มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

บทเรียนจาก “ผลสำเร็จหลักสูตรสวนบำบัด”

บทสรุป
บทเรียนจาก “ผลสำเร็จหลักสูตรสวนบำบัด”
โครงการสวนบำบัดสำหรับเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส
มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ (มพก.)

 

โครงการสวนบำบัดสำหรับเด็กพิการ คือ การพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กพิการ ในการฟื้นฟูร่างกาย การสร้างการเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ ทั้ง การส่งเสริมเพื่อพัฒนาปัญญา ฟื้นฟูจิตใจ และเชื่อมโยงกับคนอื่นเพื่ออยู่ได้ในสังคม  โดยการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และใกล้ชิดกับธรรมชาติย่อมทำให้การเรียนรู้ของเด็กพิการเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เกิดความผ่อนคลาย และเป็นสภาวะที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพของมนุษย์ ในขณะที่การเรียนรู้จากธรรมชาติสามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสได้ทุกทาง ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การลิ้มลองรสชาติ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้มิติของการเรียนรู้มีความหลากหลาย และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมที่ต้องสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ สวนบำบัดจึงเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับกลุ่มเด็กพิการ เพื่อช่วยให้เกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น ช่วยให้เด็กเหล่านี้ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่การพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมี
ความสุข

การดำเนินโครงการสวนบำบัดสำหรับเด็กพิการ เป็นโครงการที่เอื้อให้พ่อแม่ที่มีลูกพิการได้มีเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนาการของลูก และกลุ่มองค์กรได้มีเครื่องมือในการส่งเสริมเด็กพิการที่อยู่ในความดูแลให้เรียนรู้ และอยู่ได้อย่างปกติสุข ตามสภาวะของร่างกายต่อไป การนำสวนบำบัดไปปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมายจึงมีผลลัพธ์ และบทเรียน ที่หลากหลายซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้สู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีความสนใจในการพัฒนาเด็กพิการ ดังนี้

  1. บทเรียนของการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้

ในการอบรมเรื่องสวนบำบัด และการนำไปปรับใช้ของกลุ่มที่เข้ามาอบรม คือ กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง และกลุ่มองค์กรนั้นทีการนำไปปรับใช้ในแง่มุมที่แตกต่าง โดยกลุ่มพ่อแม่จะเน้นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาของลูกเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มองค์กรจะมีกรอบการปรับใช้ที่กว้างกว่า โดยกินความถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครอง คนทำงาน และแกนหลักที่จะต้องใช้เครื่องมือนี้ต่อไป ดังนั้นบทเรียนการนำไปปรับใช้ในที่นี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

  • การนำความรู้ไปปรับใช้ของผู้ปกครอง

วัตถุประสงค์หลักของกลุ่มผู้ปกครองที่เข้าร่วมเรียนรู้ คือ ต้องการนำไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกตนเอง ดังนั้นการนำไปปรับใช้คือ การนำสวนบำบัดไปสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ในการเรียนรู้ให้กับลูกดังนี้

  • การเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว

    เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ของบ้านพักอาศัย ทำให้ไม่สามารถจะจัดสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านได้ จึงสร้างทางออกโดยการใช้ทรัพยากรที่มี คือสวนสาธารณะใกล้บ้านให้เกิดประโยชน์ และสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในมิติต่าง ๆ กับลูก ประกอบด้วย
    การเสริมทักษะทางปัญญา

  • การฝึกความจำ โดยการให้ลูกช่วยทวนชื่อผู้ที่เข้ามาทักทาย
  • การอ่านนิทาน เพื่อฝึกการจับใจความของเรื่องที่ได้ฟัง พร้อมทั้งซักถามเพื่อฝึกเรื่องการคิด และการตอบ
  • การฝึกความคิดสร้างสรรค์ โดยการทำงานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ เช่น การ์ดให้พ่อจากกิ่งไม้แห้ง

การพัฒนาร่างกาย

  • ใช้ต้นไม้เป็นตัวช่วยในการฝึกเรื่องการเดิน การก้าวขา การปีนป่าย ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของความรู้สึกในการฝึก ซึ่งการเรียนรู้ในสภาพธรรมชาติให้ความรู้สึกของการเรียนรู้ การค้นหาสิ่งใหม่มากกว่าการฝึกฝนในสภาพแวดล้อมเดิมในบ้าน ทำให้เด็กไม่เกิดความเบื่อหน่าย และลดความเครียด

