มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

แม่นิดและน้องฟ้า สวนบำบัด…กระบวนการเรียนรู้สู่ความสุข

ชุดความรู้ ประสบการครอบครัวเด็กพิการและบุคลากรด้านความพิการ สนับสนุนโดย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบสวนบำบัดที่เหมาะสมกับเด็กพิการ และครอบครัว สู่การมีส่วนร่วมของชุมชน และท้องถิ่น

แม่นิด คุณแม่ของน้องฟ้า แม่นิดเป็นคุณแม่นักกิจกรรมบำบัด ผู้ใช้กิจกรรมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ และกระบวนการสวนบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายลูกของตนเองและเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในศูนย์การเรียนเฉพาะคนพิการ เขตหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยแม่นิดค้นพบว่ากิจกรรมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ และกระบวนการสวนบำบัด ไม่ได้มีประโยชน์แค่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายของเด็กเท่านั้น แต่กระบวนการสวนบำบัดช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความสงบสุขผ่านธรรมชาติรอบตัว และช่วยบำบัดจิตใจของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองให้อารมณ์ดีมีความสุขมากขึ้นได้ กระบวนการกลุ่มและกิจกรรมสวนบำบัดทำให้แม่นิดค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนทัศนคติของตนเองจากแม่ที่ไม่รู้ว่าลูกพัฒนาได้ จากแม่ที่ไม่เชื่อมั่นในความเป็นแม่ของตนเอง แม่นิดพัฒนาตนเองมาเป็นแม่ที่มีความสุขใจเมื่อได้เห็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของลูกในแต่ละวัน รวมถึงได้จัดกิจกรรมกลุ่มช่วยเหลือฟื้นฟูให้กับเด็กคนอื่นๆ และช่วยประคับประคองจิตใจของพ่อแม่ผู้ปกครองให้กลับมาเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักที่มีต่อลูกได้อีกครั้ง

สาเหตุความพิการที่ไม่คาดฝัน แม่นิดมีลูก 2 คนคือ น้องฟ้าอายุ 14 ปี และลูกคนเล็กอายุ 7 ขวบ โดยน้องฟ้าเป็นเด็กพิการ CP (Cerebral Palsy) หมายถึง เด็กสมองพิการซึ่งมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ มีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีปัญหาในการพูดคุย การกิน การขยับแขนขา ลำตัว ใบหน้า รวมถึงการทรงตัวที่ผิดปกติ สาเหตุที่น้องฟ้ามีอาการนี้เกิดจากเมื่อแรกเกิดมีอาการตัวเหลือง แล้วสารเหลืองเข้าไปทำลายสมองบางส่วนจนทำให้ร่างกายพิการ หลังคลอดน้องฟ้าได้ 3 เดือน คุณพ่อของน้องฟ้ายังประสบอุบัติเหตุต้องนอนโรงพยาบาลนานนับเดือน แม่นิดจึงรับภาระครอบครัว โดยมีคุณยายมาช่วยเลี้ยงน้องฟ้า “ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าลูกจะเป็นเด็ก CP เราไม่มีความรู้อะไร หมอบอกให้ฝึกกายภาพ กินยา เราก็ทำตาม ไม่กล้าซักถามหมอ เลยไม่ค่อยรู้ว่าต้องมาฟื้นฟูลูกแบบไหนบ้าง ตอนนั้นก็คิดแค่ขอให้หาย ขอให้ลูกเดินได้ ลูกมีอาการเกร็ง แขนบิด คออ่อนคอพับลงมา แล้วก็ร้องไห้นอนไม่ค่อยดี ตื่นตลอด ได้ยินเสียงอะไรก็สะดุ้งตื่นร้องไห้ เลี้ยงยากมาก ช่วงขวบปีแรกทำกายภาพ สังเกตพัฒนาการ แล้วตอนนั้นแม่ทำงานเป็นหลัก พ่อก็เจ็บป่วย มียายช่วยเลี้ยงน้องฟ้า ตอนนั้นคือรู้สึกแย่มาก ลูกทำไมต้องพิการ สามีก็ป่วยขาหักเดินไม่ได้ เหมือนชีวิตตกต่ำที่สุดแล้ว แต่มีคุณแม่ให้กำลังใจ ให้เราทำให้ดีที่สุด ตอนนั้นทำงานหนักมาก ทำโอที ทำวันเสาร์อาทิตย์ พยายามหาเงิน”

