มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

สวนบำบัด เพื่อการเข้าถึงความสุขที่อยู่รอบตัว

ชุดความรู้ ประสบการครอบครัวเด็กพิการและบุคลากรด้านความพิการ สนับสนุนโดย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบสวนบำบัดที่เหมาะสมกับเด็กพิการ และครอบครัว สู่การมีส่วนร่วมของชุมชน และท้องถิ่น

แม่ปู คุณแม่ของน้องมะปราง คุณแม่ผู้ผ่านความทุกข์แสนสาหัสมาได้ด้วยความเข้มแข็ง จากวันที่รับไม่ได้ที่มีลูกพิการ ท้อแท้สิ้นหวังจนคิดฆ่าตัวตายรายวัน แม่ปูพยายามยืนหยัดเข้มแข็งโดยมีรอยยิ้มของลูกน้อยเป็นแสงสว่างนำทาง ประกอบการกับการมุ่งมั่นเข้ากลุ่มเสริมพลังร่วมกับครอบครัวเด็กพิการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังได้ผ่านกระบวนการสวนบำบัด ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่ช่วยให้แม่ปูสามารถสัมผัสความสุขที่อยู่รอบตัวได้อีกครั้งอย่างยั่งยืน

พิการจากภาวะชัก แม่ปูมีลูก 2 คน ปัจจุบันลูกสาวคนโตอายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.3 และน้องมะปราง อายุ 12 ปี เมื่อตอนยังเป็นทารกน้องมะปรางมีภาวะชักจนทำให้สมองขาดออกซิเจน สมองบางส่วนถูกทำลายจนทำให้เคลื่อนไหวร่างกายเกือบไม่ได้ “น้องมะปรางคลอดเองที่ห้อง ไม่แน่ใจว่าเราบอกวันที่ประจำเดือนไม่มาตอนฝากคลอดผิดหรือเปล่า หมอนัดคลอดต้นเดือนตุลา แต่พอปลายกันยาน้องก็คลอด วันที่คลอดไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย แม่เข้าห้องน้ำรู้สึกเหมือนปวดท้อง แม่ไปนั่งห้องน้ำแล้วน้องก็พรวดออกร้องดังมาก เราเรียกรถพยาบาล กว่าหมอจะมาน้องก็เริ่มตัวเขียว แต่พอไปถึงโรงพยาบาลคุณหมอตรวจน้องก็ปกติหมด น้องมะปรางมาเริ่มผิดปกติตอนอายุประมาณ 6 เดือน เขานอนกลางวันแล้วอยู่ๆ ก็ร้องกรี๊ดขึ้นมา แม่เข้าใจว่าน้องละเมอเลยอุ้มเขาขึ้นมาโอ๋ ก็สังเกตว่าน้องเริ่มเขียว รีบนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเด็ก พอไปถึงหมอบอกว่าน้องมีภาวะชักส่งเข้าไอซียู น้องมะปรางอยู่ไอซียูประมาณ 3 วัน หมอบอกให้พ่อกับแม่ทำใจ น้องอาจจะไม่รอด หรือถ้ารอดก็อาจไม่ปกติ เพราะกว่าจะถึงโรงพยาบาลน้องตัวเขียวไปหมดแล้ว สมองเขาขาดออกซิเจนนาน” นับจากวันนั้นแม่ปูก็ตัดสินใจออกจากงานมาดูแลน้องมะปรางเต็มเวลา โดยมีคุณพ่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลักคนเดียว คุณแม่พาน้องมะปรางไปโรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูร่างกายอย่างสม่ำเสมอ น้องมะปรางเริ่มมีพัฒนาการดีขึ้น แม้จะช้ากว่าเด็กทั่วไป จนกระทั่งอายุ 2 ขวบ น้องมีภาวะชักอีกครั้งจนทำให้อาการทรุดลงไปอีก “น้องเริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นแต่ก็ช้า แม่ก็พาไปหาหมอทำกายภาพที่โรงพยาบาลเด็ก พอ 2 ขวบน้องก็เริ่มนั่งได้ แล้วผ่านไปสักพักน้องก็ชักขึ้นมาอีก ชักรอบนี้หนักมาก กัดลิ้นตัวเองจนเสียเลือดเยอะ หมอบอกว่าสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของเขาถูกทำลายเสียหายไป แล้วนับจากนั้นก็หนักเลย ทำอะไรไม่ได้ กินข้าวก็ไม่ได้ กินได้แต่นมแล้วก็โจ๊กเหลวๆ จนหมอบอกว่าจะขอเจาะท้องให้อาหารทางสายยาง เพราะน้ำหนักน้องน้อยมาก แต่แม่ไม่อยากให้เจาะเพราะเจาะท้องนี่เรื่องใหญ่ แม่ก็บอกหมอแม่ขอเวลา 3 เดือน ถ้าแม่ทำน้ำหนักลูกขึ้นไม่ได้ แม่จะยอมให้หมอเจาะ แม่ก็มาบำรุงเขาทุกอย่างจนน้ำหนักเขาขึ้น”

