มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

แนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย

การอภิปรายกลุ่ม “แนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย”ภายใต้ ”เวทีถอดบทเรียนองค์ความรู้ด้านสวนบำบัด” เป็นแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ  ในการนำแนวคิดเรื่องสวนบำบัดไปใช้ประโยชน์ในแต่ละองค์กร และเป็นการนำเสนอข้อเสนอแนะร่วมกันของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสวนบำบัด เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอที่ทำให้เกิดการผลักดันในรูปของนโยบายในการดำเนินการทางด้านสวนบำบัดต่อไป โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก 3 หน่วยงาน ร่วมอภิปรายกลุ่ม ได้แก่

1. คุณปาริชาต สุวรรณผล  จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
2. คุณวิศรุต เนาวสุวรรณ์  จากสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร
3. คุณสุภา ใยเมือง จากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน/โครงการสวนผักคนเมือง

ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ

 

คุณปาริชาต สุวรรณผล  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย มี 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1. กลุ่มผู้ใช้บริการ
จากการฟังการนำเสนอประสบการณ์การดำเนินงานด้านสวนบำบัดของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่มีการดำเนินงานด้านสวนบำบัดหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันทั้ง 4 องค์กร   พบว่ากลุ่มผู้ใช้บริการหรือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้สวนบำบัดมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเด็กพิการที่มีภาวะบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ผู้ป่วยทางจิตเวชที่อยู่ในช่วงพักฟื้น รวมทั้งกลุ่มบุคคลทั่วไป ซึ่งทำให้เห็นว่าการนำสวนบำบัดไปใช้ ทำให้เกิดประโยชน์หลากหลายในผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม โดยคุณปาริชาต สุวรรณผล ได้ให้ข้อเสนอแนะ ในเรื่องของกลุ่มผู้ใช้บริการ ดังนี้

1.1.เน้นสุขภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ควรมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ที่จะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
1.2.เน้นการ  Empowerment หรือ “การสร้างเสริมพลัง” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวนบำบัดเกิดมีพลังทำในสิ่งที่ควรทำอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ และเกิดความตระหนักในศักยภาพที่ตนมี และดึงศักยภาพนั้นออกมาใช้อย่างเต็มที่และเต็มใจ
1.3 การเตรียมสถานที่ เช่น สวนหย่อมขนาดเล็ก และการเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ และโต๊ะ  ให้เหมาะกับสภาพความพิการ หรือกลุ่มผู้ใช้บริการ เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือทำสวนที่ใช้ต่างๆ ควรมีการปรับหรือเลือกให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ ในการหยิบจับทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกผัก การดูแลต้นไม้ การรดน้ำต้นไม้ การพรวนดิน การถอนวัชพืช  การออกแบบกระบะปลูกต้นไม้ให้ยกระดับสูงเท่ากับที่ผู้ใช้บริการสามารถทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้หรือทำงานสวนได้ คือ หากจะออกแบบให้ผู้พิการสามารถรดน้ำได้ พรวนดินได้ ก็ควรยกระดับกระถางหรือกระบะปลูกต้นไม้ให้สูงขึ้นในระดับที่เหมาะกับผู้นั่งเก้าอี้รถเข็นจะทำกิจกรรมดังกล่าวได้สะดวก
1.4 การทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ การส่งเสริมการนำสวนบำบัดไปใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ หรือกลุ่มผู้ใช้บริการอื่นๆ ควรเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ
1.5 องค์ความรู้เกี่ยวกับสวน เรื่องต้นไม้และธรรมชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ทำงานเกี่ยวกับสวนบำบัดควรจะมีความรู้และความเข้าใจ เพื่อนำองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ มาพัฒนาสวนบำบัดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2. การมีส่วนร่วมของครอบครัว
นอกจากผู้ใช้บริการเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมในสวนบำบัดแล้ว ครอบครัวก็ควรเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมด้วย เพราะเมื่อครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมฟื้นฟูในรูปแบบใดก็ตาม ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน และเกิดสัมพันธ์ภาพที่ดีในครอบครัว