พัฒนาการทางสังคม

  • การได้สัมพันธ์กับผู้คนต่าง ๆ ที่มาใช้สวนสาธารณะเช่นกัน ทำให้เด็กเกิดการรู้จักสังคมที่กว้างมากขึ้นจากพ่อแม่ ทำให้เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
    • กิจกรรมปลูกต้นไม้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้ง่าย ๆ และไม่ต้องการพื้นที่ในการเรียนรู้มากมายนัก คือ การชักชวนลูกปลูกต้นไม้ อาจจะเป็นผักสวนครัวง่าย ๆ เช่นผักบุ้ง วอเตอร์เครส หรือหอมแดง ซึ่งสามารถให้เด็กเรียนรู้จากธรรมชาติเล็ก ๆ ได้อย่างใกล้ชิด โดย

การพัฒนาร่างกาย

  • เด็กได้เรียนรู้ และฝึกการใช้กล้ามเนื้อจากการลงมือทำ เช่นการฝึกขยำ และ กำดิน

การพัฒนาสังคม

  • เด็กได้ฝึกความรับผิดชอบ จากการที่จะต้องดูแลต้นไม้ของตนเอง ทำให้จะต้องมีวินัยในการดูแลต้นไม้นั้นให้เจริญเติบโตอย่างดี

การพัฒนาอารมณ์

  • การปลูกต้นไม้ทำให้เด็กได้เรียนรู้การรอคอย และจดจ่อกับต้นไม้ที่ตนเองต้องดูแล ทำให้เกิดสมาธิมากขึ้น ช่วยพัฒนาทางด้านอารมณ์ โดยเฉพาะเด็กสมาธิสั้นให้ดีขึ้นได้
    • กิจกรรมจัดดอกไม้ ตั้งแต่การชวนประดิษฐ์แจกัน และการชวนจัดดอกไม้ในแจกัน หรือเด็กที่ไม่สามารถจัดได้ แม่ก็ใช้การจัดดอกไม้ให้ลูกดูพร้อมพูดคุยกับลูก ซึ่งช่วยให้เกิดสมาธิ และจดจ่อมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาสติปัญญา

  • การได้เรียนรู้จากดอกไม้ที่นำมาจัดแจกัน เด็กได้เรียนรู้เรื่องกลิ่น สี ลวดลาย รวมถึงการให้ลองชิม เพื่อเกิดการเรียนรู้เรื่องสัมผัส สี กลิ่น
  • การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จากการช่วยออกแบบการประดิษฐ์แจกันดอกไม้ และการจัดดอกไม้ในแจกัน

การพัฒนาอารมณ์

  • การได้เรียนรู้เพื่อสร้างสมาธิจากการมีส่วนร่วมในการจัดแจกัน ทำให้เด็กเรียนรู้ความนิ่งมากยิ่งขึ้น ช้าลงได้
    • การนำความรู้ไปปรับใช้ขององค์กร

บทเรียนที่ได้จากการนำความรู้ไปปรับใช้ขององค์กรในครั้งนี้ มาจากองค์กรทำงานด้านเด็กพิการท่หลากหลาย ประกอบด้วย บ้านเด็กพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์บริการคนพิการ สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา โรงพยาบาล มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ดังนั้นการนำไปใช้จึงเกี่ยวข้องกับบริบทของการทำงานในแต่ละองค์กร บทเรียนที่ได้ประกอบด้วย

  • การจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบต่าง ๆ จะพบว่าองค์กรที่มีบทบาท ภารกิจที่จะต้องพัฒนา ส่งเสริมศักยภาพเด็กพิการ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทางร่างกาย เกิดการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งแวดล้อม ฝึกจิตใจที่อ่อนโยน รวมถึงการพัฒนาทางสติปัญญาจากการเรียนรู้ และสังเกตธรรมชาติ ดังนั้นการนำความรู้เรื่องสวนบำบัด เพื่อไปจัดกิจกรรมตามบริบทขององค์กรต่าง ๆ จึงสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ทำลานดนตรีบำบัด กับกลุ่มเด็กออทิสติก และด้านสติปัญญา
  • การเรียนรู้จากธรรมชาติผ่านการเล่น โดยใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นอุปกรณ์ เช่นการทำงานศิลปะ การทำเครื่องดนตรี
  • การปลูกต้นไม้ เช่นการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน ปลูกวอเตอร์เครส ผักบุ้ง มะลิ โดยบางส่วนใช้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับลูกได้ด้วย
  • กิจกรรมสำรวจต้นไม้ในสวน เพื่อให้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างต้นไม้ต่าง ๆ ทั้งเรื่องสี รูปทรง และกลิ่น
  • กิจกรรมออกแบบและจัดสวน โดยให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ และจัดสวนด้วยตนเอง ซึ่งจะสามารถสร้างความเป็นเจ้าของให้เกิดขึ้น และเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบไปพร้อมกันได้
  • กิจกรรมเก็บดอกไม้ เพื่อนำไปสร้างงานศิลปะ เช่นร้อยมาลัย วาดรูป รวมถึงการเรียนรู้จากกลิ่นในเด็กพิการทางสายตา
  • การบูรณาการกับการสอน เช่น การให้เด็กปลูกผักบุ้ง พร้อมกับให้เรียนรู้เรื่องสี ความสั้นยาวของราก ลำต้น ไปด้วย หรือมีการต่อยอดกับงานศิลปะ
    • ใช้สวนบำบัดแทนห้องเรียน เพื่อช่วยกระตุ้นความพร้อมในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ซึ่งจะมีปัญหาในการสร้างสมาธิ หรือดึงความสนใจในการเรียนเมื่ออยู่ในห้อง ดังนั้น สวนบำบัดจึงถูกใช้แทนห้องเรียนในการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ของเด็ก
    • การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ ครู เจ้าหน้าที่ในองค์กร และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิการทุกกลุ่มเกิดความเข้าใจการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กพิการจากสวนบำบัด และสามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับความพิการประเภทต่าง ๆ รวมถึงสามารถปรับกิจวัตรประจำวันของเด็กให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนานได้ จากความรู้เรื่องสวนบำบัด
    • ขยายพื้นที่สวนบำบัด และกิจกรรมในชุมชน โดยการขยายกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กเข้ามาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่นกิจกรรมการปลูกต้นไม้ การทำพวงกุญแจจากใบยางพารา