เข้าร่วมกลุ่มฟื้นฟูเด็กพิการ ในช่วง 4 ขวบแรกคุณแม่ดูแลน้องมะปรางด้วยตนเอง โดยพาน้องมะปรางไปพบคุณหมอ และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าน้องจะมีอาการดีขึ้น แล้ววันหนึ่งคุณแม่มีโอกาสได้รู้จักกับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ จึงได้พาน้องมะปรางมาร่วมกิจกรรมกับทางมูลนิธิจนถึงทุกวันนี้ “ตอนนั้นน้องอายุประมาณ 4 ขวบ แม่รู้จักมูลนิธิจากโทรทัศน์ เห็นเขาออกโทรทัศน์แม่ก็เลยติดต่อมา ก็เริ่มเข้ามาเรียนรู้การฟื้นฟู เริ่มมาเข้าค่ายโดสะโฮ พอเข้าค่ายนี้ลูกมะปรางดูดีขึ้น แม่สัมผัสได้เลยว่าพัฒนาการของลูกเราดีขึ้น จากนั้นมามะปรางก็เริ่มเคี้ยวข้าวสวยที่นิ่มๆ ได้ ถึงเคี้ยวไม่ละเอียด แต่เขาก็เริ่มขยับฟันขยับปากได้ แม่ดีใจมาก ซึ่งก่อนหน้านั้นชีวิตเราก็มีแต่บ้านกับโรงพยาบาลเด็ก เราไม่ค่อยอยากออกไปไหน เพราะออกไปไหนก็จะมีแต่คนถามไปทำอะไรมา แม่ไปกินยามาหรือเปล่าทำไมน้องเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่น้องเป็นแทบไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย ก่อนนั้นน้องนอนอย่างเดียว พลิกคว่ำพลิกหงายไม่ได้ เคี้ยวอาหารไม่ได้ พอมาที่มูลนิธิมาทำกายภาพ นวดไทย โดสะโฮ น้องก็เริ่มพลิกคว่ำได้ น้องมะปรางมาพลิกคว่ำพลิกหงายได้ที่นี่ กินอาหารได้ทุกอย่าง ตอนนี้แม่ฝึกการนั่งทรงตัว ให้เขานั่งพิงผนัง น้องเริ่มนั่งได้ การชันคอดีขึ้น คอแข็งขึ้น น้องพูดไม่ได้ แต่สื่อสารแสดงสีหน้าได้ ส่งเสียงอ้อแอ้ได้ หิวข้าวเขาก็ทำปากแจ๊บๆ ให้เรารู้ว่าเขาหิวแล้วนะ ถ้าปวดท้องหนัก เขาก็จะทำท่าเบ่งให้แม่รู้ว่าเขาปวดท้องนะ แม่ก็จะอุ้มเขาไปนั่งชักโครก ช่วงที่มาที่นี่เหมือนเขาได้มาเจอเพื่อน ได้มาเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งแต่ก่อนที่เรายังไม่ได้พาเขาออกมาก็จะมีแต่แม่กับเขาอยู่ในห้อง พอพามาเจอสิ่งใหม่ๆ มีเพื่อนมาคุยด้วยเยอะ มีคนเข้ามาคุยด้วย มีเพื่อนส่งเสียงให้เขาได้รู้ เขาเริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มมีพัฒนาการสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น”

