มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นอย่างไรสำหรับคนพิการ

“ตอนผมอยู่ในช่วงอายุที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ ตอนนั้นเงินเดือนแค่ 9 พันกว่าบาท ไม่มีเงินซื้อรถ ออกจากบ้านต้องนั่งแท็กซี่ไปทำงาน วันหนึ่งตีสัก 300 (บาท) คูณ 30 วัน ก็ 9 พัน เงินเดือนผมเหลือไหม นี่คือภาพความเป็นจริง”

เมื่อ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ชายผู้นั่งอยู่บนวีลแชร์ ซึ่งขาทั้งสองข้างพิการซ้ำซ้อนจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอุบัติเหตุ ย้อนนึกถึงประสบการณ์การเดินทาง ในช่วงที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าหลายสิบปีที่แล้ว เขาอธิบายถึงภาวะการดำเนินชีวิตว่า “ต้องกระเสือกกระสน” และ “ใช้ความอึดของตัวเอง”

สองสิ่งที่ว่าคือ สิ่งที่มานิตย์บอกว่า คนพิการในไทยอย่างเขา ต้องพยายามดิ้นรนให้ตัวเองกระโดดขึ้นมามีคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับคนอื่น

“จะเห็นว่าคนพิการในประเทศ มันเป็นภาพที่ไม่สวยงามเลย คนพิการไม่มีความรู้ คนพิการไม่มีงานทำ คนพิการต้องมานั่งขอทาน ถ้าเราสร้างคนพิการให้เดินทางได้ คนพิการก็จะสามารถพัฒนาเองได้”

ตอนนี้ มานิตย์อยู่ในวัย 49 ปี เขาเจ้าหน้าที่ไอทีของบริษัทแห่งหนึ่ง และเดินทางโดยการขับรถที่ดัดแปลงเกียร์เพื่อให้คนพิการขับได้ ทว่าประสบการณ์อันยากลำบากที่ผ่านมาทำให้เขากลายมาเป็นนักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนพิการในการเข้าถึงขนส่งมวลชน เพื่อร่วมให้ข้อมูลแก่สาธารณะ และภาครัฐในการปรับปรุงขนส่งสาธารณะเพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม

แต่นี่เป็นเพียงส่วนเดียวที่คนพิการในไทยต้องเผชิญ แม้ประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมาแล้วเป็นฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) แต่ว่าชีวิตของคนพิการในหลายส่วนของประเทศยังห่างไกลคำว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี

การเดินทางที่เท่าเทียม

ย้อนกลับไปในเดือน มี.ค. สื่อมวลชนรายงานข่าวว่ามานิตย์ทุบลิฟต์ของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก เพราะลิฟต์ของสถานีถูกล็อค และเขาไม่สามารถขึ้นไปยังชานชาลาได้

เขากล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “เป็นการกระทำที่ไม่ดีนัก แต่ว่าจำเป็นสำหรับประเทศไทย” เพราะแม้ว่าในปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร จัดทำลิฟต์ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า แม้กระทั่งตอนนี้ กทม. ก็ยังสร้างไม่เสร็จและบางที่สร้างแล้วใส่ลิฟต์ไม่ครบ

“การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ดีที่สุดต้องสร้างตั้งแต่เริ่มต้น เราจะเห็นปัญหาของบีทีเอส เป็นตัวบอกเลยว่า การสร้างทีหลังไม่ง่าย” เป็นสิ่งที่มานิตย์

เมื่อถามว่าคิดอย่างไร ที่การเข้าถึงขนส่งสาธารณะที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดบริการให้คนพิการ ต้องใช้วิธีการฟ้องร้อง มานิตย์บอกว่าในต่างประเทศก็มีเช่นนี้ แต่ไทยนั้นมีความแตกต่างออกไป

“ประเทศไทยฟ้องแล้ว ยังไม่สร้าง ศาลสั่งแล้วสร้างไม่เสร็จ บางที่สร้างแล้วใส่ลิฟต์ไม่ครบอีกด้วย” มานิตย์กล่าวกับบีบีซีไทย และเล่าว่า มีครั้งหนึ่งได้รับคำอธิบายจากผู้เกี่ยวข้องว่า คนพิการถ้าจะขึ้นรถไฟฟ้าให้นั่งแท็กซี่ข้ามไปหาลิฟต์อีกฝั่งหนึ่ง

