มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

สวนบำบัดที่โรงพยาบาลลับแล เพื่อการพัฒนาสุขภาวะชุมชน

ชุดความรู้ ประสบการครอบครัวเด็กพิการและบุคลากรด้านความพิการ สนับสนุนโดย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ภายใต้โครงการพัฒนารูปแบบสวนบำบัดที่เหมาะสมกับเด็กพิการ และครอบครัว สู่การมีส่วนร่วมของชุมชน และท้องถิ่น

คุณสุวพิชญ์ ซ้อมจันร์ทรา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมกระบวนการสวนบำบัด ได้นำแนวคิดและกิจกรรมสวนบำบัดไปประยุกต์ใช้กับงานส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งเป็นงานในภารกิจหลักของคุณสุวพิชญ์ที่โรงพยาบาลลับแล เมื่อทำจนหลายภาคส่วนเห็นผลดีที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจึงสามารถขยายเครือข่ายการทำงานต่อยอดไปสู่นโยบาย ทั้งในระดับอำเภอ และระดับจังหวัดอีกด้วย

ภารกิจสุขภาพภาคประชาชน ในบทบาทของนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ คุณสุวพิชญ์ดูแลสุขภาพภาคประชาชน ทำงานเชิงรุกด้านป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาวะให้กับคนในชุมชน เมื่อได้อบรมกระบวนการสวนบำบัดแล้วคุณสุวพิชญ์จึงนำกิจกรรมสวนบำบัดไปทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง “มีส่วนหนึ่งของเนื้องานรับผิดชอบดูแลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และผู้สูงอายุ โดยออกไปทำกิจกรรมกับ อสม. ซึ่งกลุ่ม อสม. 80 % เป็นผู้สูงอายุอยู่แล้ว การขับเคลื่อนงานใน อสม. เราเริ่มนำสวนบำบัดไปใช้กับกลุ่ม อสม. เชิญมาอบรมเรื่องเกษตรปลอดภัย เรื่องสุขภาพ แต่เราจะแทรกกิจกรรมสวนบำบัด เรื่องการทำปุ๋ยหมักเจ แล้วก็แทรกเรื่องการจัดดอกไม้ เราไม่ได้นำสวนบำบัดเต็มรูปแบบไปใช้ แต่เราจะนำกิจกรรมต่างๆ ของสวนบำบัดไปแทรกไว้ตอนที่เราอบรมเรื่องอื่นๆ ให้กับ อสม.และผู้สูงอายุ”

สวนบำบัดตามบริบทของชุมชน คุณสุวพิชญ์ได้มาอบรมกระบวนการสวนบำบัดเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว หลังจากอบรมแล้วได้นำกิจกรรม 3 กิจกรรมที่เหมาะสมไปจัดกิจกรรมกับคนในชุมชน ทั้งกิจกรรมจัดดอกไม้ ทำปุ๋ยหมักเจ และการเพาะเมล็ดพันธุ์ “ตอนมาอบรมเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนที่สมัครเราสมัครรุ่นที่อบรมเจ้าหน้าที่ แต่พอดีรุ่นนั้นเราไปไม่ได้ เลยได้ไปเรียนร่วมกับอีกรุ่นที่เป็นรุ่นพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัวเด็กพิการ เราไม่เคยทำงานกับกลุ่มนี้ พอได้เห็นก็อึ้งว่าเราใช้สวนบำบัดกับเด็กได้ด้วย ตอนแรกก็หนักใจว่าเราไม่มีเด็กพิการในมือ ในโรงพยาบาลไม่ได้ดูแลเด็กพิการ เพราะในพื้นที่มีโรงเรียนที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้อยู่ ก็เลยคิดว่าจะนำความรู้นี้ไปใช้กับงานในบทบาทหลักที่เราดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชนก่อน ตอนแรกก่อนไปคิดว่าคงเหมือนเราทำสวนทั่วไป แต่พอได้เข้าอบรมสวนบำบัดแตกต่างจากทำสวนธรรมดา เราอินไปกับกระบวนการในเรียนรู้ ตั้งแต่การสังเกตสิ่งแวดล้อม เหมือนทุกวันเราก็ไม่เคยสังเกตว่าเสียงอะไรจะดัง มีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวบ้าง แต่สวนบำบัดชวนให้เราได้ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ชม ค่อยๆ ฟังทุกอย่าง ได้มาอยู่กับตัวเอง เราเริ่มเปลี่ยนตัวเราเองก่อน เรานิ่งมากขึ้น ฟังมากขึ้น เห็นมากขึ้น วันนี้มีใบไม้ไหว มีเสียงนกนะ พอใจเริ่มนิ่งได้ ทำให้เริ่มจินตนาการต่อได้ว่า เราน่าจะนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปทำทีละอย่างตามบริบทที่เราทำได้ ตอนนี้ใช้กิจกรรมประมาณ 3 กิจกรรมนำไปทำกับกลุ่ม อสม.และผู้สูงอายุคือ การทำปุ๋ยหมักเจ การจัดดอกไม้ แล้วก็เพาะเมล็ดพันธุ์ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น เพ้นต์กระเป๋า ยังไม่ได้ทำเพราะติดที่อุปกรณ์บางกิจกรรมหายาก ตอนนี้เราหาโอกาสทำได้ 3 ตัวก่อน”