ทำงานเพื่อตนเองและผู้อื่น นอกจากดูแลน้องมะปรางทุกวัน แม่ปูยังทำงานกับศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษส่วนกลาง ทำกิจกรรมศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว และมีภารกิจออกเยี่ยมบ้านที่มีคนพิการ เพื่อไปช่วยดูแลฟื้นฟูผู้พิการ และให้กำลังใจครอบครัว “กิจวัตรแต่ละสัปดาห์ วันจันทร์อังคารก็จะเข้ามาร่วมกิจกรรมกับทางมูลนิธิ มีกิจกรรมนวดไทย กายภาพ โดสะโฮ แล้วก็มีกิจกรรมดนตรีบำบัดของพี่ๆ เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการที่มาทำกิจกรรมให้เด็กๆ ส่วนวันพุธกับศุกร์อยู่บ้านฝึกกันเอง อยู่บ้านอาจจะไม่ได้เต็มที่เหมือนกับมาที่มูลนิธิแต่ก็เป็นวันพักของเรา วันพฤหัสเป็นกิจกรรมของแม่ๆ เป็นกิจกรรมศูนย์เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัว เขตวังทองหลาง จัดกิจกรรมกับแม่ๆ มาใช้สถานที่ของมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ตัวแม่ปูเองทำงานกับศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษส่วนกลางเป็นแม่พี่เลี้ยงเด็กพิการ วันเสาร์อาทิตย์พี่สาวเขาหยุดเรียนมาดูแลมะปรางแทนแม่ได้ แม่ก็จะออกเยี่ยมบ้านที่มีคนพิการ เพราะบางบ้านปู่ย่าตายายดูแลพามาทำกิจกรรมไม่ได้ เราก็ลงไปเยี่ยมช่วยฟื้นฟูเขาที่บ้าน”

เริ่มเข้าสู่วิถีสวนบำบัด แม่ปูได้เข้าอบรมกระบวนการสวนบำบัดกับมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นให้แม่ปูได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่สามารถบำบัดจิตใจที่ขุ่นมัวให้สงบเย็นลงได้ “สวนบำบัดตอนมูลนิธิเขาชวน เราก็เข้าใจว่าสวนบำบัดต้องไปปลูกนั่นปลูกนี่แน่เลย แล้วเราปลูกต้นไม้ไม่เป็น แล้วลูกเราจะทำได้เหรอ ลูกเราหยิบจับอะไรไม่ได้ เรากังวลว่าไปร่วมแล้วจะเพิ่มความเครียดให้เราไหม แต่พอเริ่มเข้าอบรมไม่ใช่แบบที่เราคิด สวนบำบัดคือสิ่งแวดล้อม คือธรรมชาติบำบัด ไม่ใช่เราต้องมาปลูกต้นไม้ แต่ธรรมชาติทุกอย่างรอบตัวเรา เราสามารถหยิบมาบำบัดตัวเราเองและลูกของเราได้ จากที่เราไม่เคยสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว อย่างเราอยู่แถวนี้แม่เข็นรถน้องออกมา แม่ไม่เคยมองข้างทางเลย ตั้งหน้าตั้งตาพาลูกมามูลนิธิ แต่พอเราไปอบรมสวนบำบัดเราเริ่มสังเกตข้างทางมีดอกไม้นะ เราก็ชวนลูกดู มีดอกไม้ มีผีเสื้อด้วย มีนกด้วย เราเริ่มสังเกตว่ารอบข้างตัวเราสวยนะ มีดอกไม้ มีสิ่งมีชีวิต ผีเสื้อ นก แล้วเราก็ได้พาลูกดู ชวนลูกมอง แต่ก่อนไม่เคยทำอย่างนั้น ไม่เคยพาลูกดูดอกไม้ แต่ตอนนี้เราชวนลูกคุย มะปรางหนูดูดอกไม้สิสวยไหม มีนกด้วยหนูได้ยินเสียงนกไหมลูก แม่ก็ได้อยู่กับตัวเอง ทำให้เราทำอะไรช้าลง เมื่อก่อนเราจะเร่งกับเวลามาก ทำอะไรไว ไม่ได้มองสิ่งรอบตัวเลย”

สวนบำบัดคือธรรมชาติรอบตัว แม่ปูเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกในวันแรกที่ได้เข้าร่วมกระบวนการสวนบำบัดว่า กระบวนการทำให้แม่ปูเรียนรู้ที่จะสังเกตธรรมชาติ สังเกตตนเอง และเริ่มทำอะไรช้าลง “วันแรกครูถามว่า ก่อนที่เราจะมาถึงนี่ วันนี้เราสังเกตเห็นอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนมา เราเจออะไร เรารู้สึกยังไง แม่จำได้ว่าแม่เจอผีเสื้อ แม่นั่งกินกาแฟอยู่ที่ระเบียงแล้วแม่เจอผีเสื้อบินเข้ามา ซึ่งเราก็คิดว่ามันอาจจะมีมานานแล้วก็ได้ แต่เราไม่เคยสังเกต เราก็นั่งกินกาแฟเฉยๆ แล้วก็รีบทำโน่นนี่นั่นให้ลูก พอครูถาม เราย้อนกลับไปสังเกตว่ามีผีเสื้อบินมาแต่เช้าเลยนะ สวยดีนะ ทำให้อารมณ์เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้นเยอะ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราจะทำอะไรต้องรีบทำ เดี๋ยวลูกตื่น พอวันนั้นเรารู้สึกสบายใจ แล้วใจเราเย็นขึ้น กิจกรรมในกระบวนการก็จะมีให้ปลูกต้นไม้ ครูก็จะสอนให้เราดูดิน ดินเป็นแบบไหน ก่อนปลูกต้องเอามาพรวนจับดูเจอก้อนหินให้หยิบออก ต้นไม้ก่อนที่เราจะเอามาปลูก เราก็ต้องสังเกต ทุกครั้งที่เราจะทำอะไร เราสังเกต ไม่ใช่การคัดเลือกต้นไม้ เพราะต้นไม้สวยทุกต้น แต่เป็นการสังเกตให้เรามองเขาอย่างละเอียด หรือกิจกรรมจัดแจกันก็ทำให้เราเห็นความสวยของดอกไม้ เมื่อก่อนเราไหว้พระเราก็แกะมัดดอกไม้แล้วก็เสียบเลย แต่ตั้งแต่เข้าอบรมทำให้เรามองดอกไม้ ตรงไหนที่ช้ำ ตรงไหนสวย เราสังเกตแล้วเราค่อยๆ บรรจงจัดลงแจกัน”