3. การมีส่วนร่วมของชุมชน
การสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูทั้งในระดับการวางแผนและการดำเนินงาน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และมีการประสานงานกัน ในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสวนบำบัดมุ่งเน้นในการทำงานกับชุมชนเพื่อส่งเสริมให้คนพิการเกิดทัศนคติทางบวกและให้สมาชิกในชุมชนมีแรงจูงใจที่จะให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆ เช่น โครงการเกี่ยวกับสวนบำบัด เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณปาริชาต สุวรรณผล ได้กล่าวถึงประเด็น งานวิชาการ เนื่องจากการนำแนวคิดเรื่องสวนบำบัดมาใช้ในทางปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน สามารถนำแนวคิดเกี่ยวกับสวนบำบัดไปบูรณาการในด้านอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อไปได้ในเชิงวิชาการ ควรมีการทำวิจัยที่เกี่ยวกับสวนบำบัดในมุมมองต่างๆ ด้วย

4. นโยบายของทางภาครัฐบาล
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552  เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้คนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งหมด 26 รายการ ดังนี้

1. การตรวจวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษด้วยวิธีอื่น ๆ ตามชุด สิทธิประโยชน์
(2) การแนะแนว การให้คำปรึกษา และการจัดบริการเป็นรายกรณี
(3) การให้ยา ผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์และหัตถการพิเศษอื่น ๆ เพื่อการบำบัดฟื้นฟู เช่น การฉีดยาลดเกร็ง การรักษาด้วยไฟฟ้า Hemoencephalography (HEG) เป็นต้น
(4) การศัลยกรรม
(5) การบริการพยาบาลเฉพาะทาง เช่น พยาบาลจิตเวช เป็นต้น
(6) กายภาพบำบัด
(7) กิจกรรมบำบัด
(8) การแก้ไขการพูด (อรรถบำบัด)
(9) พฤติกรรมบำบัด
(10) จิตบำบัด
(11) ดนตรีบำบัด
(12) พลบำบัด
(13) ศิลปะบำบัด
(14) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน
(15) การพัฒนาทักษะในการสื่อความหมาย
(16) การบริการส่งเสริมพัฒนาการ หรือบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม
(17) การบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น นวดไทย ฝังเข็ม เป็นต้น
(18) การพัฒนาทักษะทางสังคม สังคมสงเคราะห์ และสังคมบำบัด เช่น กลุ่มสันทนาการเป็นต้น
(19) การประเมินและเตรียมความพร้อมก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพหรือการประกอบอาชีพ
(20) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว
(21) การบริการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อในรูปแบบที่เหมาะสมกับความพิการ ซึ่งคนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
(22) การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแก่คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และผู้ช่วยคนพิการ
(23) การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยครอบครัวและชุมชน การเยี่ยมบ้าน กิจกรรมการให้บริการเชิงรุก
(24) การฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน เช่น การฝึกทักษะชีวิต การฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ การฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เป็นต้น
(25) การบริการทันตกรรม เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นต้น
(26) การให้บริการเกี่ยวกับกายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม เครื่องช่วยความพิการ หรือสื่อส่งเสริมพัฒนาการ
คุณปาริชาต สุวรรณผล ได้นำเสนอว่า การทำสวนบำบัด หรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับสวนบำบัด สามารถบูรณาการเข้าในรายการการฟื้นฟูสมรรถภาพในรายกายต่างๆ ได้เช่น
รายการที่ 7 กิจกรรมบำบัด
รายการที่ 9  พฤติกรรมบำบัด (ทำโดยนักจิตวิทยา)
รายการที่ 13 ศิลปะบำบัด (ทำโดยผู้ผ่านการอบรมเรื่องศิลปะบำบัด)
รายการที่ 18  การพัฒนาทักษะทางสังคม สังคมสงเคราะห์ และสังคมบำบัด เช่น กลุ่มสันทนาการ เป็นต้น
รายการที่ 19 การประเมินและเตรียมความพร้อมก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพหรือการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้คุณปาริชาต สุวรรณผล ได้ให้ข้อเสนอแนะกับทางสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จ เจ้าพระยา ว่าการทำกิจกรรมสวนบำบัด / งานเกษตร ของทางสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยามีความสอดคล้องกับรายการที่ 19 การประเมินและเตรียมความพร้อมก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพหรือการประกอบอาชีพในประกาศกระทรวงฯ ทางหน่วยงานน่าจะสามารถทำเรื่องขอเบิกได้

สรุปคุณปาริชาต สุวรรณผล  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุป แนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย มี 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ใช้บริการ 2) การมีส่วนร่วมของครอบครัว 3) การมีส่วนร่วมของชุมชน และ 4) นโยบายของภาครัฐบาล ในส่วนของความเป็นไปได้ของการบูรณาการสวนบำบัดภายใต้ รายการการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552   รวมทั้งคุณปาริชาต   สุวรรณผล ยังเสนอแนะในเรื่องของควรมีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เรื่องการนำสวนบำบัดไปใช้ให้รับทราบในวงกว้างมากขึ้นต่อไป