เข้าสู่โรงเรียนผู้สูงอายุ เริ่มต้นจากการเข้าไปจัดกิจกรรมกับกลุ่มผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุ ทั้งกิจกรรมการเพาะเมล็ดพันธุ์ และการจัดดอกไม้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่สำหรับผู้สูงอายุ “เราไปชวน อบต.ที่เขามีโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเข้าไปสอนจัดดอกไม้ และอบรมเรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์ โดยใช้กระบวนการให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสกับดิน ได้สังเกตธรรมชาติ คือผู้สูงอายุเขาก็ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ปลูกแบบสวนบำบัด แต่เรานำกระบวนการสวนบำบัดเข้าไป ชวนเขาจับดิน สัมผัสดิน ตอนแรกเขาก็งงๆ แต่ก็พยายามทำความเข้าใจไปกับเราดี ส่วนเรื่องการจัดดอกไม้ เขาไม่เคยทำมาก่อน แต่ตอนนี้ก็เรียกร้องอยากให้มีการสอนจัดดอกไม้ทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือนตอนที่เขามาทำกิจกรรมร่วมกัน ตอนนี้กลายเป็น อบต.ต้องทำโครงการให้งบประมาณ แล้วซื้อแจกันมาไว้เพื่อจัดกิจกรรมสอนจัดดอกไม้ เราก็มีทีมไปสอนให้ การจัดดอกไม้ใช้กระบวนการสวนบำบัด ชวนไปเลือกแจกันก่อน พาไปชมสวน แล้วก็ค่อยๆ ไปเลือกดอกไม้มา ตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจ บอกให้ผู้สูงอายุตัดดอกไม้มา เขาก็ตัดเอาแต่ดอกเหมือนไปวัด แต่พอเขาเริ่มเรียนรู้ เขาก็ตัดมาแบบมีกิ่งมาด้วย เราให้เขาทำตามกระบวนการไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้คือความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ อย่างมีคุณลุงผู้อายุเขาก็บอกตลอดชีวิตมาไม่เคยจัดดอกไม้เลย เข้าใจว่าเป็นงานของผู้หญิง แต่ทำแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าสวย เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้สูงอายุบางคนด้วย”

