มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

การนวดไทยกับเด็กพิการ

การนวดไทยกับเด็กพิการ
การนวดไทย เป็นศาสตร์และศิลป์ในการดูแลสุขภาพของชนชาติไทยที่สืบทอดมาช้านานจากการสั่งสมประสบการณ์จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งจนมีหลักในการปฏิบัติ และวิธีการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การนวดไทยเป็นการดูแลสุขภาพและรักษาอาการเจ็บป่วย โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีหลักการ การนนวดส่งผลต่อร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆกัน คือทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ยืดหยุ่นดีขึ้น และสามารถรักษาอาการปวดเมื่อยร่างกาย เช่น อาการตกหมอน ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดศีรษะ หลังตึง  ข้อแพลง สะบักจม เป็นต้น ช่วยให้สุขภาพดี สดชื่นกระปรี้กระเปร่าผ่อนคลายทั้งกายและใจไปพร้อมกัน

การนวดไทยกับเด็กพิการ นำหลักและวิธีการนวดไทยมาประยุกต์ใช้กับเด็กพิการ เพราะนวดไทยมีลักษณะเด่นหลายประการ เหมาะสมที่จะนำมาใช้แก้ไขและฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กพิการสามารถฝึกทักษะการนวดไทย เพื่อนำไปนวดให้กับเด็กพิการได้ด้วยตนเองที่บ้าน อันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้พ่อแม่หรือครอบครัวเด็กพิการสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการได้ด้วยตนเอง
การนวดไทยกับการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการนั้น ผู้นวดต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะและความชำนาญการนวดไทย และได้รับการอบรมเกี่ยวกับเด็กพิการเพื่อปรับวิธีการนวดให้เหมาะกับสภาพความพิการของเด็กแต่ละราย เพราะเด็กพิการแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

ผลของการนวดไทย กับเด็กสมองพิการ
– ลาดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้เด็กสมองพิการเกิดการผ่อนคลาย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
– ช่วยให้เด็กควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น เนื่องจากผลของการลดการเกร็ง
– กระตุ้นให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
– กระตุ้นให้ระบบอื่นๆ ทำงานได้ดีขึ้น เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหารการขับถ่ายอุจจาระเป็นต้น
– ช่วยให้เด็กหลับได้ง่าย และนานกว่าเดิม

คุณสมบัติ ของผู้ที่จะใช้นวดไทยกับเด็กพิการให้ได้ผลดีและปลอดภัย
– มีความรู้ ความเข้าใจเด็กพิการ เช่น ประเภท สาเหตุ ลักษณะความพิการ ธรรมชาติและพฤติกรรมของเด็กที่เกิดจากความพิการการและการเลี้ยงดู หรือการเจ็บป่วย ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน จุดเด่น-จุดอ่อน ข้อจำกัด หรือข้อพึงระวังของเด็กแต่ละคน เช่น โครงสร้างของเด็ก การใช้ยาในเด็ก อุปกรณ์ – เครื่องช่วยความพิการในเด็กพิการแต่ละคนเป็นต้น
– มีความรู้ – ความเข้าใจ มีทักษะความชำนาญในการนวดไทยเป็นอย่างดี
– มีความรักและอ่อนโยนต่อเด็ก เป็นผู้ที่เด็กไว้วางใจ เพราะถ้าเด็กไม่วางใจ เด็กก็จะไม่ให้ความร่วมมือในการฝึก จะเกร็งและต่อต้าน ซึ่งไม่เหมาะที่จะนวด ดังนั้นผู้ฝึกจึงควรเป็นผู้ที่เด็กไว้วางใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่ ญาติ พี่ลี้ยง ซึ่งเด็กไว้วางใจ
– มีจิตวิทยาเด็ก อดทน และใจเย็น

– พิจารณาปรับใช้การนวดให้เหมาะสมกับเด็กพิการได้
– ท่าที่เหมาะสม หมายถึงท่าของเด็กและท่าของผู้นวด
– ท่าของมือ ตลอดจนการวางมือและนิ้วมือ
– ระดับและทิศทางของน้ำหนักนวด
– การใช้มือหรือส่วนอื่นของร่างกายช่วยจับประคอง

การประเมินสภาพ และจัดทำแผนการนวด
– ประเมินสภาพความพิการในทุกส่วนร่างกาย ตั้งแต่ส่วน ศีรษะ คอ บ่าไหล่ ลำตัว แขน ขา เท้า การนั่ง การทรงตัว การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นต้น เพื่อตรวจดูว่า ส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีการเคลื่อนไหว การทรงตัว หรือมีปัญหาอะไรบ้างมีข้อยึดเกร็ง – อ่อนอย่างไรบ้าง มีข้อควรระวัง มีการใช้ยา มีข้อจำกัดอะไรหรือไม่อย่างไร โดยได้รับการตรวจจากแพทย์ หรือมีการประเมินหรือปรึกษารือร่วมกันกับนักวิชาชีพหรือผู้เกี่ยวข้องกับเด็กพิการ
– จัดทำแผนการนวดเด็กพิการเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กพิการทุกคนมีสภาพความพิการและความต้องการฝึกในแต่ละส่วนร่างกายแตกต่างกันโดยจะต้องทำแผนระยะยาว หรือวางแผนเป็นระยะๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี
– ดำเนินการนวด โดยผู้นวดจะต้องผ่านการอบรมนวดไทยกับเด็กพิการ มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะการนวดไทยกับเด็กพิการก่อน แล้วจึงนำไปนวดให้กับเด็กพิการ และต้องมีการนวดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
– ติดตามประเมินผลการนวดไทย ผู้ที่เป็นหมอนวดจะต้องมีการติดตามประเมินการนวดในเด็กพิการเป็นระยะๆ เช่น ในทุก 1 เดือน หรือ 2 เดือน เพื่อติดตามพัฒนาการเด็ก หรือจัดปรับวิธีการนวด หรือท่านวด หรือจัดปรับโปรแกรมการนวดให้เหมาะสมกับเด็กมากที่สุด

