มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ลูกมีความบกพร่องทางการได้ยิน (Children with Hearing Impairment)

        เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน คือ เด็กที่ไม่สามารถได้ยินได้เทียบเท่ากับบุคคลที่มีความสามารถในการได้ยินปกติที่สามารถรับฟังเสียงด้วยหูทั้ง 2 ข้างตั้งแต่ระดับ 25 เดซิเบลขึ้นไป ซึ่งจะถือว่าเป็นบุคคลที่สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 4 ระดับ คือ หูตึงน้อย (Mild) หูตึงปานกลาง (Moderately severe) หูตึงมาก (Severe) และหูตึงรุนแรง (Profound) โดยความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเกิดได้กับหูข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และเป็นสาเหตุของความยากลำบากในการได้ยินเสียงพูดหรือแม้กระทั่งเสียงที่ดังก็ตาม

หูตึง (Hard of hearing) หมายถึงภาวะที่บุคคลมีความบกพร่องทางการได้ยินในระดับน้อย (Mild) ถึงมาก (Severe) โดยทั่วไปจะสามารถพูดคุยสื่อสารได้ และยังสามารถใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aids) การแสดงคำบรรยาย (Captioning) รวมทั้งเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยการฟังและการได้ยิน (Assistive listening devices) อีกทั้งผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาก ยังสามารถใช้ประสาทหูเทียม (Cochlear implant) ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ที่ผ่าตัดฝังเข้าไปในหูส่วนในได้

หูหนวก (Deaf) หมายถึงภาวะที่บุคคลมีอาการหูตึงรุนแรง (Profound) โดยอาจได้ยินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นหรืออาจไม่ได้ยินเลย และจะสื่อสารโดยใช้ภาษามือ (Sign language)

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2556 พบว่า กว่าร้อยละ 5 ของประชากรโลก หรือประมาณ 360 ล้านคน กำลังประสบปัญหาสูญเสียการได้ยิน โดยคิดเป็นผู้ใหญ่ 328 ล้านคน และเด็ก 32 ล้านคน

ความบกพร่องทางการได้ยินอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม การติดเชื้อบางประเภท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) การได้รับยาที่ก่อให้เกิดพิษต่ออวัยวะและเส้นประสาทในการได้ยิน การฟังเสียงที่ดังเกินไป รวมไปถึงปัจจัยด้านอายุ

ทั้งนี้แม้ว่าความบกพร่องทางการได้ยินจะนำไปสู่ปัญหาทางด้านพฤติกรรม สังคม อารมณ์ และการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งยังส่งผลกระทบในระยะยาวเพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อชีวิตการทำงานในอนาคต รวมทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป อย่างไรก็ตาม งานวิจัยกล่าวว่ากว่าครึ่งของอาการหูตึงและหูหนวกสามารถป้องกันไม่ให้ลุกลามได้ หากบุคคลได้รับการรักษาที่สาเหตุด้วยสาธารณสุขมูลฐาน (Primary health care)

เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีลักษณะอย่างไร?

ภาวะความบกพร่องทางการได้ยินสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทคือ

  • การนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss) เกิดจากเสียงไม่สามารถผ่านหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นในได้ ซึ่งมักเป็นผลมาจากช่องหูถูกกีดขวางด้วยขี้หู หรือของเหลวอันเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เลือดและหนอง นอกจากนี้ อาจเกิดจากแก้วหูทะลุ รวมไปถึงความผิดปกติของกระดูกหูด้วยเช่นกัน
  • การรับเสียงบกพร่อง (Sensorineural hearing loss) เกิดจากการที่เซลล์ขนในอวัยวะรูปหอยโข่งในหูชั้นใน (Cochlea) หรือเส้นประสาทการได้ยิน (Auditory nerve) เสียหาย ทั้งที่เสื่อมไปตามอายุและเป็นผลมาจากการบาดเจ็บ
  • ความบกพร่องแบบผสม (Mixed hearing loss) เป็นลักษณะความผิดปกติร่วมกันระหว่างการนำเสียงบกพร่องและการรับเสียงบกพร่อง

โดยเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับประสาทสัมผัสทางหู ย่อมหมายถึงการใช้ชีวิตที่ผิดปกติตามไปด้วย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในเด็กอันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการได้ยินมักได้แก่

  • เด็กมีพัฒนาการทางสังคมที่ช้า
  • เด็กขาดความภูมิใจและมั่นใจในตนเอง ซึ่งอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวอีกด้วย
  • เนื่องจากเด็กมีปัญหาในการฟัง การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก ส่งผลให้เด็กไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมหรือเล่นสนุกกับเพื่อนได้
  • เด็กรู้สึกแตกต่างไปจากคนอื่น เพราะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือฟังเพลงได้เหมือนเพื่อน
  • เด็กรู้สึกอาย เนื่องจากตนเองจำเป็นต้องตะโกนเวลาพูด ซึ่งอาจทำให้เด็กกลัวการสนทนา และแยกไปอยู่คนเดียว
  • เด็กมักมีพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารที่ช้าและบกพร่อง
  • เด็กกลัวการพูดผิดจึงยิ่งระมัดระวังเวลาพูด ส่งผลให้ไม่กล้าพูด
  • เด็กมีปัญหากับเพื่อนเนื่องจากสื่อสารกันไม่เข้าใจ หรือเกิดความหงุดหงิดจากความไม่เข้าใจ
  • เด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินจำนวนประมาณ 1 ใน 3 มักขาดการยับยั้งชั่งใจและไม่สนใจการเรียน
  • เด็กหลายรายลาออกจากโรงเรียนเพราะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ เป็นเหตุให้เด็กขาดการศึกษาอันจะส่งผลต่อไปยังอนาคตการทำงาน
  • เด็กขาดความปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากไม่สามารถรับรู้สัญญาณอันตรายที่แจ้งเตือนทางเสียงได้

ความบกพร่องทางการได้ยินมีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุของปัญหาความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยอันเกิดแต่กำเนิด (Congenital causes) และปัจจัยที่ได้รับมาหลังกำเนิด (Acquired causes)

  • ปัจจัยอันเกิดแต่กำเนิด (Congenital causes) นำไปสู่ภาวะบกพร่องทางการได้ยินในทันทีหลังกำเนิด หรือหลังกำเนิดเพียงเล็กน้อย โดยอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ (hereditary genetic factors) ปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ (non-hereditary genetic factors) หรืออาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อน (complications) ตอนอยู่ในครรภ์ รวมทั้งในช่วงแรกเกิด ซึ่งโดยทั่วไป สาเหตุของความบกพร่องทางการได้ยินอันเกิดแต่กำเนิด มักได้แก่
    • โรคหัดเยอรมัน (Rubella) ซิฟิลิส (Syphilis) หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ อันเกิดต่อมารดาในขณะตั้งครรภ์
    • ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
    • ภาวะขาดออกซิเจนแรกคลอด (birth asphyxia)
    • การใช้ยาที่ก่อให้เกิดพิษต่ออวัยวะและประสาทในการได้ยินอย่างไม่เหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ เช่น อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นต้น
    • เด็กเป็นโรคดีซ่านฉับพลัน (Severe Jaundice) ในช่วงแรกเกิด ซึ่งสามารถทำลายเส้นประสาทการในได้ยินของทารกได้
  • ปัจจัยที่ได้รับมาหลังกำเนิด (Acquired causes) สามารถนำไปสู่ภาวะบกพร่องทางการได้ยินได้ในทุกช่วงอายุ ซึ่งมักได้แก่
    • โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ อาทิเช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคหัด (Measles) และโรคคางทูม (Mumps) สามารถนำไปสู่ภาวะหูตึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดในเด็ก
    • การติดเชื้อเรื้อรังในหู ซึ่งมักแสดงออกมาในลักษณะโรคหูน้ำหนวก (Discharging ears) โดยนอกจากจะนำไปสู่ภาวะหูตึงแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ฝีในสมอง (Brain abscesses) และโรคหัด
    • การสะสมของของเหลวในหู จนทำให้หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)
    • การใช้ยาที่ก่อให้เกิดพิษต่ออวัยวะและประสาทในการได้ยินไม่ว่าในช่วงวัยใดก็ตาม เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหูชั้นใน
    • ความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นต่อศีรษะหรือหู
    • การฟังเสียงที่ดังเกินไปอย่างต่อเนื่อง
    • อาการหูตึงที่แปรผันไปตามอายุ หรือ อาการประสาทหูบกพร่องในวัยชรา (Presbycusis) ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของเซลล์อันเกี่ยวกับกระแสประสาท
    • ขี้หู รวมทั้งสิ่งแปลกปลอมที่ขวางอยู่ในช่องหูก็สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินได้ในบุคคลทุกวัย เพียงแต่ลักษณะความหูตึงจากสาเหตุนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงระดับน้อย และสามารถแก้ไขได้ในทันที

