มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ลูกมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ (Children with Physical and Health Impairments)

ความบกพร่องทางร่างกาย (Physical impairments) โดยทั่วไปแล้วครอบคลุมลักษณะของความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว (Motor functioning impairments) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ตัวอย่างของความบกพร่องทางร่างกาย ได้แก่ โรคสมองพิการ (Cerebral palsy) โรคลมชัก (Epilepsy) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายอาจมีหรือไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการศึกษาพิเศษ (Special education) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ซึ่งความช่วยเหลือที่เด็กควรได้รับ ได้แก่ กายภาพบำบัด (Physical therapy) กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) รวมไปถึงบรรดิการพลศึกษา (Adapted physical education) หรือการจัดกิจกรรมพลศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความผิดปกติ เป็นต้น ส่วนความบกพร่องทางสุขภาพ (Health impairments) เป็นปัจจัยขัดขวางความปกติของร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ โดยมีสาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บ การติดเชื้อ หรือความผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งนี้ความบกพร่องทางสุขภาพอาจลดประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กลงได้ จากการลดประสิทธิภาพทางร่างกาย หรือทำให้เด็กอ่อนแอ ตัวอย่างของความบกพร่องลักษณะนี้ ได้แก่ โรคหืด (Asthma) โรงมะเร็ง (Cancer) โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia) เป็นต้น โดยเด็กอาจจำเป็นต้องปรับตัวจากผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยา หรืออาจต้องปรับตัวในการเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ซึ่งโดยทั่วไป ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจะส่งกระทบต่อเด็กแต่ละรายในระดับที่มากหรือน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาที่เกิดกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการลดสมรรถภาพทางร่างกาย สติปัญญา การพูดและภาษา ประสาทสัมผัส รวมไปถึงความบกพร่องในการเคลื่อนไหวร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ประมาณร้อยละ 0.5 ของเด็กวัยเรียนประสบปัญหาความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ โดยในจำนวนดังกล่าวนี้ สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) และรองลงมาคือโรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) หรือ ความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกสันหลังแต่กำเนิด

เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพมีลักษณะอย่างไร?

ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจะแตกต่างกันไปตามลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions) ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal conditions) และความผิดปกติทางสุขภาพอื่นๆ (Other health impairments)

  • ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions) เกิดจากความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) หรือสมองและไขสันหลัง โดยปัญหาหลักอันสืบเนื่องมาจากความผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โรคลมชัก (Epilepsy) โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความบกพร่องของไขสันหลังที่มีมาแต่กำเนิด โดยไขสันหลังยื่นออกมานอกกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เด็กมีอาการอัมพาตบางส่วน หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตทั้งตัว และอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) อีกด้วย ทั้งนี้ความบกพร่องอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดปกติทางระบบประสาทมักมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงอันตราย และอาจส่งผลต่อความสมรรถภาพทางร่างกาย สติปัญญา การพูดและภาษา รวมถึงประสาทสัมผัส
  • ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal conditions) ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) ภาวะแขนขาขาดหรือถูกตัดทิ้ง (Amputation) และความทุพพลภาพรูปแบบอื่นๆ ของกล้ามเนื้อหรือกระดูก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเคลื่อนไหว เดิน ยืน นั่ง หรือทำให้ไม่สามารถใช้มือและเท้าได้อย่างปกติ
  • ความผิดปกติทางสุขภาพ (Health impairments) ได้แก่ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อและปัญหาเรื้อรัง เช่น เบาหวาน (Diabetes) โรคหืด (Asthma) โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) ซึ่งรวมถึงการได้รับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ รวมไปถึงโรคเลือดออกไม่หยุด (Hemophilia) โรคกลุ่มอาการของทารกที่เกิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome) และการทำงานไม่ปกติ หรือล้มเหลวของอวัยวะสำคัญ

เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพบางคนอาจไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้หรือทำกิจกรรม ในขณะที่เด็กที่มีความบกพร่องดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์และความช่วยเหลือในการศึกษาเล่าเรียนอย่างใกล้ชิด ปัญหาทางด้านร่างกายสามารถขัดขวางความสามารถในการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ในการทำงานของอวัยวะ ความแข็งแรง การสื่อสาร หรือความสามารถในการเรียนรู้ จนถึงระดับที่เด็กไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โดยทั่วไปจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กบกพร่อง รวมถึงมีปัญหาในการพูดและการสื่อสารร่วมด้วย ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีความบกพร่องทางร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญา รวมไปถึงความพิการซ้ำซ้อนอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย หรือเด็กบางคน แม้จะมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ แต่ก็มีระดับสติปัญญาตามเกณฑ์หรืออาจถึงระดับสูง โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้

ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพมีสาเหตุมาจากอะไร?

ลักษณะความผิดปกติซึ่งจัดอยู่ในความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพนั้นมีความแตกต่างกันมากมาย ทั้งนี้เพราะเกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย เช่น โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) และโรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) เกิดจากความบกพร่องทางการเจริญเติบโตของสมอง ในขณะที่ความผิดปกติของร่างกายและสุขภาพอื่นๆ อาจเกิดได้จากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือเป็นผลจากอุบัติเหตุ การได้รับสารพิษ ความผิดปกติของฮอร์โมน หรือแม้กระทั่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ความผิดทางร่างกายและสุขภาพจำนวนมากเกิดจากความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) ซึ่งเป็นผลจากอุบัติเหตุ การกระแทก หรือการได้รับสารพิษ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยเสี่ยงต่อความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพของเด็กอาจเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การใช้ยาในทางที่ผิดหรือการใช้สารเสพติด (Substance abuse) ของมารดาในขณะตั้งครรภ์ หรือแม้ว่าเด็กอาจจะคลอดมาอย่างสมบูรณ์และมีสุขภาพแข็งแรง แต่หากได้รับยาในทางที่ผิดหรือได้รับสารเสพติด รวมถึงการทารุณกรรมทางร่างกาย (Physical abuse) เด็กก็อาจมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพในภายหลังได้ นอกจากนี้ ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพอาจเกิดจากอาการแพ้ เช่น โรคตับอักเสบ (Hepatitis) เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น โรคเลือดออกไม่หยุด (Hemophilia) เกิดจากปัจจัยร่วม เช่น โรคลมชัก (Epilepsy) รวมไปถึงการติดเชื้อ ความผิดปกติหรือความพิการที่มีมาแต่กำเนิด ความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของร่างกาย และปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง

ปัญหาความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพมีความสำคัญอย่างไร?

ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ อาจเป็นความผิดปกติที่ติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นในภายหลังจากความเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนรู้ของเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กบางรายจะสามารถใช้ชีวิตได้เสมือนปกติ แต่เด็กที่มีปัญหาทางร่างกายและสุขภาพแต่ละคนย่อมมีปัญหาหรืออาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นความช่วยเหลือพิเศษที่เด็กต้องการจึงแตกต่างกันตามไปด้วย เป้าหมายหลักของการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ คือ การทดแทนสิ่งที่เด็กขาด ซึ่งการช่วยเหลือย่อมบรรลุผลสูงสุดหากเด็กสามารถได้รับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยพ่อแม่และครูควรใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการให้เด็กรับประทานอาหารที่เหมาะสม รวมถึงการกระตุ้นการใช้ภาษาและการแสดงออกของเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ หนึ่งในจุดที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษสำหรับเด็กเล็ก คือ การอุ้มเด็ก (Handling) และการจัดท่าทาง (Positioning) โดยการอุ้มเด็กที่ถูกต้อง หมายถึง การจับ การประคอง การอุ้ม และการคอยช่วยเหลือ ในขณะที่การจัดท่าทางที่ถูกต้อง หมายถึง การให้การสนับสนุนร่างกายของเด็ก รวมไปถึงการจัดวางสิ่งของที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้และผ่อนคลายอย่างเหมาะสม ซึ่งการอุ้มเด็กที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายและเต็มใจรับการสอน นอกจากนี้ การจัดท่าทางก็สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้และควบคุมการใช้สิ่งของต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทักษะการสื่อสารก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น การรักษาทั้งก่อนและในวัยเรียน จึงควรให้ความสนใจในส่วนนี้เป็นพิเศษด้วยเช่นกัน โดยหากผู้ปกครองสามารถเลี้ยงลูกที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการพาลูกเข้ารับการรักษากับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ในท้ายที่สุดลูกจะไม่รู้สึกเสียใจในความผิดปกติของตน นอกจากนี้ผู้ปกครองยังสามารถช่วยให้ลูกพลิกความผิดปกตินั้นให้กลายเป็นโอกาส โดยการสนับสนุนให้ลูกเอาชนะความบกพร่องของตนเอง อันจะเป็นการผลักดันให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพอาจจะไม่มีวันหายขาดไปจากตัวเด็ก แต่ผู้ปกครองก็สามารถป้องกันไม่ให้ความผิดปกติเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อเด็กไปตลอดชีวิต โดยเด็กจะสามารถยอมรับปัญหาของตนเองได้เมื่อโตขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเสมือนไม่มีปัญหา ซึ่งบุคคลที่จะสามารถช่วยให้เด็กก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ดีที่สุดนั้น ย่อมต้องเป็นบุคคลที่รู้จักเด็กมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ “พ่อแม่”

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพได้อย่างไร?

ไม่ว่าจะตาบอด หูหนวก หรือสมองอักเสบ ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพของแต่ละบุคคลอาจเกิดขึ้นได้เสมอตั้งแต่กำเนิดหรือตลอดช่วงชีวิต แม้จะมีเพียงสัดส่วนเล็กน้อยที่เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกาย ถึงกระนั้นเด็กก็ยังสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว พ่อแม่จึงควรทำทุกวิถีทางที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้

  • เลี้ยงดูลูก ไม่ใช่สงสารหรือตามใจลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่มักทำผิดพลาดโดยการตามใจลูก อีกทั้งยิ่งลูกมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ พ่อแม่ยิ่งมักรู้สึกสงสารลูก และเลี้ยงดูลูกด้วยความสงสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากเด็กทุกคนต้องการการสนับสนุนและความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง ไม่ใช่ความสงสารหรือการตามใจ โดยในท้ายที่สุด เด็กที่ได้รับการสนับสนุนจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ได้รับความสงสาร
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ โดยสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพได้ คือ การสอนวิธีการดูแลตนเองแม้ว่าเด็กจะมีความผิดปกติก็ตาม ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองไม่สามารถทำทุกอย่างให้กับลูกได้ การถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนให้เด็กพึ่งพาตนเองจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในฐานะเครื่องยืนยันการมีสุขภาพที่ดีของลูกในอนาคต
  • สอนให้ลูกมองชีวิตให้กว้างขึ้น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพมักรู้สึกขาดความมั่นใจและตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกในด้านลบดังกล่าว ผู้ปกครองควรสอนให้ลูกมองข้ามความผิดปกติในปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เด็กมองตัวเอง โดยปลูกฝังให้เขานึกถึงอนาคตที่ไกลตัวออกไป ทันทีที่เด็กเข้าใจว่าความคิดของตนมีส่วนทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม เด็กก็จะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความสุข
  • ให้การสนับสนุนลูกด้วยเครื่องมือที่จำเป็น ผู้ปกครองที่สอนให้ลูกก้าวข้ามความบกพร่องของตนเอง รวมทั้งจัดหาเครื่องมือที่ช่วยสนองความต้องการพิเศษของลูก ถือว่ามีส่วนช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในอนาคตอย่างมาก โดยพ่อแม่ที่ผลักดันให้ลูกไปโรงเรียน พร้อมทั้งช่วยเหลือให้ลูกได้รับทุกสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการด้านต่างๆ จนกระทั่งเด็กโตพอที่จะดูแลตนเองได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว และความสำเร็จของลูกก็คงอยู่ไม่ไกลเกินไป
  • สร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว หากผู้ปกครองรักลูก ก็ควรจะหาโอกาสใกล้ชิดกับลูกให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพอาจเป็นสาเหตุของปัญหาความเข้าใจและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อีกทั้งเด็กที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่มักสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีความสุขในอนาคต
  • ไม่ละเลยลูก ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม พ่อแม่ทุกคนควรให้ความสนใจลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เพราะการละเลยหรือไม่ใส่ใจถือเป็นการทำร้ายลูกทางหนึ่ง แม้ว่าผู้ปกครองจะไม่ทราบก็ตาม ทั้งนี้เพราะการกระทำที่บ่งบอกถึงการละเลยอาจส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเป็นผู้ตอบข้อซักถาม รวมทั้งตอบรับคำร้องขอของลูกอยู่เสมอ