จุดเริ่มต้นเปลี่ยนความคิด ช่วงประมาณ 3 ขวบปีแรก มีคุณยายเป็นหลักในการพาไปพบหมอและทำกายภาพบำบัด จนกระทั่งมีคนแนะนำให้มาทำกิจกรรมกับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ทำให้แม่นิดได้มีโอกาสทำกิจกรรมฟื้นฟูกับทางมูลนิธิอย่างสม่ำเสมอ โดยช่วงแรกมีคุณพ่อกับคุณยายเป็นหลักในการพาน้องฟ้ามาร่วมกิจกรรม ต่อมาด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจแม่นิดจำเป็นต้องย้ายไปอยู่แถบชานเมือง มูลนิธิเพื่อเด็กพิการจึงแนะนำให้ไปร่วมกิจกรรมของศูนย์เครือข่ายดูแลเด็กพิการที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งมีชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ และมีการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กพิการอย่างสม่ำเสมอ แม่นิดยอมรับว่าช่วงแรกฝากความหวังในการดูแลลูกไว้ที่คุณยายทั้งหมด แล้วแม่นิดมุ่งมั่นในการทำงานหารายได้ เพราะไม่คิดว่าตนเองจะช่วยเหลือให้ลูกดีขึ้นได้ แต่วันหนึ่งแม่นิดเริ่มเปลี่ยนความคิดเมื่อได้เห็นว่าแม่คนอื่นๆ สามารถฝึกลูกได้ด้วยตนเอง “คุณยายทั้งนั้นที่เลี้ยงหลาน เคยได้ยินคนบอกว่าแม่นิดไม่รักลูก ไม่จับลูก เสียใจแต่เราคิดว่าเราเลี้ยงไม่เป็น ไปศูนย์บางแคเราก็ให้แต่ยายไป แล้ววันหนึ่งแม่ๆ ที่อยู่ที่ศูนย์ก็บอกยายว่าให้แม่มาด้วยเพราะมีครูจะมาประเมินลูก เขากลัวยายอายุเยอะแล้วจะรับข้อมูลได้ไม่ครบ ให้คุณแม่มาช่วยดูหน่อย วันนั้นแม่นิดก็เลยไป ซึ่งทำให้เกิดจุดเปลี่ยนเลย วันแรกที่ไปศูนย์ไปเห็นแม่คนอื่นๆ เขาฝึกลูกกันเอง ซึ่งเมื่อก่อนเราไปโรงพยาบาลก็อุ้มลูกไปวางเตียง มีพยาบาลนักกายภาพมาฝึกให้ แล้วลูกก็ร้องไห้ไม่ยอม เคยทำอยู่ 2 เดือนลูกไม่ยอมเลย จนกระทั่งเราไม่พาไปแล้ว พอมาเจอที่นี่ แม่ฝึกลูกได้ แล้วลูกก็ยอมทำ”

เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อลูก ในวันนั้นการได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มคุณแม่ที่มีลูกพิการเหมือนกัน การได้เห็นแม่คนอื่นสามารถพัฒนาลูกได้ด้วยตนเองทำให้แม่นิดเปลี่ยนความคิด เริ่มมองเห็นว่าลูกมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ “วันนั้นแม่ๆ เขาถามว่าอยากตั้งเป้าหมายอะไร ให้ตั้งเป้าหมายระยะสั้น 3 เดือน ตอนนั้นน้องฟ้าฟันข้างหน้าไม่มี เราให้กินนมกล่อง แต่ใช้วิธีบีบกล่องแล้วเขาก็กลืนลงไป เขาดูดเองไม่ได้ มีสำลักบ้าง แล้วปิดปากไม่ได้ น้ำลายไหลตลอดเวลา แม่นิดก็บอกขอให้ลูกดูดหลอดเองเป็น แม่ท่านหนึ่งก็ฝึกให้ดูเลยวันนั้น แล้วน้องฟ้าดูดได้ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เห็นว่าลูกเรามีศักยภาพ ลูกเราทำได้ ขณะที่เมื่อก่อนเราคิดว่าลูกเราทำอะไรไม่ได้หรอก แม้กระทั่งเขากลัวทุกอย่าง เพราะเราไม่เคยสอนเขา เขากลัวกระทั่งพระเดินผ่าน เห็นพระไม่มีผม ทำไมพระไม่มีผมเราก็ไม่เคยอธิบายให้ลูกฟัง เราไม่มีวิธีการสอน ลูกร้องไห้กลัวอะไร เราก็พาวิ่งหนี เคยพาลูกนั่งรถหันไปเจอคนขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อก ลูกร้องกรี๊ดกลัวมาก เราก็เอาผ้าปิดหน้าลูกเลย เราไม่คิดจะอธิบายให้ลูกฟัง พอได้มาอยู่กลุ่มนี้แม่ที่มีประสบการณ์เขาก็ถ่ายทอดให้เราเห็นว่า ลูกรับรู้ได้ เขาเรียนรู้ได้”

เปลี่ยนทัศนคติเปลี่ยนวิธีการ นอกจากเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อลูก แม่นิดยังเปลี่ยนทัศนคติของตนเองให้ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น เพื่อจะได้เดินหน้าพัฒนาลูกต่อไปอย่างมีความสุขมากขึ้น “เขาจะปรับที่แม่ด้วย ปรับความคิดแม่ เขาถามว่าแล้วแม่ยอมรับได้ไหมว่าลูกพิการ ตอนนั้นเราไม่ยอมรับ เราอาย ไม่กล้าจะเอาลูกออกนอกบ้าน ไม่กล้าอุ้มลูก แต่กลุ่มนี้เขาจะมีกลุ่มพาไปเที่ยว เขาก็ชวนเราไปด้วยกัน ไปเที่ยวกันเป็นกลุ่ม ลูกกลัวพระใช่ไหม พาไปทำบุญ แนะนำวิธีว่าเราต้องอธิบายให้ลูกฟังนะ เดี๋ยวจะมีพระมานะลูก พระไม่มีผมนะ เดี๋ยวจะมีเสียงดังตรงนี้นะเป็นลำโพง แรกๆ ลูกก็ฟังไม่เข้าใจหรอก แต่พออธิบายซ้ำๆ ทำซ้ำๆ ทำแบบนี้กับทุกอย่างจนกระทั่งน้องฟ้าเลิกกลัวมาทีละอย่าง ทุกวันนี้น้องสามารถรับฟังเหตุผลได้ จากที่เมื่อก่อนอะไรหน่อยก็ร้อง ใครจะไปไหนไม่ได้เลย พอบอกว่าจะไปแล้วนะ ร้องไห้เลย เมื่อก่อนเลี้ยงยากมาก แล้วแม่ก็จะเครียดหงุดหงิด ลูกร้องอีกแล้ว พอเปลี่ยนทัศนคติว่าลูกเราพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ เราพูดคุยกับเขาได้ ทุกอย่างเราดูแลเขาเหมือนเด็กปกติได้เลย แล้วที่ศูนย์จะเน้นว่ามาฝึกพร้อมกัน ลูกร้องก็ร้องไปเลย”

พัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาลูก หลังจากนั้นแม่นิดก็เริ่มเข้ากลุ่มกับแม่คนอื่น เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และเข้าอบรมกระบวนการต่างๆ ที่จะนำมาพัฒนาลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำกายภาพบำบัด การนวด สวนบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด และโดสะโฮ เป็นต้น “ไปอบรมกับทางมูลนิธิเพื่อเด็กพิการหลายอย่าง ตั้งแต่การนวด นวดสัมผัส นวดไทย อาจารย์เขาจะสอนว่าไม่ใช่แค่การนวด ต้องเป็นการสื่อสาร การมองตา การสัมผัส การพูดกับลูก เป็นสัมผัสที่อ่อนโยน ทำให้ลูกไว้ใจ กายภาพก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเราไม่ได้รับความรู้ เราก็คิดแค่ว่ากายภาพเหมือนลูกเกร็งๆ อยู่แล้วเราไปจับยืด ทำให้ลูกเจ็บ ลูกร้องไห้ ลูกไม่ยอม โดสะโฮก็ไปอบรมมา หลักของโดสะโฮคือ การเคลื่อนไหวให้ถูกต้อง ฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวเอง ด้วยการให้จังหวะ การสัมผัส สมมติเราจะให้เขายืดหัวไหล่ เราจัดท่าเขาให้ผ่อนคลาย แล้วเราบอกเขาให้รู้ตัว เดี๋ยวเราจะยืดหัวไหล่กันนะ ครั้งแรกเราอาจจะใช้มือผลักไปเบาๆ ดูว่าเขาเกร็งหรือเปล่าด้วย การทำต้องมีสมาธิ แม่ใจต้องเย็น พอลูกทำได้ ให้ค้างไว้นับหนึ่งสองสาม แล้วคืนกลับมา โดสะโฮต้องพูดด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ เน้นให้ผ่อนคลาย เราฝึกจนน้องฟ้ายืดแขนไปด้านหน้าได้ ซึ่งปกติเขาจะเกร็งมาก กำมือไว้จนเป็นรอย เพราะเด็ก CP จะกำมือเกร็ง แขนบิด ข้อบิด น้องฟ้าเป็น CP แบบควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวไม่ได้ ตอนนี้น้องฟ้าแบมือได้ หยิบของได้ เราฝึกช่วยพาไปในทิศทางที่ถูก ไม่ฝืนเขา ส่งสัญญาณให้เขาเคลื่อนไหว ให้เขาได้ออกแรงเอง แล้วมาฝึกท่าคว่ำ ชันคอ ชันเข่า ฝึกท่ายืน น้องฟ้าตอนนี้ฝึกยืนเข่า ฝึกการทรงตัว เวลาเขาทำได้เราชื่นชม เขาก็ภูมิใจ แม่นิดจะใช้ทุกอย่างผสมกันเวลาฝึกลูก นวดลูกก่อน นวดน้ำมัน นวดผ่อนคลาย นวดเสร็จก็ใช้การยืด การกายภาพ พอกายภาพเสร็จก็มาใช้โดสะโฮ ทุกศาสตร์เราสามารถนำมาใช้ได้หมดเลยต่อเนื่องกัน แต่การฝึกลูกแม่ต้องสภาพจิตใจพร้อมด้วย ทำงานอะไรให้เสร็จ วางเรื่องไม่สบายใจลงให้หมด แล้วมาให้เวลากับลูกจริงๆ เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง”

สวนบำบัดพัฒนาจิตใจ อีกหนึ่งกระบวนการที่แม่นิดได้ไปอบรมคือ กระบวนการสวนบำบัด กิจกรรมการเรียนรู้ที่นำธรรมชาติใกล้ตัวมาออกแบบกิจกรรมที่สามารถพัฒนาทั้งร่างกาย อารมณ์ และสังคมให้กับมนุษย์ได้ “สวนบำบัดที่ไปอบรมเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เราเอามาใช้กับกิจกรรมกลุ่ม สวนบำบัดไม่ใช่การปลูกต้นไม้ สิ่งที่ครูสอนมีหลายเรื่อง อย่างการสัมผัสดิน ทำให้เรารู้สึกสงบ นิ่ง ผ่อนคลาย รู้สึกมีความสุข ไม่วุ่นวายไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ อาจารย์จะสอนว่าลองสัมผัสดินดู ขยำดูว่าเนื้อดินเป็นอย่างนี้ เมื่อก่อนเราก็ปลูกต้นไม้ แต่ใช้พลั่วใช้เสียม เราก็โดนดินได้ แต่ไม่ละเอียดแบบนี้ อาจารย์ให้ใช้เวลาอยู่กับดินนานมาก สอนกระบวนการละเอียด ตั้งแต่การสัมผัสดิน การค่อยๆ คัดเมล็ด เมล็ดนี้อ้วนสมบูรณ์เราเอา เมล็ดเล็กๆ เราคัดทิ้ง การวางเมล็ดลงดินก็ให้ค่อยๆ คิดออกแบบว่าต้องวางเรียงแบบไหน รดน้ำยังไง ทุกกระบวนการเป็นการให้เราช้าลง จากที่เราเคยเร่งรีบทุกอย่างจนเครียดโดยไม่รู้ตัว กระบวนนี้ทำให้เราสังเกต ช้าลง และใจเย็น ช่วยให้เราผ่อนคลาย แล้วได้สังเกตธรรมชาติ รู้สึกว่าธรรมชาติทำให้เรามีความสุข รู้สึกขอบคุณ รู้สึกโชคดีจังเลยที่มีธรรมชาติรอบตัวเรา จนอยากนำความรู้สึกนี้ไปทำให้ลูกรู้สึกด้วย เลยเอากระบวนการนี้มาทำกระบวนการกับลูกและเด็กในศูนย์”