ขยายผลสู่ท้องถิ่น กิจกรรมสวนบำบัดได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้สูงอายุ กลุ่มผู้สูงอายุให้ความสนใจมาก จนกระทั่งท้องถิ่นเห็นความสำคัญเข้ามาให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมเรื่อยมา และขยายไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง “เริ่มขยายจากโรงเรียนผู้สูงอายุจาก อบต.หนึ่งไปอีก อบต.หนึ่ง เพราะเขาเห็นกิจกรรมที่เราทำแล้วเราประชาสัมพันธ์ลงในโซเชียลมีเดีย เฟสบุ๊ค เขาก็สนใจติดต่อมาอยากให้ไปทำใน อบต.ของเขาบ้าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็เชิญเราไปสอน ตอนนี้ขยับขยายไป 2 ตำบลแล้ว งบประมาณปีหน้าก็เขียนแผนกันต่อจะทำเรื่องสวนบำบัดต่อในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีชมรมผู้สูงอายุในแต่ละหมู่บ้าน เราอาจเคลื่อนลงไปจัดกิจกรรมในหมู่บ้านด้วย เพราะตอนนี้จัดแค่ที่ อบต.อย่างเดียว ส่วนหนึ่งที่ทำให้ขยายงานได้จน อบต.มาร่วมด้วย เพราะผลตอบรับจากผู้สูงอายุที่ดี อย่างเรื่องจัดดอกไม้พอเรียนแล้วผู้สูงอายุก็บอกเดี๋ยวจะไปจัดดอกไม้ไว้ที่บ้าน เดี๋ยวคุณหมอไปดูที่บ้านจะเห็นแจกันดอกไม้ เขาเริ่มมีความสุขมากขึ้นกับสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน เราไม่ได้บอกว่าไปหาแจกันสวยๆ มานะ แต่เราบอกว่าอะไรก็ได้ที่อยู่ในบ้านเอามาจัดได้หมด ไม่ต้องซื้อใหม่ ให้มองหาความงามของสิ่งที่เรามีอยู่ที่บ้าน ดอกไม้ก็ไม่ต้องไปซื้อหา หาในบ้านเราไปตัดมานี่ล่ะ สิ่งที่เห็นหลังทำกิจกรรมคือ เขามีความสุข มีสมาธิมากขึ้น เวลาเราพูดเขาก็ฟังมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่มาร่วมกิจกรรมเขาจะชอบกิจกรรมร้องรำทำเพลง มาเต้นกันสนุกสนาน แต่กิจกรรมสวนบำบัดจัดดอกไม้เหมือนมาชวนให้เขาได้สงบผ่อนคลายสักพัก แล้วค่อยไปทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อ”

การคัดแยกขยะ สวนบำบัดที่เป็นกิจกรรมทำปุ๋ยหมักเจยังได้เข้าไปมีส่วนส่งเสริมนโยบายเรื่องการจัดการขยะของโรงพยาบาลและชุมชนได้อย่างดีอีกด้วย “หลังจากเราชวนกันทำเรื่องการจัดการขยะ ในหมู่บ้านเริ่มรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะ เราก็เข้าไปร่วมด้วย ไปชวนทำปุ๋ยหมักเจ โดยให้เขาทำบ่อ หรือทำเป็นคอกกั้นให้เขาทำปุ๋ยแบบที่เราเรียนรู้จากสวนบำบัด แนะนำให้ทำปุ๋ยตัวนี้ไว้ใส่ต้นไม้ของตัวเอง ปุ๋ยหมักเจก็เป็นการนำขยะเศษใบไม้ใบหญ้ามาทำปุ๋ยหมัก บางคนทำแล้วเอามาขายได้ด้วย สามารถนำปุ๋ยหมักเจมาขายที่ตลาดสีเขียวของโรงพยาบาล ตลาดสีเขียวของโรงพยาบาลจะมีทุกวันพุธ ดิฉันเป็นดูแลตลาดอยู่ เราจะมีจุดสาธิตปุ๋ยหมักเจที่ตลาดสีเขียวเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นเกี่ยวกับการคัดแยกขยะอินทรีย์เศษใบไม้ต่างๆ มาเอาไปทำปุ๋ยหมักเจ คนที่มาตลาดก็ได้มาเรียนรู้เรื่องนี้”