ขั้นตอนการนวด
การนวดไทยกับเด็กพิการในแต่ละครั้ง ผู้นวดควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
– สร้างสัมพันธภาพกับเด็กก่อนนวด เพื่อทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจผู้นวด ให้ความร่วมมือไม่ต่อต้าน
– ตรวจสภาพเด็กก่อนนวด เด็กเจ็บป่วย/มีไข้หรือไม่ มีสภาพความพิการอย่างไรบ้าง เช่น มีอาการเกร็งมากน้อยในส่วนใดของร่างกายหรือไม่ เพราะบางครั้งผู้นวดขาดความต่อเนื่องในการนวดเด็กอาจจะมีอาการเกร็งมากหรือข้อยึด เป็นต้น
– ทำการผ่อนคลายก่อนการนวดส่วนต่างๆ ของร่างกาย
– ทำการนวดไทยตามส่วนต่างๆ ของร่างกายตามขั้นตอนการนวดในแต่ละส่วนของร่างกาย
– พิจารณา หรือจัดปรับท่านวด หรือวิธีการนวดให้เหมาะสมกับสภาพความพิการของเด็กแต่ละคน

ข้อควรระวังในการนวด
– ต้องรู้ตำแหน่งที่ต้องระวังและห้ามนวด เช่น กระหม่อมที่ยังไม่ปิด ต่อมน้ำลาย คอ ด้านหน้า หลอดเลือดใหญ่บริเวณข้างคอ ใต้รักแร้ ข้อต่อกระดูกต่างๆ เป็นต้น
– การลงน้ำหนักต้องช้าและนุ่มนวล เด็กจะได้ไม่เจ็บ ไม่ตกใจ และเกร็งต้าน
– ต้องจัดปรับท่านวดเสมอขณะนวด เพื่อให้เหมาะสมกับอารมณ์และสภาพความพิการของเด็กแต่ละราย เพื่อให้สามารถลงน้ำหนักหรือนวดได้ตรงจุดที่ต้องการนวดได้อย่างแม่นยำและมั่นคง
– ต้องช่วยประคองเด็กขณะนวด ผู้นวดต้องระมัดระวังหรือคอยประคองเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ยังนั่งไม่ได้ คออ่อน หรือควบคุมการทรงตัวไม่ได้ เพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงท่ากะทันหัน เป็นต้น
– ไม่ลงน้ำหนักขณะเด็กเกร็งบริเวณนั้น ให้เด็กผ่อนคลายก่อน หรือหยุดลงน้ำหนักบริเวณนั้นสักครู่ เมื่อเด็กไม่เกร็งต้านจึงนวดต่อไป
– ใช้การลูบ กำเป็นหลักในกรณีเด็กสมองพิการ ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
– ลงน้ำหนักการนวดให้ถูกตำแหน่ง เหมาะสมกับสภาพความพิการ ขนาดและอายุของเด็ก
– ห้ามนวดพลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ อย่างน้อย 30 นาที
– การนวดท้อง ควรนวดขณะที่ท้องว่าง
– ห้ามอาบน้ำหรือดื่มน้ำเย็นทันทีหลังการนวดอย่างน้อย 30 นาที – 1 ชั่วโมงหรือห้ามให้เด็กกระทบเย็นทันทีหลังการนวด
– ห้ามนวดเด็กพิการแบบดัด ดึง  เพราะอาจเกิดอันตรายต่างๆได้ เช่น ข้อสะโพกหลุด อวัยวะผิดรูป กระดูกหัก เป็นต้น
– นวดทั้งตัวจะได้ผลดีกว่านวดเฉพาะส่วน และเกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกาย
ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการเด็กจากการนวนไทย
– ให้การนวดอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– สภาพความเจ็บป่วยของเด็ก ถ้าเด็กป่วยบ่อย หรือมีการชักบ่อย จะส่งผลให้พัฒนาการจากการนวดช้าลง หรืออาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้
– ระดับความพิการ เด็กพิการมากหรือพิการซ้ำซ้อน ซึ่งจะต้องฟื้นฟูสมรรถภาพความพิการเป็นระยะเวลานานมากขึ้น เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาอื่นร่วมด้วย ควรมีการปรึกษาแพทย์ หรือขอคำแนะนำก่อนนวดเพื่อให้การนวดเกิดผลดีต่อเด็กมากที่สุด
– การติดตาม ประเมินความก้าวหน้า หรือปัญหานวด เพื่อจัดปรับวิธีการนวดท่านวดหรือจุดเน้นหลักรองให้เหมะสมกับสภาพความพิการของเด็กแต่ละคน

หนังสือ คู่มือการนวดไทยกับเด็กพิการ
มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ,มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา


ย้อนกลับ