มานิตย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนพิการในกรุงเทพมหานคร เข้าถึงรถไฟฟ้าได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ จากปัญหาของลิฟต์และทางเข้าออก ซึ่งลิฟต์ที่บีทีเอสสร้างยังใช้งานไม่ได้จริงหลายแห่ง เนื่องจากการออกแบบการเข้าสู่ระบบสถานี ระบบเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะอื่น ไม่นับรวมเรื่องห้องน้ำสำหรับคนพิการที่ยังไม่มีโดยเฉพาะ

“การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ดีที่สุดต้องสร้างตั้งแต่เริ่มต้น เราจะเห็นปัญหาของบีทีเอส เป็นตัวบอกเลยว่า การสร้างทีหลังไม่ง่าย” มานิตย์ สะท้อนปัญหาของการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพฯ

“ผมมองว่า คนพิการไม่ว่าจะอยู่ กทม. ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศหรืออยู่ต่างจังหวัด แม้จะความต้องการต่างกัน แต่ลึก ๆ แล้วเหมือนกัน นั่นหมายความถึงให้พวกเขาเดินทางได้ ให้พวกเขาไปโรงเรียนได้ ไปห้างสรรพสินค้า ไปทำงานได้ เมื่อพวกเขามีรายได้ เศรษฐกิจก็จะหมุน นี่คือการทำให้คนพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องคนพิการ จริง ๆ มันเป็นภาพรวมที่เป็นเรื่องเดียวกัน” มานิตย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

คนพิการอยากเห็นอะไรในการเดินทางขนส่งมวลชน เพิ่มขนาดตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น หรือการใช้สี สัญญาณไฟ เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถเห็นได้ชัดเจน รถเมล์มีเสียง บอกสายรถเมล์เมื่อเข้าป้าย สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น

“การศึกษาในฝัน” ของผู้บกพร่องทางการได้ยิน

บีบีซีไทยไปสนทนากับสุทธิพงษ์ สุคำหล้า จอม- วีรภัทร ชูพรหมแก้ว นักศึกษาผู้พิการทางการได้ยิน ที่สาขาหูหนวกศึกษา วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผ่านล่ามภาษามือ 2 คน

พวกเขาบอกว่าทางวิทยาลัยมีระบบบัดดี้ ซึ่งก็คือ นักศึกษาที่สามารถได้ยินเป็นปกติจะต้องคอยสนับสนุนนักศึกษาที่พิการทางการได้ยิน ในกรณีของทั้งสองคน พวกเขามี ติว-ลดาวัลย์ ปัญญาแก้ว นักศึกษาที่สาขาเดียวกันคอยให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องชีวิตการเรียนและชีวิตประจำวันในรั้วมหาวิทยาลัย

สุทธิพงษ์ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการออกปฏิบัติฝึกสอน บอกกับบีบีซีไทยว่า การเรียนที่นี่ต่างจากตอนเรียนมัธยม ที่มีครูแปลภาษามือเป็นคำ ๆ มีบ้างหลายครั้งที่เขาไม่เข้าใจบทเรียน แต่ที่นี่การมีล่ามภาษามือเป็นสิ่งที่แม็กเห็นว่าสำคัญต่อการเรียนของเขา

ในชั้นเรียน จะมีล่ามภาษามือ 2 คนที่คอยแปลที่อาจารย์สอน, เจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษาที่คอยบันทึกวิดีโอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จดคำบรรยายในชั้นเรียน หลังจากนั้นสื่อทั้งวิดีโอและคำบรรยายเหล่านี้จะถูกนำไปไว้ในระบบอินทราเน็ตเพื่อให้นักศึกษาผู้พิการทางการได้ยินสามารถทบทวนบทเรียน

สุทธิพงษ์บอกว่าโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกที่เขาอยากเห็น ควรจะเป็นรูปแบบการสอนที่ควบคู่กันกับผู้ที่มีการได้ยินทั่วไป เพื่อให้คนหูหนวกพัฒนาได้ ทั้งภาษามือและภาษาไทย

“คนหูหนวกทั่วไปอยากได้ล่ามภาษามือ ถ้ามีล่ามภาษามือก็เหมือนเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้เราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เราต้องการได้ แล้วก็ขจัดปัญหาอุปสรรคได้ ถ้าคนหูหนวกจะเรียนหรืออบรม หากมีล่ามภาษามือช่วยแปลเนื้อหานั้น ๆ ก็จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วน และถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อได้”

