่ประสบปัญหาขาดแคลนสารไอโอดีนโดยธรรมชาติ และรัฐบาลมีความเฉื่อยชาในการแก้ปัญหา ประชากรจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีประชากรกว่า 500 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากความบกพร่องทางสติปัญญา ประชากรกว่า 54 ล้านคนเป็นโรคคอพอก และประชากร 2 ล้านคนเป็นโรคเอ๋อ หรือเครทินิซึม ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสารไอโอดีน เช่น ประเทศจีน และประเทศคาซัคสถานได้มีการจัดทำโครงการให้ประชากรได้บริโภคเกลือที่ประกอบด้วยไอโอดีนที่มีคุณภาพ
  • ภาวะขาดสารอาหาร เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาในหลายพื้นที่ทั่วโลก อันเนื่องมาจากความขาดแคลนอาหาร เช่น ในประเทศเอธิโอเปีย
  • การขาดเส้นใยประสาทขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า อาร์คูเอท ฟาสซิคูลัส

ปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญามีความสำคัญอย่างไร?

ในการให้คำจำกัดความของความบกพร่องทางสติปัญญานั้น ความบกพร่องทางสติปัญญาถือว่าเป็นความพิการมากกว่าการเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ความบกพร่องทางสติปัญญามีความแตกต่างจาก อาการป่วยทางจิต เช่น โรคจิตเภท (โรคความคิดผิดปกติ ที่ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง) หรือ โรคซึมเศร้า แม้ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษาความบกพร่องทางสติปัญญาอันเป็นที่ยอมรับ แต่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาสามารถเรียนรู้ที่จะทำหลายๆ สิ่งได้ด้วยตนเอง หากมีการช่วยเหลือ และการสอนที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามักประสบปัญหาเกือบทุกด้านในการดำรงชีวิตประจำวัน และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องได้รับความลำบากในการเลี้ยงดูบุตรที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เนื่องจากเด็กต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษกว่าเด็กโดยทั่วไป

ในปัจจุบันนี้มีหน่วยงานกว่าพันหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายในองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ อาจประกอบไปด้วยบ้านพักสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล โปรแกรมช่วยฟื้นฟูผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่ทำงานที่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาสามารถเข้าไปทำงานได้ โปรแกรมช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหางานอื่นๆในสังคม โปรแกรมที่ช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในการเลี้ยงดูบุตร และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังมีองค์กร และโปรแกรมอื่นๆสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองซึ่งมีบุตรที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาได้อย่างไร?

  • พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความบกพร่องทางสติปัญญาให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองมีความรู้มากเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและลูก
  • สนับสนุนให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตนเอง เช่น เรียนรู้การดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การรับประทานอาหาร การใช้ห้องน้ำ และการดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายหรือผมของตนเองให้เรียบร้อย
  • ให้บุตรของท่านช่วยทำงานบ้าน ทั้งนี้ก็ควรคำนึงถึงอายุ ระยะเวลาที่เด็กจะให้ความสนใจ และความสามารถของบุตรท่านในการมอบหมายงาน จากนั้นอธิบายวิธีการทำงานจากวิธีใหญ่ๆ ให้เป็นวิธีเล็กๆ เช่น ถ้าต้องการให้บุตรของท่านช่วยจัดโต๊ะอาหาร ก่อนอื่นก็ควรถามจำนวนผ้ากันเปื้อนกับเด็กให้แน่นอน ว่าต้องใช้เท่าไหร่ และให้เด็กนำไปวางบนโต๊ะในแต่ละที่ที่สมาชิกในครอบครัวนั่ง และใช้วิธีเดียวกันในการให้เด็กช่วยวางอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้บนโต๊ะอาหาร โดยการเริ่มจากขั้นที่หนึ่งใหม่ บอกบุตรของท่านว่าต้องทำอะไรบ้าง เป็นขั้นเป็นตอน จนกว่างานจะเสร็จ สาธิตวิธีการทำงาน หรือให้ความช่วยเหลือแก่บุตร เมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ พยายามชมบุตรของท่านบ่อยๆว่าทำได้ดีมาก เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ และทักษะให้แก่บุตรของท่าน
  • หาโอกาสให้บุตรเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในชุมชนของท่าน เช่น กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บุตรของท่านได้สร้างทักษะทางสังคม และสนุกไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ
  • พูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองท่านอื่นๆที่มีบุตรที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อเป็นการแบ่งปันคำแนะนำต่างๆ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถติดต่อสอบถามศูนย์ หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในการหาข้อมูลของพ่อแม่ผู้ปกครองท่านอื่นๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับท่าน
  • พบปะหารือกับทางโรงเรียน เพื่อพัฒนาปรับปรุงแผนการเรียนให้ตรงกับความต้องการของบุตรท่าน พยายามติดต่อพูดคุยกับครูประจำชั้นของบุตรท่านอย่างสม่ำเสมอ ให้การสนับสนุนแก่โรงเรียน ในการช่วยสอนสิ่งที่บุตรเรียนจากที่โรงเรียน เมื่อบุตรอยู่ที่บ้าน

ครูจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่โรงเรียนได้อย่างไร?

  • ครูควรเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความบกพร่องทางสติปัญญาให้มากที่สุด
  • ระลึกไว้เสมอว่าครูสามารถนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ชีวิตเด็ก ครูจึงควรค้นหาว่าจุดแข็ง หรือความสนใจของเด็กคืออะไรและเน้นที่สิ่งเหล่านั้น เพื่อสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จให้แก่เด็ก
  • ปรึกษาหารือกับครูท่านอื่นๆ หรือครูที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสอน ในการหาวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดให้แก่เด็ก เช่น การปรับหลักสูตรการเรียนรู้
  • พยายามอธิบายสิ่งที่สอนให้มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด แสดงสิ่งที่ครูอธิบายแทนการอธิบายด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว เช่น การแสดงภาพให้เด็กดู หรือครูอาจให้เด็กลองทำเอง
  • พยายามอธิบายข้อมูลแก่เด็กให้มีความกระชับที่สุด เช่น อธิบายข้อมูลยาวๆด้วยการทำให้เป็นวิธีสั้นๆ สาธิตวิธีการทำ ลองให้เด็กทำ และให้ความช่วยเหลือเด็กเท่าที่จำเป็น
  • แจ้งผลตอบรับแก่เด็กให้เร็วที่สุดว่าเด็กทำได้ดีหรือไม่
  • สอนทักษะชีวิตให้แก่เด็ก เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน ทักษะทางสังคม การตระหนักรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ และทักษะการสำรวจ ให้เด็กลองทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม หรือกิจกรรมชมรม
  • หารือร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก และบุคลากรในโรงเรียนท่านอื่นๆ เพื่อสร้างแผนการเรียนที่ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และควรแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเด็กทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านอย่างสม่ำเสมอผู้เขียน: วนาลี ทองชาติ และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็กขอบคุณ : https://taamkru.com

ย้อนกลับ