กรุงเทพมหานคร

 

คุณวิศรุต เนาวสุวรรณ์  สถาปนิกปฏิบัติการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร ได้อภิปรายภายใต้หัวข้อ  การอภิปรายกลุ่ม “แนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย” ประกอบ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษา (Landscape Healing  และ 2) กรณีศึกษาการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษา และการออกแบบสวนสวนสาธารณะเพื่อบำบัด  มีรายละเอียดดังนี้

1) ภูมิทัศน์เพื่อการบำบัดรักษา (Landscape Healing) คือ   การออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษาในด้านต่างๆ เช่น การบำบัดโรค การลดความเครียด ผ่อนคลาย และส่งเสริมสุขภาพกาย-ใจ ส่งผลให้งานภูมิทัศน์ดังกล่าวสามารถช่วยบำบัดจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นจากอาการเจ็บป่วย และทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการออกแบบภูมิทัศน์ดังกล่าวอาศัยการรับรู้ (Perception)ของผู้ใช้ได้แก่
ตา-คือการเสพสุนทรีย์ ความสวยงามของพื้นที่ดูแล้วสบายตา
หู – การรับฟังเสียงที่ก่อให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างสุนทรียภาพผ่านทางการได้ยิน
จมูก – การบำบัดผ่านทางการสูดดมกลิ่น เช่น การใช้ Aroma Therapy
สัมผัส – เช่นการทำกิจกรรมต่างๆ ในภูมิทัศน์
ใจ – ภูมิทัศน์ที่สร้างความผ่อนคลาย สร้างความสงบในจิตใจ และสมาธิ ซึ่งเรามักพบเห็นในสวนในศาสนาสถาน
เช่น สวนเซ็น
ดังแผนภาพ
001

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวทางการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อการบำบัดจะต้องประกอบด้วยประเด็นหลัก ดังนี้คือ การออกแบบให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความสมดุลของสิ่งเร้าด้านเสียง กลิ่น สัมผัส ภาพ และใจ โดยผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ของมนุษย์ นอกจากภูมิทัศน์บำบัดคนแล้ว ภูมิทัศน์ยังบำบัดสภาพแวดล้อมอีกด้วย ในด้านคุณภาพของสิ่งแวดล้อม คุณภาพในการอยู่อาศัย เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยว

สวนบำบัดในต่างประเทศ จากการศึกษาเว็ปไซต์ www.landscaphealing.org พบว่าสวนบำบัดได้รับความนิยมในหลายประเทศในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น และสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางกับผู้ที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ หรือทางด้านสังคม  ซึ่งจากการศึกษา พบว่า มีสวนบำบัดในสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ สวนในบ้านพักคนชรา สวนเรือนจำ และสวนชุมชน ดังนั้นจะเห็นผู้ใช้หรือผู้ได้รับประโยชน์จากสวนบำบัดในการฟื้นฟูในด้านต่างๆ มีหลากหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มได้รับประโยชน์จาก
สวนบำบัดในมิติที่แตกต่างกัน

อารยสถาปัตย์ (Universal Design)  คือ การออกแบบที่สามารถรองรับคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่นผู้พิการด้านต่างๆ ผู้ป่วย เด็ก คนชรา สตรีมีครรถ์ ฯลฯ  ดังนั้นการทำสวนบำบัดของผู้พิการ การออกแบบสวนเหมือนการออกแบบสวนบำบัดทั่วไป เพียงแต่เพิ่มโอกาสหรือวิธีให้ผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่พิการ หรือเด็กพิการได้สัมผัสกับสวนมากขึ้น ซึ่งการนำหลักการออกแบบเพื่อทุกคน Universal Design หรือ UD การออกแบบเพื่อทุกคน เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัยโดยไม่ต้องดัดแปลงหรือออกแบบเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเสมอภาคกัน มาปรับในการออกแบบสวน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอกภัย
o12) กรณีศึกษาการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษา และการออกแบบสวนสวนสาธารณะเพื่อบำบัด
คุณวิศรุต เนาวสุวรรณ์  ได้ยกตัวอย่างโรงพยาบาลในสวน (Hospital in Garden) ในประเทศสิงคโปร์ ที่มีชื่อว่า Khoo Teck Puat Hospital (KTPH) เป็นโรงพยาบาลที่มีแนวคิดในการให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบภูมิทัศน์ที่ร่มรื่น เทียบเท่ากับการออกแบบในส่วนของตึกอาคาร และได้รับรางวัลจาก   การออกแบบด้วย