กิจกรรมสวนบำบัดประยุกต์ แม่นิดนำหลักการของสวนบำบัดมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก สร้างกิจกรรมการเรียนรู้โดยเน้นกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านกระบวนการที่ใช้เวลาเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ จนกระทั่งถึงการนำผลผลิตที่ปลูกเองมาทำอาหารด้วยตนเอง แม่นิดจัดกิจกรรมกลุ่มโดยใช้กระบวนการของสวนบำบัด ที่มีขั้นตอนให้เด็กได้สัมผัส ได้ลงมือทำด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างกิจกรรมสวนบำบัด กิจกรรมปลูกถั่วงอก ขั้นตอนของกิจกรรมแนะนำให้เด็กรู้จักตั้งแต่ถั่วงอกมาจากเมล็ดถั่วเขียว ให้เด็กได้สัมผัสเมล็ดถั่วเขียว ชวนคุยว่าลักษณะของเมล็ดถั่วเขียวเป็นอย่างไร แข็งหรือนิ่ม สอนการเลือกเมล็ด คัดเอาเฉพาะเมล็ดอ้วนๆ ที่สมบูรณ์ เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์คัดออกไป เด็กคนไหนทำได้เองให้เด็กลงมือทำเอง เด็กคนไหนมีอาการเกร็งมากให้คุณแม่ช่วยจับมือทำ จับเมล็ดให้ดู อย่างน้อยคุณแม่ต้องช่วยจับให้เขาได้สัมผัส พอดูเมล็ดเสร็จ ขั้นตอนการปลูกทำอย่างไร ถ้าเด็กไม่สามารถยื่นมือไปปลูกเองได้ ผู้ปกครองเป็นคนทำให้ดู แล้วคอยถามลูกว่าอยากปลูกลงแบบนี้ใช่ไหม ให้ลูกส่งสัญญาณยักคิ้ว กะพริบตา เด็กจะได้พัฒนาเรื่องการมองเห็น ถึงมือเขาจะทำเองไม่ได้ แต่เขาได้ฟัง ได้เห็น ได้ใช้ความคิด และได้ตัดสินใจ กิจกรรมปลูกต้นพลูด่าง กิจกรรมปลูกต้นพลูด่างในขวดน้ำ เริ่มตั้งแต่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของต้นพลูด่างว่าเป็นต้นไม้เลื้อย ให้เด็กได้ลองสัมผัสใบ อธิบายการปลูกพลูด่างในขวดน้ำ บอกลูกว่าพลูด่างปลูกในดินก็ได้ ปลูกในน้ำก็ได้ แต่เราจะปลูกในขวดน้ำ นำขวดพลาสติกไม่ใช้แล้ว แทนที่จะทิ้งเป็นขยะ นำมาทำประโยชน์ใช้ปลูกต้นไม้ ให้เด็กได้ตกแต่งขวดก่อนปลูกด้วยการให้ระบายสีขวด ตกแต่งขวดเสร็จใส่น้ำในขวด เอาพลูด่างใส่ขวด แล้วทำเชือกที่จะแขวน ให้เด็กได้ถักเชือก ฝึกการถักเปียให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกที่ถักเองมาร้อยขวดที่ปลูกพลูด่าง การถักเชือกเป็นการฝึกใช้นิ้วมือ บางคนทำไม่ได้ผู้ปกครองก็จับมือให้เขาทำ หรือบางคนไม่ได้จริงๆ ผู้ปกครองก็ทำให้เขาดู ให้เขามองเห็นว่าทำอย่างไร แล้วก็มาเจาะรูขวด เอาเชือกร้อย ทุกอย่างให้เด็กได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนอย่างละเอียด กิจกรรมทำอาหาร ฝึกทำไข่เจียว นำผักหลายชนิดจากในสวนที่เราปลูกเองมาใส่ในไข่เจียว โดยให้เด็กได้สัมผัสส่วนผสมทุกอย่าง เช่น แครอต ให้เขาสังเกตลักษณะหัวแครอต แครอตเป็นหัวยาวๆ อย่างไร สัมผัสข้างนอกแล้วพอปอกเปลือกให้ลองสัมผัสเนื้อข้างในที่ปอกเปลือกแล้ว หรือต้นหอมมีลักษณะเป็นหัวและมีราก ให้เด็กได้ตอกไข่ ตีไข่ และจับตะหลิวทอดไข่เจียวด้วยตนเอง ทอดเสร็จชักชวนให้ลูกลองชิมฝีมือตนเอง ถามลูกว่าอร่อยไหม รสชาติเป็นอย่างไร

