มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ลูกมีความบกพร่องทางการมองเห็น (Visual Impairment in Children)


ความบกพร่องทางการมองเห็น (Visual Impairment) คือการสูญเสียการมองเห็น (Vision Loss) จนถึงระดับหนึ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสามารถในการมองเห็นที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งอาจเกิดจากโรค (Disease) การบาดเจ็บ (Trauma) รวมถึงความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด (Congenital conditions) หรือเสื่อมสภาพในภายหลัง (Degenerative conditions)

ในปัจจุบันเด็กจำนวน 1 ใน 5 ประสบปัญหาเกี่ยวกับความบกพร่องในการมองเห็น อย่างไรก็ตามเด็กมักไม่รู้ว่าตนเองมีความบกพร่องทางการมองเห็น เนื่องจากเด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมากับอาการดังกล่าวโดยไม่รู้ว่าการมองเห็นที่ปกตินั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งยังมักเข้าใจว่าคนอื่นก็เห็นโลกในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากที่เขาเห็นเช่นกัน

ปัญหาในการมองเห็นของเด็กอาจติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่ส่วนใหญ่มักเริ่มเมื่อเด็กอายุ 18 เดือนถึง 4 ขวบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้นจนถึงวัยเรียนและสายตาพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่ออายุ 10 ปีหรือแม้กระทั่งโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุและสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็อาจเป็นสาเหตุของปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นได้

ความบกพร่องทางการมองเห็นย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งในทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากการเรียนรู้พัฒนาการทางด้านต่างๆและทักษะการใช้ชีวิตของเด็กล้วนเชื่อมโยงกับการมองเห็น ดังนั้นเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจึงอาจมีพัฒนาการที่ไม่ปกติหรือไม่สมบูรณ์พร้อม อีกทั้งมักจะมีนิสัยขี้หงุดหงิดและพฤติกรรมเกรี้ยวกราดอันเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจในข้อจำกัดของตนเอง

เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมีลักษณะอย่างไร?

ในวงการการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้ศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับความผิดปกติของสายตาอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับแบ่งกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นตามลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งได้แก่

  1. กลุ่มที่มองเห็นได้บางส่วน (Partially Sighted) หมายถึง เด็กที่มีปัญหาทางการมองเห็นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นคำที่นิยมใช้ในบริบททางการศึกษาเพื่อสื่อถึงภาวะการมองเห็นที่ไม่สมบูรณ์มากกว่าความพิการ เด็กบางส่วนในกลุ่มนี้อาจต้องได้รับการศึกษาพิเศษ
  2. กลุ่มสายตาเลือนราง (Low Vision) หมายถึง กลุ่มที่มีปัญหาทางการมองเห็นที่รุนแรง คือไม่สามารถอ่านหนังสือพิมพ์ในระยะปกติได้แม้จะใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ในการเรียนรู้ เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้การมองเห็นร่วมกับประสาทสัมผัสอื่นๆรวมถึงใช้การช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การปรับแสง ขนาดตัวอักษร หรือแม้กระทั่งการใช้อักษรเบรลล์ ความผิดปกติส่วนใหญ่ของกลุ่มสายตาเลือนราง แบ่งเป็น ภาวะสายตาสั้น (Myopic) และภาวะสายตายาว (Hyperopic)
  3. กลุ่มพิการทางสายตาตามกฎหมาย (Legally Blind) หมายถึงผู้ที่มีระดับการมองเห็นต่ำกว่า 20/200 หลังจากที่ใช้อุปกรณ์ช่วยในการมองเห็นแล้ว รวมทั้งมีลานสายตา (Visual Field) สูงสุดไม่เกิน 20 องศา
  4. กลุ่มตาบอดสนิท (Totally Blind) เป็นความบกพร่องทางการมองเห็นระดับรุนแรงที่สุด เด็กต้องเรียนรู้ผ่านอักษรเบรลล์ (Braille) หรือสื่อที่รับได้โดยไม่ต้องมองเห็น (Non-visual media)