โอกาสทางการทำงานของคนพิการทางการมองเห็น

เป็นครั้งที่แรก ๆ ที่ หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา คนพิการทางการมองเห็น วัย 27 ปี มากรุงเทพฯ ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ได้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับคนรู้จัก

บีบีซีไทยนัดพบเธอที่สถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ปลายทางที่เดินทางมาจากบ้านใน จ.นครปฐม เราสื่อสารกันด้วยโทรศัพท์มือถือเพื่อถามพิกัดของเธอบนสถานี ก่อนเสียงปลายสายจะกลายเป็นเสียงจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรถไฟฟ้า ที่เป็นคนบอกบริเวณที่แน่ชัดที่เราจะได้พบกับเธอ

หทัยรัตน์ เกิดมาด้วยด้วยสายตาที่มองเห็นได้เพียงข้างเดียว จนกระทั่งอายุ 14-15 ปี ก็สูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้าง

เธอเล่าประสบการณ์การไปสมัครเรียนเข้าชั้นมัธยมหลังจากตาบอดทั้งสองข้าง

” ผอ.โรงเรียนบอกว่า ไม่รับคนพิการ ก็เข้าใจนะว่าไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะสอนยังไง แต่เด็กคนหนึ่งอายุ 11-12 ขวบ ก็รู้สึกว่า เราจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อเหรอ เลยรวบรวมความกล้าทั้งหมด ขึ้นไปคุยกับ ผอ. บอกครูคะหนูอยากเรียนจริง ๆ รับหนูไว้เถอะ ไม่ต้องสอนหนูแบบ คนตาบอดก็ได้ สอนหนูเหมือนกับว่าเป็นคน ๆ หนึ่ง เป็นเด็กทั่วๆ ไป เดี๋ยวหนูเรียนเอง”

จากวันนั้นจนเรียนจบชั้นปริญญาตรีเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หทัยรัตน์ บอกกับบีบีซีไทยว่า เธอเรียนในสถาบันการศึกษาที่ไม่มีสื่อการเรียนการสอนสำหรับผู้พิการทางสายตาเลย

“เราขวนขวายเองมาตลอด ไม่มีหนังสือเรียนอักษรเบรลล์ อยากเรียนมหาวิทยาลัยก็ใช้วิธีการให้เพื่อนอ่านหนังสือ อัดเสียง หรือว่าเวลาครูสอนในชั้น ก็จะจดเป็นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด หรือไม่ก็ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์”

หลังจากก้าวสู่โลกของวัยทำงาน ก่อนจะผันตัวมาทำข้อมูลรายการโทรทัศน์ และก็เขียนบทกวีไปด้วย หทัยรัตน์เคยสมัครงานตามสถานประกอบการ “ไปสมัครที่ไหนก็ไม่รับ เพราะว่าเป็นคนตาบอด” เธอบอกกับเรา

แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่ให้บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไป ต้องมีสัดส่วนรับคนพิการ 1 คน เข้าทำงาน ตามมาตรา 33 และ 35 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 แต่หทัยรัตน์ เล่าสิ่งที่เธอเคยเจอมาว่า สถานประกอบการมักจะมีทัศนะคิดว่า คนตาบอด “ทำอะไรไม่ได้” และรู้สึกว่าคนพิการแขนขาขาด ทำได้มากกว่า

“เขาบอกเราตรง ๆ นะ ว่าไม่รู้ว่าจะรับมาแล้วจะใช้ทำงานอย่างไร ทั้งที่เราก็บอกแล้วว่า เราใช้คอมฯ ได้ ทำอะไรได้หมด บางทีเขาก็บอกว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวยบ้าง” หทัยรัตน์เล่า

“เขาอาจจะติดภาพที่เคยเห็นว่าคนตาบอด ก็ร้องเพลง ขายล็อตเตอรี่ ทำได้แค่นั้น”

ตำแหน่งงานคนพิการ 2.2 หมื่น ที่ไม่ถูกจ้าง

อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธิมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม อธิบายให้บีบีซีไทยฟังถึงสถานการณ์การจ้างงานคนพิการของสถานประกอบการว่า ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 สถานประกอบการทั่วประเทศต้องจ้างคนพิการทั้งประเทศราว 55,000 อัตรา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีการจ้างคนพิการไม่ถึงร้อยละ 60 ซึ่งหมายถึง มีอีก 22,000 อัตรา ที่คนพิการที่ควรจะถูกจ้างงาน และตามกฎหมาย หากไม่ได้จ้างคนพิการ สถานประกอบการสามารถจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อคนพิการได้