โรงพยาบาลอาหารปลอดภัย นโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สวนบำบัดสามารถเข้าไปมีส่วนทำให้นโยบายนี้เกิดผลปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการทำแปลงพืชผักปลอดสารพิษในโรงพยาบาล และใช้ปุ๋ยหมักเจที่ผลิตเองในแปลงพืชผัก “ต่อมาเรามีนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย เราทำปุ๋ยหมักของเรามาเรื่อยๆ ทีนี้พ่อบ้านของโรงพยาบาลที่เขาจัดการงานทั่วไปของโรงพยาบาล เขาเห็นเราทำบ่อปุ๋ยหมักเจก็มาเรียนรู้กับเราด้วย เรามีพื้นที่รกร้างหลังโรงพยาบาล พื้นที่เป็นดินถมลูกรังที่เขาถมดินไว้ พ่อบ้านก็บอกดินตรงนี้จะทำอะไรได้เป็นดินลูกรัง เราก็บอกนี่ลองเอาปุ๋ยหมักเจในบ่อไปใส่ดิน ก็ให้คนงานทำเป็นแปลงยกร่อง แล้วเอาปุ๋ยที่ทำไว้มาผสมในดิน แล้วข้างๆ เป็นสวนมะม่วงใบร่วงเยอะแยะเลย พ่อบ้านเขาก็ทำบ่อปุ๋ยหมักเจของตัวเองเพิ่มอีก 2 บ่อ เอาใบมะม่วงที่ร่วง ใบไม้ใบหญ้าที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมดเลยมาใส่บ่อ ซึ่งปกติขยะใบไม้พวกนี้จะต้องเอาใส่หลังรถแล้วเอาไปทิ้งนอกโรงพยาบาล หาที่ทิ้งก็ไม่ค่อยได้ เพราะรถ อบต.ที่มาเก็บขยะ เขาจะบอกเลยว่าไม่ให้เราทิ้งกิ่งไม้ เศษใบไม้ เขาให้เราทิ้งเฉพาะขยะที่เป็นขยะจริงๆ พอมีบ่อปุ๋ยหมักเจโรงพยาบาลก็ขนไปทิ้งแต่กิ่งไม้ใหญ่ๆ ส่วนเศษใบไม้คนงานจะเอามาใส่บ่อ เราได้ใช้ปุ๋ยตัวนี้มาใส่แปลงเกษตรที่ปลูกมาได้สัก 2 ปีแล้ว รอบการเก็บผลผลิตจะออกเรื่อยๆ เราประชาสัมพันธ์ไปในช่องทางต่างๆ ว่าเรามีแปลงผักของโรงพยาบาลที่ไม่ใช้สารเคมี มีกระบวนการทำแบบนี้ ผลผลิตส่วนหนึ่งแจกให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งแบ่งมาทำอาหารให้คนไข้ มีการสื่อสารให้ความรู้คนไข้ไปด้วยว่า อาหารมาจากแปลงปลูกผักของเราเอง กระบวนการของเราคือ การใช้ปุ๋ยหมักเจที่เราทำเอง ไม่ได้ใส่สารเคมี”

แปลงผักสร้างความร่วมมือ แปลงปลูกผักของโรงพยาบาลกลายเป็นสถานที่ทำกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงพยาบาลกับคนในชุมชน ช่วยสร้างการรับรู้เรื่องอาหารปลอดภัย และยังช่วยลดต้นทุนด้านอาหารให้กับโรงพยาบาลได้มากถึงเดือนละประมาณ 5,000 บาท “แปลงผักของเราจะมีเครือข่ายมาช่วยกันดูแลทุกวันพุธ มีทีม อสม.มาช่วยกันไถที่ ดูแลการปลูก บางคนก็หาเมล็ดพันธุ์ต้นกล้ามาให้ แล้วก็หมุนเวียนมาช่วยกันดูแล เวลามีปัญหาอะไร แมลงลงก็จะมาช่วยกัน ทุกวันพุธเรามีตลาดสีเขียวเสร็จแล้วเครือข่ายจะมารวมตัวกันเยี่ยมแปลงเกษตร ดูแลแปลงผัก นักโภชนาการของเราก็นำไปสื่อสารให้คนไข้ที่ตึกรับรู้ มีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารนี้ว่าเป็นอาหารจากแปลงเกษตรปลอดสารเคมี แปลงผักยังช่วยลดต้นทุนที่ซื้อผักจากข้างนอกได้ ล่าสุดลดได้ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือนแล้ว แต่ผักบางชนิดยังต้องซื้อข้างนอกเพราะบางชนิดเราก็ปลูกไม่ได้ในพื้นที่จำกัด”