ทั้งนี้ สำหรับเด็กแล้ว การสะสมของของเหลวในหู จนทำให้หูชั้นกลางอักเสบถือเป็นสาเหตุหลักอันนำไปสู่ปัญหาความบกพร่องทางการได้ยิน

ปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินมีความสำคัญอย่างไร?

พัฒนาการทางด้านภาษาและการสื่อสารถือเป็นหัวใจของพัฒนาการของเด็ก ซึ่งความบกพร่องทางการได้ยิน และความไม่เข้าใจความต้องการพื้นฐานของเด็กหูหนวกหรือหูตึง เปรียบเสมือนกำแพงขวางกั้นพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และสติปัญญา และกีดขวางไม่ให้เด็กได้มีพัฒนาการจนเป็นศักยภาพ

นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีแนวโน้มในการต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว อีกทั้งยังมักตกเป็นผู้ถูกรังแกหรือถูกใช้ความรุนแรง มีผลการเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ และเมื่อโตขึ้นก็มักไม่ได้รับเข้าทำงาน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กโดยตรง น่าตกใจที่เด็กหลายรายนอกจากจะขาดโอกาสในการมีชีวิตที่ดีเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนแล้ว ยังต้องขาดโอกาสในการมีชีวิตที่เป็นปกติ เพราะปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินสามารถส่งผลกระทบไปสู่ปัญหาการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะความบกพร่องทางการได้ยินถือเป็นความผิดปกติที่สามารถหลีกเลี่ยง ป้องกัน และสามารถรักษาได้ หรืออย่างน้อยที่สุด เทคโนโลยีปัจจุบันก็สามารถช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินบ้างไม่มากก็น้อย

โดยหากแม่ผู้ตั้งครรภ์รักษาสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งระมัดระวังเรื่องการรับประทานยา ปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินซึ่งอาจเกิดกับลูกย่อมสามารถป้องกันได้ล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อเด็กยังอยู่ในครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากเด็กเกิดมาพร้อมความผิดปกติ หรือความเสี่ยงอันจะนำไปสู่ปัญหาความบกพร่องทางการได้ยิน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การวินิจฉัยและตรวจพบความผิดปกติ รวมทั้งการรักษาในทันทีย่อมสามารถป้องกันปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเด็กที่มีปัญหาในลักษณะการนำเสียงบกพร่อง อันเกิดจากการอักเสบที่มีของเหลวไหลออกมาร่วมด้วย (Glue ear) หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะสามารถหายขาดได้ภายใน 3 เดือน หรือร้อยละ 95 จะหายขาดได้ภายใน 1 ปี โดยปกติ ปัญหามักจะไม่เรื้อรังไปจนเด็กพ้นวัยเด็ก เพราะมิเช่นนั้นย่อมหมายถึงภาวะความผิดปกติของหูที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าได้

ทั้งนี้ แม้ว่าเด็กจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอย่างถาวร แต่หากการวินิจฉัยดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงแรกของชีวิต และเด็กได้ใช้เครื่องช่วยฟังตั้งแต่เนิ่นๆ (ก่อนอายุ 6 เดือน) หรือได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการดูแลเอาใจใส่ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์ โอกาสที่เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านภาษา การพูด สังคม และอารมณ์ที่ดีก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้อย่างไร?