โดยปกติแล้ว เด็กจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้าทางสายตา (Visual stimuli) เมื่ออายุได้ 6 – 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากอายุได้ 2 – 3 เดือน แต่ไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อแสงเข้าตา หรือไม่สนใจวัตถุที่มีสีสัน หรือมีอาการผิดปกติของดวงตาปรากฏขึ้น เช่น ตาเหล่ (Crossed-eyes) พ่อแม่ควรพาลูกเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที ซึ่งอาการที่มักปรากฏหากเด็กมีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็น ได้แก่

  • เด็กขยี้ตาบ่อยเพราะรู้สึกคัน
  • ตาแพ้แสงอย่างรุนแรง
  • โฟกัสการมองเห็นได้ไม่ดี ทำให้เด็กต้องเพ่งสายตาหรือกระพริบตาบ่อย ซึ่งบางครั้งเด็กอาจปิดตาข้างที่ไม่ชัดเวลาดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ
  • มองเห็นภาพซ้อน วิงเวียนศีรษะ
  • มองตามวัตถุได้ไม่ดี
  • ตาแดงเรื้อรัง
  • น้ำตาไหล
  • ตาเป็นหนอง มีขี้ตา
  • มีจุดสีขาว สีขาวอมเทา หรือสีเหลืองในตาดำ
  • การจัดเรียงแนวของดวงตาและการเคลื่อนของตาทั้ง 2 ข้างไม่สัมพันธ์กัน (หลังจากอายุ 6 ปี)

    ความบกพร่องทางการมองเห็นมีสาเหตุมาจากอะไร?

    ปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นในเด็กเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุและมักมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก ทั้งนี้สามารถจำแนกสาเหตุของปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะดังนี้

    1. กรรมพันธุ์ (Heredity) โดยความผิดปกติจะสามารถถ่ายทอดมาถึงเด็กได้หากครอบครัวมีประวัติสุขภาพของครอบครัว (Family History) ที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อ (Familial Cataract) โรคกล้ามเนื้อจอตาเจริญผิดเพี้ยน (Retinal dystrophies) และมะเร็งจอตา (Retinoblastoma)
    2. ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน (Rubella) และโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
    3. ระหว่างคลอด เช่น โรคจอตาผิดปกติอันเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of prematurity) และอาการเยื่อบุตาอักเสบในเด็กแรกเกิด (Newborn Conjunctivitis)
    4. ในวัยเด็ก เช่น การขาดแคลนวิตามินเอ (Vitamin A Deficiency) โรคหัด (Measles) ตาอักเสบ (Eye Infection) ยารักษาตาแผนโบราณ (Traditional eye medicines) และอุบัติเหตุ (Injuries)

    ปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นมีความสำคัญอย่างไร?

    คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าดวงตาคือหนึ่งในอวัยวะของร่างกายที่มีความสำคัญมากหรืออาจจะสำคัญที่สุด โดยลักษณะสำคัญของปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นคือ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดาหรือตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจะยังไม่สามารถบอกอาการผิดปกติให้พ่อแม่รับฟังได้ หรือต่อให้เด็กอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียนซึ่งเป็นวัยที่พูดได้ไม่หยุด หรือแม้กระทั่งเข้าสู่วัยเข้าเรียนแล้วก็ตาม เด็กก็อาจจะไม่สามารถอธิบายอาการได้ ทั้งนี้เพราะเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นมักมองไม่เห็นปัญหาของตนเอง และจะสามารถปรับตัวจนยอมรับการมองโลกในแบบที่เขาเห็นได้โดยรู้สึกเป็นเรื่องปกติ