สวนบำบัดประยุกต์ใช้ในชีวิต สวนบำบัดเป็นทั้งแนวคิดและวิธีการปฏิบัติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน โดยการไม่แบ่งแยกตนเองออกจากธรรมชาติ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ในการดูแลลูก และการจัดกิจกรรมสวนบำบัดกับกลุ่มแม่ลูก “เราได้มุมมองใหม่ๆ ทุกครั้งที่ทำอะไรเราจะชวนลูกคุย มะปรางน่ารักไหม ดอกไม้สวยไหม วันนี้แม่จัดแจกันนะ บางทีเราก็จับมือเขาจัดดอกไม้ลงแจกัน อยู่ที่บ้านส่วนใหญ่ก็พาลูกจัดแจกัน ส่วนวันพฤหัสที่เรามีจัดกิจกรรมกับเด็กๆ และครอบครัว บางวันเราก็จะพาเด็กๆ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ พาเขาจับโน่นจับนี่ พาเขาเดินชมสวน ให้เขาดูบรรยากาศ นำกิจกรรมสวนบำบัดมาประยุกต์ทำกิจกรรมกับกลุ่ม ปลูกผักทำแปลงผัก ปลูกผักบุ้ง บางทีเราเอาดอกไม้มาปลูก เราจะบอกกับแม่ๆ ว่าเราไปอบรมมา การปลูกต้นไม้เราจะมีการสังเกตมองธรรมชาติก่อน เราให้ลูกๆ ลองสัมผัสกลิ่น สัมผัสดิน ก็ชวนเพื่อนทำกระบวนการเหมือนสวนบำบัดที่เราไปอบรมมา แล้วก็มีกิจกรรมเพ้นต์ผ้าเน้นให้เด็กๆ ได้สัมผัส สังเกต กิจกรรมจัดดอกไม้ก็ให้สัมผัสใบไม้ ให้ดมกลิ่น เด็กกลุ่มที่เราดูแลเขาก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ เราหากิจกรรมที่เหมาะคือ ทำในร่ม เน้นพวกงานฝีมือ ได้สัมผัสทั้งแม่และเด็ก เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ต้องจับมือพาลูกทำอยู่แล้ว”

ยิ่งสังเกตยิ่งเห็นความสุข จากการสังเกตธรรมชาติมากขึ้นทำให้แม่ปูสังเกตธรรมชาติของลูกได้มากขึ้นด้วย การได้เห็นลูกมีปฏิริยาตอบสนองต่อธรรมชาติรอบตัวทำให้แม่ปูมีความสุขหัวใจพองโตอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน “เราได้อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ทุกคนก็มีเรื่องกลุ้มใจ แต่ก่อนพอเรามีเรื่องกลุ้มใจเราก็นั่งอยู่คนเดียว พร่ำบ่นไปเรื่อย แต่ตอนนี้พอมีเรื่องกลุ้ม อยากไปอยู่ตรงไหนที่เป็นธรรมชาติ อยากอยู่ตรงนั้นสักพัก ซึ่งทำให้รู้สึกโอเคขึ้น รู้สึกว่าตัวแม่เองใจเย็นขึ้น ทำอะไรช้าลง จากที่เราเป็นคนเร็ว พอเราช้าลง เราได้มอง ได้สังเกต ได้สัมผัสกับสิ่งรอบตัวก็ทำให้เราผ่อนคลายขึ้นเยอะ เราสังเกตลูกเรามากขึ้นด้วย เห็นว่าเด็กแต่ละคนเขาก็มีความพิการที่ต่างกัน มีการแสดงออกที่ต่างกัน อย่างของมะปรางเขาแทบจะทำอะไรเองไม่ได้เลย เขาได้แค่แสดงสีหน้า พอเขาทำอะไรให้เราได้เห็นหน่อยนึงเรารู้สึกดีใจ เขาสื่อให้เราเห็นทางสายตา ทางท่าทางของเขาได้ ยิ่งเวลาพาน้องมะปรางเดินเล่น เอาดอกไม้ให้เขาดม เห็นรอยยิ้มของเขาแล้วเรารู้สึกได้ว่า ลูกเรารู้สึกนะ ลูกเราสัมผัสได้นะ ยิ่งทำให้เรามีความสุข หัวใจพองโตเวลาเห็นลูกยิ้ม”