หลักการออกแบบกระบวนการ แม่นิดนำหลักการสวนบำบัดมาบูรณาการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ สร้างการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย ผ่านการสังเกตรายละเอียดของธรรมชาติรอบตัว โดยทุกขั้นตอนเน้นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก และให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานกับการเรียนรู้ “เรานำวิธีการสวนบำบัดมาปรับใช้ได้หมด เช่น เรียนรู้จากส้ม เมื่อก่อนให้เด็กกินส้มก็กินไป แต่ถ้าจะทำกิจกรรมก็นำส้มมาเป็นลูก ถามเด็กว่าเคยเห็นต้นส้มไหม ต้นส้มเป็นยังไง เราพาไปดูของจริงไม่ได้ก็เปิดยูทูปให้ดู ให้ลูกลองฝึกแกะส้มเอง สอนวิธีการปอก เอามือจิ้มตรงหัวตรงก้นยังไง ให้ลูกสังเกตรูปทรง สี กลิ่นของส้ม ให้เขาดม ชิมรส ต่อจากนั้นให้เขาวาดรูประบายสีผลส้ม เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ให้วาดรูปส้มกี่ลูก บางคนวาด 2 ลูก ก็ให้ใส่ตัวเลขลงไปด้วย ให้รู้จักตัวเลข เวลาทำกิจกรรมทำอาหาร เราเอาผักโน่นนี่จากในสวนที่ปลูกกันเอง พยายามให้เด็กได้สัมผัส ดมกลิ่น สมมติใบไม้ใบหนึ่งให้เด็กสัมผัสด้านหน้าใบไม้ เอามือไปลูบ ให้สัมผัสด้านหลังใบเอามือสัมผัสดู ถามว่าต่างกันไหม ก้านเป็นยังไงแข็งหรือนุ่ม ให้ลองดมกลิ่น อย่างใบกะเพราชวนให้เด็กดมกลิ่มดูด้วย อย่างเด็กที่อาการป่วยรุนแรงเขาจะไม่ค่อยอยากกินข้าว เราก็เอาตะไคร้ ใบมะกรูด พวกของที่มีกลิ่นต่างๆ มากระตุ้นทำให้เด็กอยากกินข้าว เด็กจะกินข้าวได้เยอะขึ้น เราลองทำไปเรื่อยๆ ปรับประยุกต์กระบวนการได้หมดเลย ให้เขาเรียนรู้ทุกอย่าง บางทีก็เปิดยูทูปให้ดูด้วย หรือมีผักที่เราปลูกไว้ มีสวนทำแปลงผัก ต้นหอมเป็นยังไง เราพาเขาออกไปดู ให้เด็กออกไปเห็นต้นจริงที่เราปลูก ให้เขาเห็นกระบวนการของธรรมชาติ ตั้งแต่การปลูก การเติบโตเป็นต้น จนกระทั่งนำมาทำอาหารกินได้ โดยให้เด็กได้สัมผัส ดมกลิ่น ได้ดู ลองชิม เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก ออกแบบให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กด้วย คนไหนทำได้เอง ให้เขาลองทำเอง คนไหนทำไม่ได้ให้คุณแม่ช่วยจับมือ คนไหนทำไม่ได้เลย คุณแม่ทำให้ดู ให้เขาได้มองเห็น และมีการสื่อสาร คอยถามเขาว่าเอาแบบนี้ไหม เพื่อให้เขาได้คิด ได้ตัดสินใจ มือลูกอาจทำไม่ได้ เราก็เหมือนเป็นมือทำแทนลูก เพราะเด็กบางคนมาถึงเราช้าไปหน่อยมือเขายึดไปแล้ว การมาทำกิจกรรมช่วยให้เด็กอารมณ์ดี มีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส แล้วจะได้ค่อยๆ ฟื้นฟูพัฒนาร่างกายไปด้วย เพราะเด็กพวกนี้ถ้าไม่ฟื้นฟูเลยเขาจะแย่ลงไปกว่านั้นอีก”

สวนบำบัดช่วยพัฒนาเด็กองค์รวม กิจกรรมกลุ่มที่นำหลักการจากสวนบำบัดมาใช้ สามารถช่วยพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเสริมทักษะด้านต่างๆ ให้กับเด็กได้ “ตอนน้องฟ้าได้ลองทอดไข่เจียวเอง ครั้งแรกที่ได้จับตะหลิวเขาตื่นเต้นมาก แต่มือเขาเกร็งอยู่ก็ต้องช่วยจับกันหลายคน เขาก็พยายามจับให้ได้ด้วย พอทำเสร็จเขารู้สึกว่าได้ทำเอง เขาจะภูมิใจมาก เอาไปให้คนอื่นชิม คนชมอร่อย เขาก็จะยิ้มดีใจ กินข้าวได้มาก แล้วยิ่งเป็นต้นไม้ที่เขาปลูกเองเอามาทำอาหารก็ยิ่งภูมิใจ อย่างทำไข่ตุ๋นเด็กก็ชอบมาก ซึ่งการทำทุกครั้งต้องให้เด็กสัมผัส ต้องดม ต้องชิม ซึ่งกระบวนการแบบนี้เราได้ความรู้มาจากสวนบำบัด กระบวนการพวกนี้ทำให้เด็กอารมณ์ดี ผ่อนคลาย น้องฟ้านี่คือยิ้มง่ายขึ้น พอเขาอารมณ์ดี เขาก็สุขภาพดี มีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากขึ้น แล้วกิจกรรมสวนบำบัด เราทำไปด้วยกัน พอทุกคนทำไปด้วยกัน ทุกคนนิ่ง เด็กสามารถอยู่กับกระบวนการได้จนจบกิจกรรม จากเด็กที่เคยรอไม่ได้ เราใช้กิจกรรมนี้ช่วยดึงเวลาให้เขาอยู่กับตรงนี้นานขึ้นได้ ทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น อย่างเด็กออทิสติกเที่ยงเป๊ะเขาต้องกินข้าว พอถึงเวลาเขาก็บอกนะว่าเที่ยงแล้ว แต่เราบอกเขาว่างานยังไม่เสร็จนะลูก ช่วยกันก่อนนะ เขาก็สามารถทำต่อได้ ช้าไปอีก 10 นาทีเขาก็ทนได้ ทำเสร็จเขาก็ภูมิใจมาก ขอเอากลับบ้าน”