เอื้อต่อชุมชนเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรม ประชาชนทำอาชีพเกษตรกรเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ จำนวนมาก ทางโรงพยาบาลจึงมีนโยบายดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยการส่งเสริมการลดใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ซึ่งการทำปุ๋ยหมักเจ สามารถเข้าไปเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดใช้สารเคมีของเกษตรกรได้ “คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร เราไปชวนกลุ่มเกษตรกรทำหอมแดงที่ไม่ใช้สารเคมี ชวนได้แล้ว 3 เจ้า เน้นเรื่องปรับปรุงดิน ใช้ปุ๋ยหมักเจ ทำให้เกิดมูลค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร หอมแดงปกติในท้องตลาดจะราคา 10 – 30 กว่าบาท แต่ถ้าทำหอมแดงที่ไม่ใช้สารเคมีขายได้ 80 บาท ซึ่งทางเราก็จะหาทางช่วย 3 เจ้านี้ขายด้วย แต่ต้องมีค่าบริหารจัดการคือเราจะรับซื้อเขามาในราคา 65 บาท แล้วหาตลาดช่วยขายให้ แต่เกษตรกรเขาก็ทำอยู่บนความกลัว เขาไม่ได้ทำหอมแดงปลอดสารเคมีทั้ง 10 ไร่ เขาแบ่งทำ 2-3 งานเพราะกลัวไม่ได้ผล ตอนนี้ 2-3 เจ้าที่ทำก็ออเดอร์ไม่พอขาย อสม. ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขยายวงเรื่องปุ๋ยหมักเจออกไป เราชวนเขามาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องลดการใช้สารเคมีในเกษตรกร เรามีงานหลักที่ดูแลสุขภาพของเกษตรกร มีการเจาะเลือดตรวจสารเคมีตกค้าง พอเราเจาะเลือดเขาแล้ว เราจะแนะนำเขาอย่างไรต่อ ตอนนี้ก็แนะนำได้ว่าลดใช้สารเคมีลง ลองทำปุ๋ยหมักเจใช้กันไหม ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ใช้มูลสัตว์ก็ได้ แต่ต้องหมักก่อนนะ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต นำมาขายในตลาดสีเขียวของโรงพยาบาลเราก็ได้ กลุ่ม อสม.เองก็นำเรื่องปุ๋ยหมักเจไปใช้ที่บ้าน ทำให้เขาจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น บ้านก็สะอาดขึ้น มีการคัดแยกขยะ ในกลุ่ม อสม. บ้านไหนมีพื้นที่ปลูกผักเขาก็จะเอาไปใช้ ลดการใช้สารเคมีลง แต่บางคนก็ยังติดใช้ปุ๋ยเม็ดเขียวอยู่ เขายังไม่ค่อยเชื่อว่าปุ๋ยหมักเจมันจะดีจริง เราก็ค่อยๆ พยายามชวนให้เขาลด พาไปดูแปลงที่โรงพยาบาล บอกเขาว่าลองดูสิแปลงผักของโรงพยาบาลก ไม่ได้ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีเลยนะ ผักก็โตสวยดี”

ต่อยอดสู่นโยบายระดับอำเภอและจังหวัด การทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเริ่มขยายผลสู่กลุ่มต่างๆ การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทำให้กิจกรรมได้รับการยอมรับในระดับพื้นที่จนสามารถต่อยอดไปสู่โครงการทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด “ในอำเภอเรามี พชอ. คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นนโยบายหลักของมหาดไทย มีนายอำเภอเป็นประธาน แล้วก็มีสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขา มีประเด็นยุทธศาสตร์ที่เราขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ของประชาชนในอำเภอ ประเด็นเรื่องผู้สูงอายุก็อยู่ในนั้น ในคณะกรรมการฯ ก็จะใช้เรื่องสวนบำบัดในการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งอยู่ในแผนที่ร่างไว้แล้วจะเริ่มใช้ปีหน้า ซึ่งพอเรานำเสนอกิจกรรมนี้ไปนายอำเภอท่านก็เห็นด้วยที่จะให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมแบบนี้ เพื่อนในโรงพยาบาลก็นำไปทำต่อ อย่างหัวหน้ากลุ่มงานของเราก็เห็นความสำคัญ หัวหน้ากลุ่มงานเขาทำสหกรณ์ออมทรัพย์ของอุตรดิตถ์ด้วย เขาก็ไปเขียนแผนงานภาพใหญ่ของงานสหกรณ์ ไปจัดอบรมเรื่องการปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี การทำปุ๋ยหมักเจ และเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้า นำไปจัดอบรมให้สมาชิกสหกรณ์ ล่าสุดมีคนเข้ามาร่วม 50 คน สมาชิกให้ความสนใจเข้าร่วมมาก แล้วกิจกรรมอบรมของสหกรณ์มีการติดตามผล จัดอบรมแล้วไปทำต่อไหม มีการถ่ายรูปส่งมาดูในกลุ่ม บางคนไปเพาะเมล็ดพันธุ์ทำต้นกล้าขายได้อีกด้วย นี่เป็นการขยายจากตัวเรา ขยายไปสู่หน่วยงานอื่นๆ แล้วขยายไประดับจังหวัด”