มองเห็นลูกในมุมมองใหม่ เมื่อมองเห็นลูกในมุมมองใหม่ แม่ปูได้เห็นศักยภาพด้านความรู้สึกและจิตใจของลูก ได้รู้ว่าลูกรับรู้และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เหมือนเด็กคนหนึ่ง ทำให้แม่ปูกล้าที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการดูแลลูกโดยเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำด้วยตนเองมากขึ้น “แต่ก่อนเราชอบคิดว่ามะปรางไม่รับรู้อะไรหรอก แต่เรายังไม่เคยให้ลูกลองเลย เราตัดสินใจแทนลูกแล้ว ครูเขาจะบอกว่าแม่ลองให้ลูกทำก่อน ลองสังเกตลูกดูก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจ ลองให้เขาได้สัมผัส ลองให้เขาได้ดู ลองให้เขาได้สัมผัสกลิ่น ได้รับรสก่อน แล้วเราสังเกตเขา แต่ตอนแรกด้วยความเป็นแม่เราจะกลัวไปก่อน ก็คิดต้านอยู่ว่ามันจะถูกหรือครู ลูกจะเป็นอะไรไหม เราสร้างความกลัวให้กับตัวเองไปก่อน พอได้เข้าอบรมสวนบำบัดแม่เปลี่ยนความคิด แม่เริ่มอยากให้ลูกลองนะเพื่อดูว่าหนูจะมีปฏิริยาตอบแม่ยังไง แต่ก่อนดอกไม้ ใบไม้ ไม่กล้าเอาเข้ามาใกล้ลูก กลัวลูกจะแพ้ ด้วยความที่ลูกพูดไม่ได้ เราก็กลัวถ้าลูกแพ้เราจะทำยังไง แต่พอได้อบรมสวนบำบัด ทำให้แม่กล้าลอง แล้วก็รู้ว่าไม่ได้เป็นแบบที่เรากลัว ลูกของเราเขาสัมผัสได้ เขามีความรู้สึกของเขา เราเอาดอกไม้ที่มีกลิ่นให้เขาดม อันไหนที่หอมเขาก็ยิ้ม อันไหนไม่ชอบเขาก็จะหยีหน้า เราเอาผลไม้ให้เขาชิม แตะลิ้นเขา อันไหนเปรี้ยวเขาก็ทำหน้าตาให้รู้ว่าเปรี้ยว เขารับรู้ได้หมด เลยทำให้แม่รู้สึกว่าสวนบำบัดก็บำบัดจริงๆ เป็นธรรมชาติบำบัดจริงๆ”