การเปลี่ยนแปลงของน้องฟ้า น้องฟ้าเป็นเด็กที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง การได้ทำกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่องช่วยให้น้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อารมณ์ดีขึ้น สามารถสื่อสารรับฟังเหตุผลได้ และช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น “น้องฟ้าเป็นเด็กที่อาการรุนแรง เมื่อก่อนนั่งไม่ได้ รถเข็นกี่คันก็ไม่เหมาะกับลูกเพราะลูกเกร็ง หลักจริงๆ เราต้องฟื้นฟูร่างกายเขาก่อน เพื่อให้เขาจัดระเบียบร่างกายได้ เราได้กระบวนการว่าแม่นี่ล่ะอยู่กับลูกตลอดเวลา ครูหรือหมอมาให้ความรู้ แล้วแม่เอาความรู้นั้นมาฝึกลูกเอง การเปลี่ยนแปลงที่เห็นน้องมีสุขภาพดี กินดี อยู่ดี อารมณ์ดี น้องฟ้าอารมณ์ดี พฤติกรรมเปลี่ยน เมื่อก่อนเห็นอะไรร้องกลัว ไปทำกิจกรรมกลุ่ม เขาให้แนะนำตัวก็ร้องไห้ เพราะทำไม่ได้ ออกเสียงไม่ได้ เกร็งมาก ร้องจนแม่เครียด เราใช้กระบวนการหลายอย่าง กิจกรรมกลุ่มช่วยได้มาก ทำให้เขารู้จักการรอ รู้จักกติกา รับฟังเหตุผล ในการทำกิจกรรมกลุ่มเราจะใช้วิธีการบอกขั้นตอนให้เขารับรู้ ตอนแรกเขาอาจจะไม่เข้าใจ เราก็บอกเพื่อนๆ ในกลุ่มว่าให้โอกาสฟ้านะ ทุกคนรอได้ พอฟ้าเงียบหยุดร้อง เราก็ชื่นชม ฟ้าเงียบแล้ว น้องฟ้าทำได้ น้องฟ้าเยี่ยมมาก แรกๆ แม่ก็หงุดหงิด พาเดินออกนอกวง แต่กระบวนการเขาก็สอนว่าถ้าเด็กร้องก็ไม่เป็นไร ให้เขาอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น ให้เขาได้เรียนรู้ว่าร้องไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ทำกิจกรรม มีกิจกรรมดีๆ เพื่อนๆ สนุกสนานก็ไม่ได้ทำ เขาเกิดการเรียนรู้ เขาก็เริ่มปรับตัวสามารถอยู่ร่วมในกลุ่มในสังคมได้ ออกไปข้างนอก พาไปห้าง พาไปเที่ยวได้ น้องฟ้าปรับตัวได้ มีความอดทน รอได้ เรื่องร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง มีความสุข พูดเข้าใจ สื่อสารได้ พอฟ้ามีความสุข แม่ก็มีความสุข คนในครอบครัวทุกคนก็มีความสุข จากที่เมื่อก่อนพอน้องฟ้าร้อง ทุกคนก็จะเครียดไปหมด เรื่องกินน้องฟ้าก็เปลี่ยนไป กินผัก กินข้าวได้ เมื่อก่อนน้องฟ้าจะกินแต่ข้าวใส่ไข่ต้มบดหยาบๆ เพราะป้อนง่ายไม่สำลัก จนกระทั่งมาที่ศูนย์สอนกันใหม่ อย่างบะหมี่เมื่อก่อนเราไม่เคยให้ลูกกิน เพราะลูกเคี้ยวไม่ได้กลัวเส้นติดคอ แม่ท่านอื่นๆ ก็ป้อนให้เห็นจนกินได้ ส้มตำก็ยังเคยให้ลองกินนิดนึง ตอนนี้น้องฟ้ากินได้ทุกอย่าง แต่ว่าก่อนจะให้กินอะไรใหม่ๆ เราก็ต้องสอนเขา นี่บะหมี่นะลูกมันจะเป็นเส้นยาวๆ ลูกเคี้ยวได้แต่ไม่ละเอียด ทุกอย่างจึงต้องทำเป็นชิ้นเล็กๆ เราสอนว่าคืออะไร อธิบายทุกอย่าง นี่ข้าวมันไก่จะรสมันนะ เค็มนิดนึงไหม ให้กินขนมก็บอกรสชาติ เราเอาวิธีนี้มาจากกิจกรรมสวนบำบัด ใช้รายละเอียดทุกอย่างรอบตัวมากระตุ้นสอนให้ลูกเรียนรู้”