นอกจากนี้ยังมีการขยายความกิจกรรมไปยังชุมชนอื่น ๆ โดยการเสนอโครงการเพื่อของบประมาณจากองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขยายแนวคิด และจัดกิจกรรมให้กับชุมชนอื่น ๆ โดยการอบรมให้ความรู้ครู ผู้ปกครอง จากนั้นครู ผู้ปกครองได้นำไปจัดกิจกรรมต่อไป

  • จัดทำพื้นที่นำร่อง เพื่อขยายแนวคิด โดยดำเนินการทำพื้นที่นำร่อง ปลูกผัก ต้นไม้ ดอกไม้ และมีกระบะสำหรับเด็กที่ใช้ wheel chair เพื่อสามารถใช้บำบัดเด็กที่มีความพิการทุกประเภท โดยใช้เด็กมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนั้นได้ ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่องที่สร้างการเรียนรู้ให้กับ 13 ชุมชนในความรับผิดชอบ
  • นำไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร โดยการจัดกิจกรรมสวนบำบัดในองค์กร เช่นการจัดดอกไม้ก่อนประชุม หรือชักชวนคนในองค์กรปลูกผักสวนครัวที่ง่าย ๆ แต่เรียนรู้สภาวะภายในตนเองจากการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก ซึ่งสามารถช่วยเรื่องของการพัฒนาสติ การสร้างสมาธิ รวมถึงการสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน
  1. ความสำเร็จที่เกิดขึ้น

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงเกิดขึ้นกับกุ่มเด็กพิการเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ปกครอง คนทำงาน รวมถึงการขยายการเรียนรู้ไปยังกลุ่มอื่นที่กว้างกว่ากุ่มเด็กพิการเพียงกลุ่มเดียว โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นประกอบด้วย

  • กลุ่มเด็ก

การให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ สามารถช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมาก ทั้งไม่จำเจกับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เพราะธรรมชาติมีสิ่งต่าง ๆ ให้เรียนรู้อย่างมาก ซึ่งเด็กจะสามารถเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมโดยใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนในการเรียนรู้ได้ กระตุ้นความอยากรู้ ความสงสัยให้ค้นหาคำตอบ และเป็นห้องเรียนห้องกว้างที่มีสิ่งให้เรียนรู้ไม่จบสิ้น ดังนั้น การให้เด็กมาเรียนรู้จากธรรมชาติจากสวนบำบัดจึงส่งผลต่อเด็กดังนี้

  • มีความสุขในชีวิต และมีแรงจูงใจในการใช้ชีวิตที่จะทำสิ่งต่าง ๆ
  • มีความสุขกับการเรียนรู้ รวมถึงการฟื้นฟูตนเอง อย่างสนุก ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย จำเจ
  • เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มองเห็นคุณค่า และศักยภาพจากการที่สามารถทำกิจกรรมได้สำเร็จ
  • ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทำให้สามารถเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  • มีพัฒนาการในการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น จากการเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งการเรียนรู้ในธรรมชาติสามารถช่วยกระตุ้นความอยากรู้ และอยากเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมาก
  • สามารถพัฒนาอารมณ์ของเด็กได้อย่างมาก มีสมาธิมากขึ้น นิ่งขึ้น และสามารถจดจ่อกับเรื่องหนึ่ง ๆ ที่สนใจได้นานมากขึ้น
  • เด็กมีสังคม มีเพื่อน และรู้จักการสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น รู้จักการแบ่งปัน
  • เกิดความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น และมีความเอื้ออาทรมากขึ้น
  • พัฒนาทางกายดีขึ้น จากการได้ใช้กล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมมากขึ้น