 

o2คุณวิศรุต เนาวสุวรรณ์ ในกล่าวถึง 2 ประเด็น คือ 1) ประวัติของสวนสารธารณะ 2) สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร  แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นคือ สวนสาธารณะบำบัดจิตใจ และ สวนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ (การบำบัด) ประวัติของสวนสารธารณะ  สวนสาธารณะในความหมายปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศอังกฤษในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งในยุคสมัยนั้นเป็นยุคที่มีความเสื่อมโทรมทางด้านสภาพแวดล้อม ความหนาแน่นของประชากร ทำให้เกิดจากความต้องการพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ จากนั้นมา แนวคิดการจัดทำสวนสาธารณะได้แพร่หลายไปตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง “เซ็นทรัลปาร์ก” ในนครนิวยอร์ก ที่เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของโลก (ออกแบบโดย เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด พ.ศ. 2401) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่พัฒนาพื้นที่ที่เสียหายจากเหตุไฟไหม้ใหญ่กลางเมืองนิวยอร์ค ปัจจุบัน ถือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่มีความจำเป็นยิ่งของเมือง ท่ามกลางความหนาแน่นของมหานครนิวเยอร์ค และ   ได้กลายเป็นสวนสาธารณะต้นแบบของสวนสาธารณะอื่นๆของโลก ทำให้เห็นความสำคัญในด้าน การพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อการการวางแผนและพัฒนาเมือง

o3สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร  มีสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร กระจายอยู่ทั่วไป รวม 30 แห่ง โดยแต่ละสวนจะมีแนวคิดหลัก และรูปแบบเฉพาะของแต่ละสวน เพื่อเป็นการเพิ่มการบริการและนันทนาการให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครได้ใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะให้คุ้มค่ามากที่สุด สวนสาธารณะแห่งแรกคือ สวนลุมพินี จัดเป็นสวนอเนกประสงค์

สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร  เป็นสวนที่รองรับความต้องการของประชาชนในด้าน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และการจัดกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมสาธารณะประโยชน์คุณวิศรุต เนาวสุวรรณ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดการสร้างสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เน้นในเรื่องของแนวคิดสวนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ (การบำบัด) คือ การออกแบบสวนสาธารณะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านต่างๆ ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร เช่น การเรียนรู้ในเรื่อง ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ระบบนิเวศ การเกษตร และการกีฬา

กรณีศึกษา สวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ชื่อว่า สวนสถานีพัฒนาที่ดิน-บางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียนชายทะเล  ซึ่งเป็นการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร และกรมพัฒนาที่ดิน ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสวนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ เป็นแหล่งที่ให้เด็กและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ ในเรื่องของการเกษตรกรรม โดยจะมีการสร้างสวนสาธารณะที่มีการบูรณาการเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรม  เช่น ทำเป็นสถานีทดลองแปลงเกษตรสาธิต มีการทดลองทำนา มีโรงเรือน มีแปลงเกษตร และมีป่าชายเลน เป็นต้น

สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ (เขตบางบอน) ซึ่งได้นำแนวพระราชดำริของในหลวงมาประยุกต์ เช่นพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า  โครงการเกษตรประณีต /โครงการฟื้นฟู อนุรักษ์ดิน /โครงการเกษตร

o4สรุป คุณวิศรุต เนาวสุวรรณ์  สถาปนิกปฏิบัติการ จากสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร ได้อภิปรายประกอบ 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษา (Landscape Healing)  ในเรื่องของการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษาในด้านต่างๆ สามารถช่วยบำบัดจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นจากอาการเจ็บป่วย และทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 2) กรณีศึกษาการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อบำบัดรักษา และการออกแบบสวนสวนสาธารณะเพื่อบำบัด    โดยกล่าวถึงความสำคัญของสวนสาธารณะต่อการพัฒนาเมือง และนำสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครซึ่งในแต่ละสวนจะมีแนวคิดหลัก และรูปแบบเฉพาะของแต่ละสวน เพื่อเป็นการเพิ่มการบริการและนันทนาการให้มีคุณภาพมากขึ้น ให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครได้ใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งแนวคิดในการพัฒนาสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร เน้นในเรื่องแนวคิด สวนสาธารณะเพื่อการบำบัดจิตใจ และสวนสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ (การบำบัด) นอกจากนี้การออกแบบสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จะนำหลักการอารยะสถาปัตย์หรือออกแบบเพื่อรองรับคน ทุกกลุ่ม (Design for All หรือ Universal Design หรือ UD) เป็นแนวคิดการออกแบบสวนสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัยโดยไม่ต้องดัดแปลงหรือออกแบบเฉพาะ เพื่อให้ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถใช้สวนสาธารณะได้อย่างเสมอภาคกัน มาปรับในการออกแบบสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร


มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน/โครงการสวนผักคนเมือง

คุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน/โครงการสวนผักคนเมือง ได้สรุปแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย มี 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) การทำงานของโครงการสวนผักคนเมือง: ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต (มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน) และ 2) ข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัด

o51.โครงการสวนผักคนเมือง: ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต
คุณสุภา ใยเมือง ได้สรุปความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการสวนผักคนเมือง  ไว้ว่า โครงการสวนผักคนเมืองเริ่มตั้งแต่เมษายนปี 2553 – ปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป้าหมายของโครงการสวนผักคนเมือง ด้วยตระหนักถึงปัญหาของคนเมืองในด้านอาหาร ทั้งเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง โครงการสวนผักคนเมืองจึงมุ่งยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารของคนเมือง และผนวกเรื่องการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีและการพึ่งตนเองด้านอื่นๆ ให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมือง สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันทั้งในเมือง ระหว่างคนเมืองกับชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนมุ่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของเมืองที่ให้ความสำคัญกับเกษตรในเมืองในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และขยายไปสู่นโยบายของเมืองต่างๆ ในประเทศต่อไป

นอกจากนี้คุณสุภา ใยเมือง ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการทำเกษตรในเมือง หรือการปลูกผักในเมืองว่า นอกจากประโยชน์โดยตรงของการปลูกผัก คือผลผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์สำหรับคนเมือง  การสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองที่เชื่อมโยงกับประเด็นการพัฒนาต่างๆ อาทิ สวนผักกับการบำบัดเยียวยาผู้ป่วย สวนผักกับการสร้างพื้นที่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของสังคม และสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก  การทำการเกษตรเพื่อการฟื้นฟูจิตใจ ทำให้เห็นได้ว่าสวนบำบัด หรือการเกษตรก่อให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งทางมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนหวังว่าการสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรในเมืองของกรุงเทพมหานครจะสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

o62. ข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัด
คุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน/โครงการสวนผักคนเมืองได้เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัด ไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเกษตร หรือเรื่องของการนำสวนบำบัดไปใช้ประโยชน์ในชุมชนมากขึ้น เช่น การมีพื้นที่สวนผักหรือเกษตรในบริเวณเขตชุมชน ไม่เพียงทำให้คนในชุมชนในอาหารปลอดภัยไว้กินเท่านั้น แต่พื้นที่สวนผักหรือเกษตรในเมืองที่เกิดขึ้น ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อคนในชุมชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน ช่วยคลายเครียด ช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ชุมชนอบอุ่นและน่าอยู่มากขึ้นด้วย หรือถ้าหากชุมชนไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้าไปช่วยเหลือในการริเริ่ม  2) การใช้พื้นที่สวนสาธารณะให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการเกษตร เช่น การจัดสรรพื้นที่ให้ปลูกผัก ทำแปลงเกษตรโดยประชาชนมีส่วนร่วม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและผู้ที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรกรรมด้วยตนเอง และ 3) ควรพัฒนางานด้านสวนบำบัดในเชิงยกระดับองค์ความรู้  โดยเน้นในเรื่องของการพัฒนางานด้านวิชาการ เพื่อให้เห็นขอบเขตและแนวทางที่ชัดเจนในการนำสวนบำบัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

สรุปคุณสุภา ใยเมือง ได้สรุปแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัดในประเทศไทย มี 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การทำงานของโครงการสวนผักคนเมือง ที่เน้นในเรื่องของการสร้างอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยสำหรับคนเมือง และยังค้นพบว่าการเกษตรกรรมมีประโยชน์ของในด้านการฟื้นฟูจิตใจอีกด้วย และข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการทำสวนบำบัด ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน การใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการเกษตร และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดในเชิงวิชาการ

 


ย้อนกลับ