สู่วิถีชีวิตที่เบิกบาน สวนบำบัดไม่ได้นำไปใช้จัดกิจกรรมที่ต้องออกแบบกระบวนการเท่านั้น แต่หลักการและวิธีคิดของสวนบำบัดสามารถนำมาใช้สร้างความสดชื่นเบิกบานให้กับชีวิตประจำวันได้ทุกวัน “เวลาอยู่บ้านจัดดอกไม้แจกันไหว้พระ แต่ก่อนจัดแจกันเราก็ปักลงไปเลย เดี๋ยวนี้เราจะมาพิจารณาดูดอกไม้แต่ละดอก ได้มองดู ได้ความสุข ปกติเราไม่ได้มอง เรารู้แค่ผิวเผินว่าสวย แต่ในสวนบำบัดเขาจะสอนว่าเอาดอกไม้มาดู แล้วลองมองลงไปข้างใน มองตรงกลางเกสร มีความอ่อนหวานนุ่มนวล เรามองแล้วเคลิบเคลิ้มหลงใหลในความสวยงาม แล้วเรานำมาจัดลงแจกันเกิดเป็นรูปทรงสวย อยู่ที่บ้านแม่ก็จะให้น้องฟ้ามาช่วยจัดแจกัน ชวนน้องฟ้าให้ดูกลีบกุหลาบเป็นยังไง ลองมองดูสิสวยไหมลูก ลองดมกลิ่นดอกมะลิ หอมไหมลูก ดอกมะลิสีขาวสวยไหม ลูกก็จะยิ้มมีความสุข”

วิธีคิดแห่งความสุข สิ่งที่แม่นิดได้จากกระบวนการสวนบำบัดที่ลึกซึ้งที่สุดคือ ด้านจิตใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตใจให้กลายเป็นคนที่สามารถได้รับความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวที่เคยมองข้าม ทำให้เป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้นนั่นเอง “เมื่อก่อนเราไม่ค่อยจะมองสิ่งรอบตัว ต้นไม้ข้างทางก็มองผ่านๆ ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเรามองลึก นั่งรถไปไหนเห็นทุ่งนา เห็นต้นไม้ เราจะมองลึกซึ้งกับมัน แล้วแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เรามีความสุข เราได้ความสุขจากธรรมชาติรอบตัวได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนอะไรก็ธรรมดา แต่พอเราไปเรียนรู้สวนบำบัด เราได้เรียนรู้วิธีหาความสุขจากธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติก็อยู่ที่เดิมแบบนี้มาตลอดนั่นล่ะ แต่เราไม่เคยมองเห็น ตอนนี้เราไปเอาความสุขนั้นมาได้ง่ายๆ แค่ไปซื้อใบเตยมาจัดแจกันเรามองเห็นความสวยงามสดชื่นของใบเตย แค่ได้กลิ่นหอมเราก็มีความสุข” นอกจากนี้ยังได้วิธีคิดใหม่ที่ทำให้สามารถมองเห็นรายละเอียดในสร้างกิจกรรม โดยสามารถประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ ในวิถีชีวิตมาออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายได้มากขึ้น “แล้วเราได้กระบวนการคิด เราคิดเป็น เราคิดออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมต่างๆ ได้ละเอียดขึ้น ได้หลักการคิดมาจากสวนบำบัด ทำให้เวลาคิดกระบวนการมีลำดับขั้นตอน วางแผน มีเป้าหมายว่าต้องการให้เกิดการเรียนรู้อะไร จะกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็กอย่างไรให้ครบถ้วน แล้วต้องทำให้กิจกรรมนั้นสนุก ผ่อนคลาย มีอะไรแปลกใหม่กับเด็กอยู่เสมอ ทำให้เรามีประสบการณ์ความรู้ มีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าพูดกับใคร แต่ประสบการณ์ที่เราทำบ่อยๆ กับเด็กๆ แล้วเห็นเด็กๆ มีความสุข เราก็กล้าขึ้น กล้าพูด กล้าที่จะจัดกิจกรรม เวลาครอบครัวเด็กๆ โทรมาถามว่าจะมีกิจกรรมไหม ทำให้เรามีแรงกระตุ้นมากขึ้น เราต้องคิดตลอดเวลาว่าจะทำกิจกรรมอะไรที่ทำให้เด็กแฮปปี้มีความสุข หากิจกรรมใหม่ๆ สนุกสนาน ใส่วิธีการ ใส่ขั้นตอนรายละเอียดให้เขาได้เรียนรู้ เราละเอียดมากขึ้นในการมองธรรมชาติ ทำให้เวลาเราออกแบบกิจกรรม เราก็มองเห็นรายละเอียดขั้นตอนมากยิ่งขึ้นว่าเราจะใส่อะไรลงไป เมื่อก่อนเราทำกิจกรรมอะไร เราก็ไปจำเขามา ทำให้จบขั้นตอน 1 2 3 ตามเขา แต่ตอนนี้เราใส่รายละเอียด เรามองว่าเด็กคนนี้ทำได้แค่ไหน เด็กคนนี้ชอบอะไร เด็กคนนี้มีศักยภาพดีมาก เราต้องใส่ขั้นตอนนี้เข้าไปอีกเพิ่มให้กับเขา แม่นิดไม่ได้เก่ง แต่เราเรียนรู้จากการทำบ่อยๆ ทำแล้วมีความสุข เด็กๆ แข็งแรง ทุกคนอยู่ร่วมกันในศูนย์ ออกไปข้างนอกได้ อยู่ในสังคมได้”