เพื่อช่วยให้ลูกที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น สามารถเข้าใจว่าอะไรถูกหรือผิด สามารถเรียนรู้ทักษะชีวิตสำหรับแก้ปัญหา และสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้หน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองได้ พ่อแม่ถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องมีบทบาทใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดในการสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับเขา ซึ่งวิธีการที่พ่อแม่จะสามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้นั้น มีดังต่อไปนี้

  • แสดงความรักต่อลูก เพราะเมื่อลูกรู้สึกตนเองเป็นที่รัก ย่อมอยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ โดยพ่อแม่สามารถแสดงความรักผ่านทางสีหน้า สายตา คำพูด รวมถึงการสัมผัส เช่น กอดหรือหอม สำหรับเด็กโตที่อาจจะรู้สึกเขินอายกับการแสดงความรัก พ่อแม่อาจเปลี่ยนมาเป็น การใช้เวลาดีๆ ร่วมกันกับเขา เช่น การทำอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ปฏิบัติสิ่งเดิมๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกคาดเดาการกระทำของพ่อแม่ได้ เนื่องจากเด็กต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยจากสถานการณ์ที่ถาวร ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรปฏิบัติหรือพูดในสิ่งเดิมๆ เมื่อสถานการณ์เหล่านั้นที่ลูกคุ้นเคยมาถึง
  • สื่อสารให้ชัดเจน พ่อแม่ควรแน่ใจว่าลูกได้รับสารตามที่พ่อแม่ต้องการสื่อ อาจจะทดสอบโดยการให้ลูกพูดทวนในสิ่งที่พ่อแม่พูดตามความเข้าใจ สำหรับเด็กเล็กควรได้รับการสะกดคำทีละตัว และการสอนเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น คำว่า “การแบ่งปัน” ผู้ปกครองควรใช้วิธีแสดงตัวอย่างให้ลูกเห็น
  • เข้าใจปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก พ่อแม่ต้องเป็นนักสังเกตที่ดีและตั้งคำถามว่าพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกหมายถึงอะไร เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน และกับใคร อีกทั้งพิจารณาว่าสาเหตุของพฤติกรรมคืออะไร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกเมื่อหิว เหนื่อย ไม่พอใจเมื่อการสนทนาล้มเหลว ความรู้สึกไม่มั่นใจ การเรียกร้องความสนใจ เป็นต้น ทั้งนี้พ่อแม่จะได้รับมือได้อย่างเหมาะสม
  • มองหาด้านดีในตัวลูกและชมเชย แม้เป็นสิ่งเล็กๆ เช่น การเดินอย่างระมัดระวัง และพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าไม่ การปฏิเสธ หรือการตำหนิ
  • คำนึงถึงความปลอดภัย เนื่องจากธรรมชาติของเด็กคือความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นพ่อแม่ควรจัดหาสิ่งที่เหมาะสมสำหรับการทดลองและเรียนรู้ของลูกเพื่อให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยที่สุด การคำนึงถึงความปลอดภัยยังสามารถปรับใช้เมื่อลูกโตขึ้นได้ด้วย โดยเปลี่ยนเป็นกฎที่ลูกควรเข้าใจ ต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติตาม
  • ตั้งกฎเกณฑ์อย่างสมเหตุสมผล เช่น เมื่อเด็กยังเล็ก พ่อแม่ไม่ควรตั้งกฎเกณฑ์มากเกินไป เพราะลูกสามารถจำได้เพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น รวมถึงการใช้ภาษาในการสอนหรือตักเตือนก็ควรเป็นภาษาที่ง่ายและตรงไปตรงมา จนเมื่อเด็กโตขึ้น กฎเกณฑ์ก็อาจเพิ่มขึ้นตาม โดยพ่อแม่ควรตั้งกฎเกณฑ์ให้อยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งหากเด็กแสดงความรับผิดชอบและสามารถทำให้พ่อแม่มั่นใจได้ ลูกก็ควรได้รับการตอบแทนหรือการอนุญาตให้กระทำสิ่งต่างๆ แต่หากลูกขาดความรับผิดชอบ ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องเข้มงวด จนกว่าลูกจะพิสูจน์ให้พ่อแม่ไว้เนื้อเชื่อใจได้อีกครั้ง
  • ลดความตึงเครียดของอารมณ์และสถานการณ์ โดยปกติ ความหงุดหงิดและอารมณ์ฉุนเฉียวของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มักเกิดจากการที่ตนสื่อสารแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ พ่อแม่จึงควรหาทางแก้ไข โดยช่วยหาทางเลือกให้ลูกใช้ประกอบการสื่อสาร เพื่อที่จะสามารถสื่อสารได้ดี นอกจากนี้พ่อแม่ควรเข้าไปขัดขวางลูกก่อนที่จะไม่สามารถระงับอารมณ์ตนเองได้ โดยควรพูดคุยกับเขาและร่วมแก้ไขปัญหาในขณะที่เขายังใจเย็นอยู่
  • สอนทักษะการแก้ปัญหาที่ดีให้กับลูก ทั้งนี้พ่อแม่ต้องช่วยให้ลูกสามารถแยกแยะวิธีการแก้ปัญหาที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ โดยการอธิบายให้เขาข้าใจ แล้วตั้งคำถามกับลูกว่าหากปัญหาเกิดขึ้นอีก ลูกควรแก้ไขด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสม หรือพ่อแม่อาจมีข้อเสนอแนะให้เขาด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ พ่อแม่ควรบอกไปเลยว่าลูกควรแก้ปัญหาอย่างไร
  • ไม่แสดงปฏิกิริยาที่มากเกินไป หรือเด็ดขาดเกินไปเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาลักษณะอื่นอีก
  • เข้าพบผู้เชี่ยวชาญเมื่อมีความจำเป็น เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินร้อยละ 5 ถึง 15 มีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง ดังนั้นในเด็กรายดังกล่าว การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจึงถือเป็นการแก้ไขที่เหมาะสมประการหนึ่ง
  • มีความอดทนทั้งต่อเด็กและต่อตนอง พ่อแม่ควรยอมรับข้อผิดพลาดของลูกและย้ำเตือนกับตัวเองว่าข้อผิดพลาดเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ และที่สำคัญที่สุด ความมั่นคง ความอดทน และความรักของพ่อแม่ ย่อมสามารถผลักดันให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และพึ่งพาตนเองได้