ผู้ปกครองที่มีลูกพิการย่อมมีความเครียด และความกังวลกับลูกสารพัดแง่มุม มองทางไหนก็มีแต่ความเป็นห่วง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเป็นหลักในการดูแล ซึ่งหากไม่สามารถจัดการกับความเครียดเหล่านั้นได้ อาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้  ดังนั้นการเข้ามาเรียนรู้เรื่องสวนบำบัดจึงทำให้ผู้ปกครองมองเห็นทางสว่างที่ปลายอุโมงค์มากยิ่งขึ้น ผลสำเร็จของการให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ปกครองคือ

  • มีพลังใจในการมองปัญหา และก้าวข้ามอุปสรรคอย่างมาก สามารถมองโลกในแง่บวกมากขึ้น มองเห็นความสุขมากกว่าความทุกข์ และเห็นทางออกของชีวิต ว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งทำให้เกิดพลังในการพัฒนาลูกต่อไป
  • เห็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาลูกว่าอยู่ในทุกที่
  • มองเห็นแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาลูกด้วยวิธีการง่าย ๆ สามารถทำให้เป็นจริงได้ และสามารถปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวันของลูกได้
  • ได้พัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ได้เรียนรู้ และเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น
  • มีความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกมากยิ่งขึ้น ไม่ปิดกั้นด้วยความห่วงยที่มีมากเกินไป
    • กลุ่มเจ้าหน้าที่ คนทำงาน

    เจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องอยู่กับการใช้สวนบำบัดในการส่งเสริมศักยภาพของเด็กพิการนั้น ได้เกิดการเรียนรู้จากการสะท้อนกลับมาพิจารณาตนเองจากการได้เรียนรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตนเองที่หลากหลายดังนี้

    • ได้พัฒนาทักษะการส่งเสริมเด็กพิการ และได้ต่อยอดความรู้ที่มี
    • เกิดเครื่องมือใหม่ ๆ ในการส่งเสริมเด็กพิการ และสามารถพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ จนเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้กับเด็ก ๆ ได้
    • ในการทำงาน และการใช้ชีวิต เกิดการใส่ใจในรายละเอียดของชีวิตมากขึ้น มีสติในการทำงานมากขึ้น
    • การทำกิจกรรมที่จะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ได้เครือข่ายในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
      • การขยายผลอื่น ๆ

    การขยายผลอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้ว พบว่า

    • กลุ่มอาสาสมัครที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปขยายกิจกรรม และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน
    • มีการขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพ โดยสามารถสร้างรายได้จากการทำสวนบำบัด เช่น ข้าวโพดที่ชักชวนลูกทำกิจกรรม สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้
    1. ข้อเสนอแนะต่อหลักสูตรในการอบรม

    เพื่อให้การอบรมมีประสิทธิภาพ และผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และเกิดประสิทธิภาพในการส่งเสริมทักษะ และศักยภาพเด็กพิการ จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้

    • กลุ่มเป้าหมาย

    : ควรมีการอบรมเจ้าหน้าที่ ร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

    • ระยะเวลาในการเรียนรู้

    : ควรเพิ่มเวลาในการเรียนรู้เชิงผฏิบัติให้มากขึ้น เนื่องจากต้องการเติมเต็มทักษะ และสร้างความมั่นใจ

    : ควรมีการอบรม 2 ครั้งต่อปี สำหรับในแต่ละรุ่น

    : ควรมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรทิ้งช่วงนานเกินไป

    • เนื้อหา ความรู้

    : จัดทำคู่มือสวนบำบัดที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกกลุ่มเป้าหมายเด็กพิการทุกประเภท และครอบครัว

    : มีการแนะนำพืชที่เหมาะสมกับการปลูกในแต่ละพื้นที่

    • กระบวนการอบรม

    : เพิ่มดนตรีบำบัดในหลักสูตรสวนบำบัด

    : ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสถานที่ดำเนินการจริง หรือการศึกษาดูงานกับหน่วยงาน องค์กรต้นแบบทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศ ที่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ผลจริง เกิดรูปธรรมชัดเจน เช่นที่ MOA (สวนสุขภาพ)

    : ควรมีกิจกรรมที่เปลี่ยนจากเดิมในการอบรม

    • การสร้างเครือข่าย

    : มีการจัดประชุมร่วมกัน เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจ และสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เช่นมีพื้นที่สำหรับการแบ่งปันผลงานที่ได้ทำมา สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการไปศึกษาดูงาน พร้อมทั้งเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับใช้ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

    • การขยายผล

    : ขยายโครงการสูท้องถิ่นชุมชนทั่วประเทศ  และขยายสู่กลุ่มอื่น ๆ เพื่อบำบัดความเครียด และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน


ย้อนกลับ