ยืดหยุ่นและปรับตัวไปด้วยกัน การได้สัมผัสกับคุณค่าของธรรมชาติรอบตัวช่วยให้แม่ปูผ่อนคลาย และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดูแลน้องมะปราง ซึ่งทำให้น้องมะปรางต่อต้านการฝึกน้อยลงด้วย “แต่ก่อนแม่ทำโน่นทำนี่เหมือนแข่งกับเวลา เราเซ็ตตารางไว้เลยว่าตื่นตีห้า ทำกับข้าว อาบน้ำแปรงฟัน หกโมงพาลูกเล่น พาลูกฝึก แต่พอเราเข้าอบรม เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเซ็ตตารางแบบนี้ก็ได้ เราดูว่าวันไหนลูกอารมณ์ดี เราอาจจะเปลี่ยนแปลงกิจกรรม วันนี้ทำอย่างนี้ดีกว่าไหมลูก หรืออากาศดีเราออกไปเดินตรงนี้ดีกว่าไหม หรือบอกลูกว่าวันนี้แม่เว้นฝึกให้นะ เราไปดูนั่นกันดีกว่า ลูกเขาก็อารมณ์ดี เราเองก็ผ่อนคลาย ปกติมะปรางนี่อยู่บ้านฝึกไม่ได้เลย เขาจะต้านตลอด เหมือนเราบังคับเขามากเกินไปไหม เมื่อก่อนเราเป๊ะๆ น้องต่อต้านมาก แต่ตอนนี้เราเห็นเขาอารมณ์ไม่ดี เราก็จะบอกวันนี้แม่ให้ฟังเสียง หรือเราไปเดินเล่นไหม พอตอนเย็นๆ แม่ก็พาเขาเดินเล่นที่สวนมูลนิธิ บางทีก็บอกเขาถ้าวันนี้ไม่ยอมฝึก แม่ไม่พาไปเดินเล่นนะ ถ้าเขายอมฝึกเย็นๆ แม่ก็พาเขามาเดินที่สวน พอเรายืดหยุ่นกับเขา เขาก็ต่อต้านน้อยลง แต่ก่อนเราคิดว่าเขาไม่รับรู้อะไรหรอก เขาต้องฝึกสิ พอมาตอนนี้แม่เข้าใจแล้วว่าเขามีความรู้สึก เขาก็มีความต้องการต่างๆ เหมือนเรา เขารู้ว่าเขาอยากได้อะไร เขารู้นะว่าเราพูดอะไรกับเขา สัญญาอะไรกับเขาไว้”

พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของลูก กระบวนการสวนบำบัดที่เข้าไปปรับวิธีคิด อารมณ์ และจิตใจของแม่ยังเป็นการเตรียมให้แม่ปูพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกๆ ที่ในวันนี้ทั้งลูกสาวคนโตและน้องมะปรางกำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น “มะปรางเขาเป็นคนอารมณ์ไม่ค่อยหงุดหงิดเท่าไหร่ แต่ตอนนี้พอเขาเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 12 เขาเริ่มเปลี่ยนแปลง แล้วเขาจะโตไวกว่าเด็กปกติเพราะเขากินยากันชัก ซึ่งจะเร่งฮอร์โมน เขาก็จะเริ่มมีอารมณ์หงุดหงิด แม่ก็ได้เอาธรรมชาติมาใช้กับเขา ให้เขาออกมาชมโน่นชมนี่บ้างไม่ใช่ให้เขาอยู่แต่ในห้อง ตอนนี้เขาโตจนสื่อให้เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากออกข้างนอก อยากไปดูโน่นดูนี่บ้างนะ การไปอบรมสวนบำบัดเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่ทำให้แม่ช้าลง ใจเย็นขึ้น ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกมากขึ้น สวนบำบัดเหมือนมาเตรียมแม่ให้พร้อมกับการที่ลูกมะปรางเข้าสู่วัยรุ่นด้วย เพราะพอลูกเข้าวัยรุ่นลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ เรามีทั้งลูกที่ปกติและลูกที่ไม่ปกติ บางทีแม่ก็สับสน บางทีก็เอาความคิดของลูกปกติมาใส่ลูกไม่ปกติ บางทีเราดูพี่เขา ทำไมมะปรางไม่ทำเหมือนพี่ล่ะ เราลืมว่าน้องมะปรางเป็นเด็กพิเศษนะ ตอนนี้เราใจเย็น เราพยายามเข้าใจ ซึ่งแต่ก่อนแม่ยอมรับนะพอไม่ได้ดั่งใจนี่จะดุบ้าง แต่ตอนนี้เราเย็นลง ได้รู้ถึงอารมณ์ของลูกมากขึ้น กับลูกคนโตเราต้องทำยังไง กับคนเล็กเราต้องทำยังไง ตอนนี้ก็ได้พี่คนโตมาช่วยดูแลน้องเวลาแม่ไปข้างนอก วันเสาร์อาทิตย์ไม่ได้ไปโรงเรียนพี่ก็จะป้อนข้าว เช็ดตัว เปลี่ยนแพมเพิร์ส เล่นกับน้อง เราก็ฝึกพี่เขาด้วย พยายามบอกพี่ว่าน้องเป็นแบบนี้อีกหน่อยไม่มีพ่อกับแม่หนูก็ต้องดูแลน้อง เป็นเสาหลักให้น้องนะ”