    สำหรับเด็กกลุ่มที่ไม่ได้มีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นที่รุนแรงถึงขั้นตาบอด ความสำคัญหรือจุดประสงค์ของการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาก็คือ การทำให้เด็กมองเห็นได้เป็นปกติเพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และเป็นการกำจัดปัญหาที่อาจเรื้อรังและส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่ไม่เคยมีโอกาสได้มองเห็นโลกตั้งแต่แรกเกิด หรือโชคร้ายที่มีโอกาสมองเห็นความสวยงามของโลกได้เพียงไม่นานก่อนความมืดมิดกลืนกินโลกทั้งใบของเขาไปนั้น โอกาสที่จะช่วยให้เด็กกลับมามองเห็นได้เป็นปกตินั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับเด็กกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ สถิติระบุว่าในจำนวนผู้ป่วยตาบอดทั้งหมด 45 ล้านคน ประมาณ 1.4 ล้านคนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี โดยเด็กที่ตาบอดส่วนใหญ่มักเริ่มตาบอดตั้งแต่ก่อนอายุ 5 ขวบซึ่งเป็นช่วงอายุที่กว่า 75%ของการเรียนการสอนต้องอาศัยความสามารถในการมองเห็น

    สังเกตได้ว่าเด็กที่ตาบอดจะขาดโอกาสและมีข้อจำกัดหลายอย่างในชีวิต ดังนั้น การเติมเต็มให้กับเขาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กสามารถกระทำการต่างๆได้ทัดเทียมกับเด็กทั่วไปและสามารถดำรงชีวิตได้เฉกเช่นคนสามัญ พ่อแม่และครูต้องมอบทักษะชีวิตให้กับเด็ก และสำคัญที่สุด ความรัก ความเข้าใจ และความเอาใจใส่ ย่อมถือเป็นองค์ประกอบหลักของการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กที่มีความผิดปกติในการมองเห็น และพิสูจน์ให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วเขาก็สามารถมีชีวิตที่ดีได้ไม่ต่างไปจากเด็กทั่วไป

    พ่อแม่ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้อย่างไร?

    ในการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็นของลูก ปัจจัยเรื่องเวลาและความเอาใจใส่ถือเป็นหัวใจสำคัญ พ่อแม่ควรอดทนและเข้าใจลูก รวมทั้งย้ำเตือนตัวเองว่าทั้งหมดที่ทำไปก็เพื่อให้ลูกกลับมามองเห็นได้ดีดังเดิม ซึ่งหากลูกได้รับการดูแลที่ดีจนสิ้นสุดการรักษา ลูกย่อมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และคนที่จะรู้สึกภูมิใจที่สุดก็คงไม่ใช่ใคร นอก จาก “พ่อแม่” ทั้งนี้วิธีการที่ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางมองเห็นของลูก ได้แก่

    • สังเกตพฤติกรรมการมองเห็นของลูกตั้งแต่แรกเกิด หากมีความผิดปกติให้พบแพทย์ทันที
    • หากคนครอบครัวมีประวัติของโรคอันเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางการมองเห็น พ่อแม่ยิ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถถ่ายทอดกันได้ในครอบครัว
    • อย่างน้อยที่สุด พ่อแม่ควรพาลูกไปตรวจการมองเห็น (Vision Screening) ครั้งแรกเมื่อลูกอายุ 3 ขวบ
    • ยึดหลักการ “ยิ่งเร็ว ยิ่งดี” เพราะยิ่งเจอปัญหาไว ยิ่งเข้ารับการรักษาไว ก็ยิ่งหายได้ไว
    • เมื่อลูกโตพอที่จะสื่อสารได้ พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และควรทดสอบสภาพการมองเห็นของลูกอยู่เสมอ
    • ไม่นิ่งนอนใจเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ขยี้ตา และควรห้ามลูกไม่ให้ไปสัมผัสดวงตา เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
    • หากลูกได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาความบกพร่องทางการมองเห็น พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
    • ในกรณีที่ลูกตาบอดสนิทถือว่าเขาขาดโอกาสในการมองเห็นไปตลอดชีวิต จึงเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ต้องเติมเต็มลูกด้วยความรักและสอนทักษะการใช้ชีวิตให้กับเขา
    • นอกจากจะต้องคอยเติมกำลังใจให้ลูกแล้ว พ่อแม่ก็ควรเติมกำลังใจให้แก่กันด้วย อย่าปล่อยให้ตนเองเครียดกับปัญหาเหล่านี้ ฝึกคิดเชิงบวกและเป็นตัวอย่างในการคิดเชิงบวก เพื่อจะได้มีแรงส่งเขาไปได้ตลอดรอดฝั่งจนเขาสามารถพึ่งตัวเองได้
    • หาความรู้เพิ่มเติม เช่น เข้ากลุ่มกับผู้ปกครองของเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อแนะนำและกำลังใจ
    • สนับสนุนให้ลูกใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ เช่น อักษรเบรลล์ หนังสือออกเสียงได้ และใช้สื่ออื่นๆ เช่น ซีดี ในการเรียนรู้
    • ส่งเสริมทักษะอื่นๆที่ลูกสามารถทำได้เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ เช่น ศิลปะ กีฬา ดนตรี รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกทักษะทางวิชาชีพต่อไปในอนาคต