สวนบำบัดเพื่อเด็กและครอบครัว กิจกรรมกลุ่มและกระบวนการสวนบำบัดไม่ได้บำบัดแค่ตัวเด็ก แต่ครอบครัวของเด็กก็ได้เรียนรู้ และได้รับความสุขสบายใจจากการทำกิจกรรมไปพร้อมกับเด็กด้วย “เราเห็นใบหน้าเขา เมื่อก่อนเขาจะเศร้า ไม่มีความสุข ทั้งแม่และเด็กเลย หน้าตาจะเครียดมาก มองแล้วไม่สดชื่น พอตอนนี้เด็กมาแต่ละคนเราเห็นความสดชื่นในตัวเด็ก เห็นเขาเป็นเพื่อนกัน นั่งคุยกัน เด็กยิ้มกันทุกคน เราเห็นตั้งแต่วันแรกที่เจอ เราเห็นความสุขที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น พูดอะไรก็เข้าใจกันง่าย ให้ความร่วมมือ ให้ความสำคัญกับเด็ก ไม่ใช่ว่าเด็กพิการเราต้องให้ความพิเศษ เราดูแลเขาอย่างปกติทั่วไปเลย อันไหนผิดก็คือผิด เราไม่ตีแต่เราพูดด้วยเหตุผล หนูทำผิดนะ ทำแบบนี้ไม่ได้ มีดุกันบ้าง แต่สิ่งไหนที่เขาทำดีเราก็ชื่นชมเขา พ่อแม่จะเริ่มเห็นว่าเด็กเขาเรียนรู้ได้เหมือนเด็กปกติเลย เราชื่นชมเด็ก ให้ความรัก เรากอดเขา เด็กบางคนมาใหม่ๆ จะร้องกรี๊ดๆ เราก็ต้องเข้าใจว่าปัญหาที่เขาเจอมาหนัก สภาวะโรคของเขาส่งผลต่อพฤติกรรมของเขาด้วย เราหาวิธีที่จะช่วย แล้วให้พ่อแม่เข้าใจกระบวนการ เข้าใจวิธีการพัฒนาลูก เมื่อก่อนลูกเครียด แม่ก็เครียด พอเราเครียดเราก็คิดสิ่งดีๆ ไม่ได้ ตอนนี้พอลูกเรามีความสุขเราก็สามารถคิดที่จะช่วยคนอื่นได้อีกเยอะ เด็กที่มาใหม่ๆ เราจะสามารถช่วยเหลือได้เยอะขึ้น เด็กเขารับรู้ได้ เห็นเรามีความสุขเขาก็มีความสุข แล้วเราไม่ใช่แค่เอาลูกมาฝึกๆ แต่เราดูแลแม่ด้วย แม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างเวลาหลังอาหารลูกกินอาหารแล้วให้เด็กๆ พัก เราก็ชวนแม่ๆ มานั่งล้อมวง ทำกิจกรรมกระตุ้นประสาทสัมผัสซ้ายขวา ร้องเพลง เป็นกิจกรรมนันทนาการของแม่ สร้างความรักใคร่กลมเกลียวกัน นำดนตรี ศิลปะเข้ามา ใช้หลายๆ ศาสตร์บูรณาการผสมผสานกันได้หมดในการออกแบบกิจกรรม เวลาไปเรียนรู้อะไรมาเราก็เอามาใช้กับเด็กและแม่ เวลาเราคิดกิจกรรมแม่ทุกคนก็ช่วยกันคิด เช่น เราอยากให้ลูกเรียนรู้ขนาดเล็กใหญ่ วัตถุประสงค์เพื่ออะไร แล้วเรามาช่วยกันคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องขนาด อย่างมีเด็กบางคนเวลามาทำกิจกรรมเขามากับพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเขาอาจจะมีปัญหาเรื่องสติปัญญา กิจกรรมพวกนี้ก็ช่วยพัฒนาการเรียนรู้พี่เลี้ยงด้วย พัฒนาตัวเด็กเองด้วย ช่วยบำบัดคุณแม่ที่มาร่วมกิจกรรมด้วย เวลาเราทำกิจกรรมเราจะเปิดเสียงเพลงดนตรีบำบัดเบาๆ ทุกคนจะนิ่งสงบทำกิจกรรมช่วยกัน หรือบางครั้งด้วยศักยภาพของลูก ลูกไม่ไหวแล้ว ให้ลูกพักพอก่อน แต่แม่ก็ยังทำกิจกรรมต่อไป เป็นช่วงเวลาของแม่แล้ว ได้บำบัดทั้งแม่และลูกไปในตัว ทำให้ตอนนี้เราสามารถนำกระบวนการสวนบำบัดไปประยุกต์และบูรณาการได้หมด”

ผลึกความคิดจากใจแม่ กว่าจะมีวันนี้แม่นิดก็เหมือนแม่คนอื่นๆ ผ่านความทุกข์ใจมามากมายจากโรคที่ลูกเป็น แต่จากกระบวนต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาตกผลึกเป็นหัวใจแห่งความสุข ซึ่งมาจากการพัฒนาความคิดและจิตใจของตนเองอยู่เสมอ จนทำให้สามารถมองเห็นความสุขในหัวใจของลูกที่สะท้อนออกมาผ่านรอยยิ้ม และพัฒนาการที่ลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นในทุกวัน “ลูกเขามีหัวใจ อยากให้แม่ทุกคนมองเห็นว่าเขามีหัวใจ เขามีความรู้สึก แม่ทุกคนรักลูกมาก บางทีรักยิ่งกว่าตัวเองอีก แต่ด้วยความที่บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ว่าวิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้ต้องทำยังไง อันดับแรกต้องตั้งหลักที่ใจลูกและใจเรา เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจเราไปใส่ในใจลูก ใส่ใจความรู้สึกของลูกกับความรู้สึกของเรา เราลองเข้าไปนั่งในใจลูก มองหน้า มองตาลูก ลูกรู้สึกยังไง แล้วรับฟังเขาด้วยหัวใจว่าเขาต้องการอะไร ไม่คิดแทนลูก แม่ทุกคนรักลูกอยู่แล้ว แต่ขอให้เข้าใจลูก แล้วเราทำเต็มที่ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แล้ววันหนึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นเราจะไม่เสียใจ”


ย้อนกลับ