เรียนรู้ธรรมชาติ เรียนรู้จักตนเอง เมื่อถามว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่แม่ปูได้เรียนรู้จากกระบวนการสวนบำบัดคืออะไร แม่ปูตอบว่า การได้เรียนรู้ธรรมชาติ ทำให้ได้เรียนรู้จักตนเองมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาตนเองต่อไป “เรียนรู้เข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับแค่ต้นไม้ ใบไม้ แต่เป็นธรรมชาติทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ภายในสวนจุดที่ปลูกต้นนั้นต้นนี้ แต่คำว่าสวนบำบัดคือธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน สังคมที่อยู่รอบข้างเรา เป็นสิ่งที่บำบัดเราได้หมด สามารถทำให้เราได้เรียนรู้ทุกอย่าง เรียนรู้ถึงการเป็นอยู่ จิตใจ ความรักความห่วงใย ทั้งหมดเป็นธรรมชาติบำบัดของเรา ทำให้เราได้มองย้อนกลับมาในตัวเอง ทำให้มองเห็นว่าเรามีลูกแบบนี้ ต่อไปเราต้องเดินไปข้างหน้าแบบไหน เราต้องปฏิบัติกับลูกยังไง เราต้องพาลูกก้าวไปแบบไหน ในการเลี้ยงดูทั้งลูกปกติกับลูกพิเศษ เราต้องทำอย่างไร แม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาดูแลจิตใจตัวเอง ความใจเย็น มุมมองก็มีส่วนที่ได้จากที่เรามองธรรมชาติทำให้เรามองตัวเอง เข้าใจธรรมชาติรอบตัวก็ช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง ถ้าเราเข้าใจอารมณ์ตัวเอง เราก็ยับยั้งได้ อย่างถ้าเราหงุดหงิด เราแค่หยุดมองสักนิดหนึ่ง เราจะเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย เริ่มทบทวนหาเหตุผลว่าเราจะทำยังไงกับอารมณ์นี้ จะทำยังไงกับเหตุการณ์นี้”

ความหวังและกำลังใจ สำหรับแม่ปูการมีลูกพิการคือบทพิสูจน์จิตใจที่แท้จริง การก้าวออกไปเผชิญหน้าแล้วอยู่ร่วมในสังคมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้มีความหวังและกำลังใจได้ “แม่ทุกคนพอรู้ว่ามีลูกพิการ อย่างแม่เองแรกเริ่มเลยก็น้ำตาเป็นโอ่งเหมือนกัน พอคุณหมอบอกว่าลูกพิการนะ เราก็รับไม่ได้อยู่แล้ว ทุกอย่างในครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงหมดพอเรามีคนพิการคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในครอบครัว ตอนแรกๆ เลยคิดจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ ทำไมต้องเกิดกับลูกเรา ทำไมต้องเป็นเรา ทุกคนที่มีลูกพิการต้องรู้สึกแบบนี้ กว่าแม่จะมาถึงจุดนี้ได้ก็ผ่านความรู้สึกแย่ ไม่อยากไปข้างนอก ไม่อยากออกไปพบเจอใคร แต่มาถึงวันนี้อยากบอกพ่อแม่ที่มีลูกพิการว่า ออกมาสู่สังคม ออกมาอยู่ข้างนอก พาลูกออกมา คือเข้าใจว่าทำยาก แต่ถ้าเราได้ก้าวออกมา แล้วเราจะเจอสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้เราดีขึ้นมาก จากที่เราคิดว่าไม่มีทางไหนสำหรับเราแล้วล่ะ หมดทางแล้ว แต่ความจริงแล้วสิ่งดีๆ รอเราอยู่ข้างนอก ทุกวันนี้แม่ดีใจที่ได้เจอมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ แม่คิดว่าถ้าวันนั้นแม่ไม่ได้ดูในโทรทัศน์ ไม่ได้รู้จักกับมูลนิธิวันนี้ไม่รู้แม่จะเป็นยังไง”