      เกร็ดความรู้เพื่อครู

      โดยปกติแล้ว แม้แต่เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นประเภทตาบอดสนิทก็สามารถเรียนรู้ได้ดีไม่แพ้เด็กปกติ อีกทั้งยังสามารถเรียนร่วมกันได้ด้วย เพียงแต่ครูจะต้องผลิตและใช้สื่อการสอนให้เหมาะกับเด็ก เช่น ใช้สื่อที่รับได้โดยไม่ต้องใช้สาย ตา (Non-visual media) หรือในกรณีที่เด็กมีความผิดปกติทางการมองเห็นเพียงเล็กน้อย ครูก็ควรพิถีพิถันในการเลือกใช้ตัว อักษร โดยให้มีขนาดใหญ่พอที่เด็กจะมองเห็นได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เด็กย่อมมีข้อจำกัดในการเรียนรู้บางเนื้อหาหรือกิจกรรม เช่น การเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งนี้เพราะเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นมักมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป และการเล่นกีฬาหลายชนิดยังจำเป็นต้องใช้สายตาเป็นหลักอีกด้วย ถึงกระนั้นครูก็ควรให้เด็กลองทำทุกกิจกรรมเพื่อให้เขาเกิดความรู้ ความเข้าใจ แต่หากเด็กไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้ ครูก็ควรให้เด็กหยุด มิเช่น นั้นแล้วอาจทำให้เขาหงุดหงิดเพราะไม่พอใจความสามารถของตนเอง ครูอาจแก้ไขสถานการณ์โดยเปลี่ยนให้นักเรียนไปทำกิจกรรมที่ตนถนัด ทั้งนี้ครูควรสังเกตและจดจำสิ่งที่เขาทำได้ดี พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักเรียนทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างทักษะความชำนาญ ที่สำคัญเด็กมักมีพรสวรรค์มาทดแทนส่วนที่เขาขาดเสมอ ดังนั้นหากครูสามารถช่วยให้นักเรียนพัฒนาได้ เขาย่อมรู้สึกภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้น

      สำหรับกรณีที่เด็กอยู่ในขั้นตอนของการรักษาอาการบกพร่องทางสายตา ครูก็ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและหมั่นสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นกับเด็ก โดยแสดงให้เห็นว่าครูเต็มใจที่จะช่วยเหลือเขาเสมอ และสนับสนุนให้เด็กนักเรียนที่มีสายตาปกติและเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ มีความเป็นมิตร เอื้อเฟื้อต่อกัน ช่วยเหลือกัน และเช่นเดียวกับทุกๆปัญหา ครูและผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน หมั่นแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่กัน หากพ่อแม่และครูพร้อมใจกันช่วยเหลือเด็ก การแก้ปัญหาความผิดปกติของเด็กก็ถือว่าสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวและใจของเด็กรวมทั้งการรักษาทางการแพทย์ เพียงเท่านี้ปัญหาของเด็กก็จะได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์

    • ผู้เขียน: วนาลี ทองชาติ และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็ขอบคุณ: https://taamkru.com

ย้อนกลับ