เกร็ดความรู้เพื่อครู

  • ศึกษาเกี่ยวกับความบกพร่องของทางร่างกายและสุขภาพรวมทั้งผลกระทบต่อตัวเด็ก และข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ
  • ให้ความรู้กับเด็กคนอื่นๆ เกี่ยวกับความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ รวมถึงความต้องการพิเศษที่เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพควรได้รับ พร้อมกับเน้นถึงความสามารถที่เด็กกลุ่มนี้สามารถกระทำได้ เพื่อให้เด็กมองเห็นความสำคัญของเพื่อนที่ด้อยกว่าตน
  • จัดสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนให้เอื้อต่อเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ โดยควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อให้เด็กสามารถใช้พื้นที่ในการประกอบกิจกรรมได้อย่างราบรื่น อีกทั้งควรจัดให้มีที่สำหรับจัดเก็บอุปกรณ์อำนวยความสะดวกของเด็ก
  • ปรับรูปแบบกิจกรรมเพื่อให้เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพเข้าร่วมได้
  • โดยปกติแล้ว เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพไม่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมนอกหลักสูตรปกติของโรงเรียน แต่หากมีความจำเป็น การศึกษาพิเศษที่ควรได้รับ ได้แก่ การฝึกการเคลื่อนไหว (Mobility training) หรือการสอนทักษะการเขียน (Writing skills)
  • แลกเปลี่ยนความรู้สึกกับเด็กอย่างอย่างจริงใจและเปิดเผย อีกทั้งควรส่งเสริมให้เด็กแสดงออกทางความคิดหรือความรู้สึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กรู้สึกเศร้าหรือเครียด
  • ช่วยเด็กในการปรับตัว โดยปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กมากที่สุด เช่น อนุญาตให้เด็กเข้าเรียนได้สายกว่าปกติ หรือจัดให้มีเพื่อนที่ต้องคอยช่วยเหลือเด็กเมื่อฉุกเฉิน เป็นต้น
  • สนับสนุนให้เด็กช่วยเหลือตนเองในสิ่งที่เขาสามารถกระทำเองได้ เพื่อให้เด็กรับรู้ความสามารถของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เด็กพึ่งพาตนเอง เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้า การรับประทานอาหาร เป็นต้น
  • อำนวยความสะดวกแก่เด็กตามความเหมาะสม หรือเปิดโอกาสให้เด็กเลือกวิธีในการทำกิจกรรม เช่น เด็กที่มีปัญหาในการเขียน ครูอาจให้เด็กโต้ตอบได้ด้วยการพูด เป็นต้น
  • สนับสนุนกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือการพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกายของเด็กอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กมีความแข็งแรง คล่องแคล่ว และเกิดความชำนาญในการประกอบกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นผู้เขียน: ปัณณ์พัฒน์ จันทร์สว่าง และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็กขอบคุณ : https://taamkru.com

 


ย้อนกลับ