ความเข้มแข็งจากภายใน ความเข้มแข็งของจิตใจค่อยๆ สั่งสมขึ้นจากภายในตนเอง ผ่านกระบวนการฝึกฝนขัดเกลาตนเองต่างๆ ที่แม่ปูได้เข้าไปร่วมเรียนรู้ โดยมีเพื่อนๆ และคนในสังคมคอยสนับสนุนเกื้อกูลให้แม่ปูสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น “วันนั้นแม่ไม่มีความเข้มแข็งเลย อ่อนแอมาก คิดจะฆ่าตัวตายทุกวัน เพราะรู้สึกแย่มาก แล้วพอมาเจอมูลนิธิเหมือนเราได้มาเจอสังคมของเรา ได้มาเจอเพื่อนๆ ที่เข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน ได้เจอเจ้าหน้าที่ คุณครู เพื่อนๆ ที่เขาให้กำลังใจเรา นี่คือสิ่งที่แม่รอ สิ่งที่แม่คิดมาตลอดว่าไม่เคยมี แต่จริงๆ มีรอเราอยู่ข้างนอก ถ้าเราไม่ก้าวออกมา เราก็จะไม่เจอ อยากบอกผู้ปกครองที่มีลูกพิเศษให้ก้าวออกมาข้างนอก กล้าที่จะออกมาเจอสังคม กล้าที่จะมาพบปะผู้คน ไม่ต้องไปสนใจคำพูดใครที่เขาจะมองเราว่าไปทำอะไรมา ทำแท้งเหรอ กินยามาเหรอ ทำบาปกรรมมาสิชาติก่อน ไม่ต้องไปสนใจ มันอาจจะทำยากตอนใหม่ๆ แม่เข้าใจ เพราะแม่ก็ทำยากเหมือนกัน แต่ถ้าเราเข้มแข็ง คิดว่าคนที่อยู่กับเราคือกำลังใจ เราจะผ่านไปได้ แม่ยังจำสายตาน้องมะปรางได้ตอนที่แม่คิดจะฆ่าตัวตาย แม่จำสายตาเขาได้จนทุกวันนี้ วันนั้นแม่อยู่กับเขาสองคน แม่เครียดมาก แล้วขึ้นไปดาดฟ้า คิดว่าวันนี้เอาแน่ วินาทีนั้นมะปรางเขามองแม่ แล้วเขาสบตา แล้วเขายิ้มให้แม่ ทำให้แม่รู้สึกว่าลูกยังเข้มแข็ง แล้วเราจะอ่อนแอได้ยังไง สายตาและรอยยิ้มลูกวันนั้นทำให้แม่คิดว่า สู้สิ ลูกยังยิ้มเลย ทำไมเราถึงจะไม่ยิ้ม เราต้องกลับมาโฟกัสอยู่กับลูก เราจะไปด้วยกันนะ เขาคือกำลังใจ เขาคือดวงใจของเรา เขาก็มีความรู้สึก แม่เชื่อว่าการก้าวออกมายืนให้เข้มแข็ง แล้วเราจะผ่านจุดนั้นไปได้ แม่เชื่อว่าทุกคนทำได้”

ให้รอยยิ้มของลูกนำทาง ด้วยรอยยิ้มของน้องมะปรางในวันนั้น และความเข้มแข็งของแม่ปูทำให้วันนี้ทุกคนในครอบครัวกลับมายิ้มได้อีกครั้ง “เหตุการณ์พวกนั้นก่อนที่แม่จะพาน้องเข้ามาที่มูลนิธิ ช่วงนั้นรู้สึกแย่มาก ตอนนั้นทุกคนในครอบครัวรู้สึกแย่หมด ตายายนี่รู้สึกแย่มาก ไม่ใช่ว่าเขารังเกียจหลานนะ แต่เขาสงสารหลาน ไม่อยากมองหลานเลย ทุกอย่างในครอบครัวเปลี่ยนไปหมด จากที่เคยยิ้มแย้มแจ่มใสพอหมอบอกว่าลูกจะพิการนะ ทุกอย่างเปลี่ยนหมด แม่กับพ่อพอได้ยินคุณหมอพูดกลับมาบ้านเราไม่พูดกันเลย ไม่ใช่เราโกรธกัน แต่เราพูดไม่ออก ยายเขานี่หนักเลย แม่ปูเป็นคนศรีสะเกษคุณยายนี่แต่ก่อนแทบไม่อยากให้เอาหลานกลับบ้านไปเยี่ยมเลย ยายเขากลัวทำใจไม่ได้ กลัวเห็นหลานแล้วเศร้า ตอนนี้ทุกคนโอเคแล้ว ยิ่งตายายนี่อยากเจอหน้าหลาน คือเราพยายามจะบอกทุกคนว่า ถึงแม้เขาจะเป็นแบบนี้ แต่เขามีความรู้สึกนะยาย เราพยายามบอกยายว่าเราฟื้นฟูเขาได้ เขาก็เหมือนเด็กคนหนึ่งที่มีความรู้สึก ถึงร่างกายเขาจะไปไหนไม่ได้เหมือนคนอื่น แต่จิตใจเขาไปได้นะ จิตใจเขารับรู้ แล้วมะปรางเวลาพาเขากลับไปหาตากับยายเขาจะยิ้ม เวลาคุยโทรศัพท์เขาจะส่งเสียง ได้ยินเสียงตายายมะปรางจะส่งเสียงให้ตากับยายเขาได้ยิน แล้วยายกับตาก็จะดีใจที่หลานส่งเสียงหา เขาก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความน่ารักสำหรับทุกคน แล้วเขาก็เป็นที่รักของพี่ๆ ลุงป้า ตายาย”


ย้อนกลับ