สวนสร้างความสุข สวนบำบัดไม่เพียงช่วยสร้างสรรค์เรื่องงานในภารกิจที่รับผิดชอบ แต่ยังช่วยสร้างความสุขในชีวิตประจำวันให้กับคุณสุวพิชญ์ได้ในทุกวัน “มีส่วนที่ได้กับความคิดและจิตใจของตนเอง ทำให้ช้าลง เมื่อก่อนเราจะไม่ค่อยมีสมาธิ ตอนนี้ได้มีเวลาสงบสติอารมณ์มากขึ้น ได้ใคร่ครวญ ได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นเพราะว่าเราเริ่มช้าลง เหมือนได้คิดเยอะขึ้น ไม่รีบตัดสิน เมื่อก่อนเราอาจจะคิดเร็ว โกรธเร็ว แต่พอเราช้าลงทำให้ไม่ค่อยโกรธ เราช้าลงเหมือนตอนที่เราได้พิจารณาดอกไม้ ใครทำอะไรมาเราก็ค่อยๆ ดูว่าเขาคงมีเหตุผลของเขา เราไม่ด่วนตัดสินแล้วก็โมโหไปเลย ทำให้ใจเย็นขึ้น แล้วเหมือนเราได้ฝึกสมาธิ อย่างดอกไม้ที่บ้านเมื่อก่อนเราก็ไม่ค่อยได้สนใจ ปล่อยให้เขาอยู่ตามต้นไป พอไปเรียนกระบวนการนี้มาเราชื่นชมสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราได้มากขึ้น เริ่มมีแจกันเต็มบ้าน เรามีความสุขมากขึ้นจากสิ่งที่เราทำที่บ้าน”

สวนสร้างเครือข่าย กิจกรรมเหล่านี้ยังทำให้เกิดเครือข่ายคนหัวใจเดียวกันที่สามารถแบ่งปันความรู้ และทำงานขยายผลในวงกว้างต่อไปได้เรื่อยมา “เราได้เครือข่ายมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนกัน บางทีเราก็เพาะเมล็ดพันธุ์ใส่ถุงดำไปแจกด้วย เราก็ได้เพื่อน บางทีก็เอามาขายได้ ได้เครือข่ายด้วย ได้เงินด้วย มีการขยายผลไปเรื่อยๆ ได้ทำเป็นผลงานของเราด้วย เพราะสามารถนำมาประยุกต์กับงานหลักของเราคือ ส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของ อสม. แล้วก็ควบคุมป้องกันโรค ป้องกันโรคติดต่อต่างๆ หลายครั้งที่จัดกิจกรรมจัดดอกไม้เสร็จมีการสื่อสารออกไปในสื่อต่างๆ เพื่อนๆ เห็นก็สนใจ พากันไปซื้อแจกันมาทำ เราก็แนะนำวิธีการ แล้วก็พาเพื่อนไปเรียนจัดดอกไม้ แล้วบางคนเขาก็วางแผนจะไปเรียนกับที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการจัดด้วย หรือปุ๋ยหมักเจเราทำแล้วก็โพสต์เฟสบุ๊ค มีคนมาขอสูตรเราก็เผยแพร่ออกไป ทุกอย่างที่ทำมีผลดีต่อตัวเรา เพราะไปเข้ากับนโยบายคัดแยกขยะ ลดขยะ อาหารปลอดภัยขององค์กร สอดคล้องกับเรื่องการทำงานที่ทำ ปีที่แล้วก็ได้รางวัลของเขต ปีนี้ก็ได้อีกเป็นรางวัลเกี่ยวกับนวัตกรรม”


ย้อนกลับ