เกร็ดความรู้เพื่อครู

การเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กถือเป็นปัจจัยสำคัญ เด็กที่มีปัญหาบกพร่องทางการได้ยินควรได้รับพัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์จากการศึกษา ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและพัฒนาทักษะทางสังคม โดยครูสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้ดังนี้

  • สร้างโอกาสให้เด็กได้รวมกับเพื่อนคนอื่นๆ ผ่านการทำงานกลุ่ม โดยควรให้เด็กได้พบกับเพื่อนที่หลากหลายและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้ง
  • ส่งเสริมทักษะการสื่อสารที่ดีในห้องเรียน โดยการคำนึงถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งครูควรเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติแก่นักเรียน
  • พิจารณาการจัดห้องเรียนอย่างเหมาะสม โดยจัดให้เด็กนั่งกับเพื่อนที่สามารถช่วยเหลือเขาได้
  • สนับสนุนให้เพื่อนช่วยเพื่อน
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองและประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาถนัด
  • นำตัวละครที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาแทรกในบทเรียน อย่างไรก็ตาม ครูควรพิจารณาให้ดี มิเช่นนั้น เด็กอาจรู้สึกว่าตนเองแตกต่างไปจากเพื่อน จากการที่ครูให้ความสนใจกับเขามากเกินไป
  • เชิญวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาความบกพร่องทางการได้ยิน
  • คอยสังเกตพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็ก
  • ครูอาจจัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการสื่อสารและภาษามือสำหรับเด็กที่ได้ยินปกติผู้เขียน: วนาลี ทองชาติ และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็ก
    ขอบคุณ : https://taamkru.com

ย้อนกลับ