จาก 4 ปี ที่ผ่านมาพบว่ามีเงินเข้าทุนราว 8 พันล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เขาอธิบายอีกว่า สถานการณ์คนพิการปัจจุบันเกินร้อยละ 90 มีการศึกษาหยุดอยู่แค่ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และเกินร้อยละ 50 อยู่ในเขตชนบท

สิ่งที่มูลนิธิทำ คือ การเข้าไปหาสถานประกอบการเหล่านั้นและเชื่อมให้ เอกชนจ้างงานคนพิการให้ทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง อย่างโรงพยาบาลสุขภาพตำบล ที่ทำการ อบต. หรือโรงเรียน

“บริษัทไม่ได้จ่ายตังค์เพิ่ม เพียงแค่เปลี่ยนจากเงินที่สมทบเข้ากองทุนไปจ่ายเงินเดือนคนพิการที่มีความสามารถให้ได้ทำงาน” อภิชาติกล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมระบุว่าในปีแรกมี 20 บริษํทเข้าร่วม ตอนนี้ขยายไปกว่า 437 บริษัท จ้างงานคนพิการไปแล้ว 4,082 คน

“เริ่มต้นเลยบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้อินกับเรื่องพวกนี้ เขารู้สึกว่าจ้างไม่ได้ ก็ส่งเงินเข้ากองทุนเข้าก็ถูกต้องดีแล้ว ตีเช็คใบเดียวเสร็จ” อภิชาติเล่าสิ่งที่เจอในระยะแรก “ต้องอาศัยการทำความเข้าใจว่าเงินที่เข้ากองทุนกว่าจะถึงคนพิการช้ากว่าการทำให้พวกเขามีงานทำ”

อย่างไรก็ตาม อภิชาติบอกว่า นี่เป็น “การจัดการกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า” เขาเห็นว่า ระยะยาวต้องพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มากพอที่จะทำงานในสถานประกอบการได้

“เป็นเพราะว่าคนพิการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา ความพร้อมของสถานประกอบการด้วย รวมทั้งเรื่องโครงสร้างการเดินทางที่รองรับของประเทศนี้ไม่ได้เอื้อให้เดินทางไปไหนได้ง่าย พวกเขามีต้นทุนการเดินทางที่สูงกว่าคนทั่วไป บางทีไปทำงานก็ไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่จะได้รับ” อภิชาติสรุป

แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ฉบับที่ 5

แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560-2564 กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระ ในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ภายใต้แผนนี้ยังถูกบรรจุในกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายใต้แนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทว่าในแผนฯ ฉบับนี้เอง คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ก็วิเคราะห์ว่า การบูรณาการดำเนินการระหว่างหน่วยงานยังต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิ สวัสดิการ บริการสาธารณะ และความช่วยเหลือจากรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ตามแผนการนี้ มีเป้าเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งการเรียนรวมอย่างเช่น ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ รวมทั้งปรับปรุงระบบดูแลสุขภาพคนพิการ การรักษาพยาบาล อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ

หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องจัดสภาพแวดล้อม การเดินทาง และบริการสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งต้องมีการออกกฎหมายว่าด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for all Act)

“คนตาบอดก็ไม่ใช่คนที่ต้องสะดวกสบายทุกอย่าง แต่ขอแค่เราใช้ชีวิตอยู่ได้ อย่างไม่ลำบากเกินไปนักก็โอเคแล้ว ไม่ได้ร้องขอว่าการทำผังเมือง ถนน หรือระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ คุณจะต้องทำเพื่อคนพิการ แต่อยากให้คุณทำเพื่อคนทุกคน เพราะคนพิการก็คือหนึ่งในคนทุกคน ถ้าคนทุกคนใช้ได้ คนพิการก็จะใช้ได้ แนวคิดมันก็แค่นี้” หทัยรัตน์ กล่าวกับบีบีซีไทย

*ขอบคุณล่ามภาษามือจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล – ศศิธร ทรัพย์วัฒนไพศาล และวิภาวี เขียวขำ

ขอบคุณ… https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_1742713


ย้อนกลับ