มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

จี้แก้กรมธรรม์คนพิการ ลดปัญหา ‘เหลื่อมล้ำ’

จี้แก้กรมธรรม์คนพิการ ลดปัญหา ‘เหลื่อมล้ำ’

2016-08-25-722-0-53-08-25-01การแก้ปัญหา” ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยถือเป็นโจทย์สำคัญการขับเคลื่อนประเทศและต้องยอมรับว่า“การเข้าถึงระบบประกันภัย”ยังมีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน โดยเฉพาะใน “กลุ่มผู้พิการ” ที่ยังถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รวมถึงภาคธุรกิจประกันภัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้พิการ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่สามารถพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตประจำวันให้อยู่ในครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติ จึงได้จัดการเสวนารับฟังความคิดเห็นการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการ ตามโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อผู้พิการด้วยการประกันภัยเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สำหรับการขายประกันภัยคนพิการ เฟสแรก เป็นประกันอุบัติเหตุเบี้ย 300 บาท โดยเสนอขายเมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นของขวัญวันแม่ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และนำข้อเสนอจากเวทีเสวนามาปรับปรุงประกันคนพิการ เพื่อต่อยอดการขายในเฟส 2 ทันในงานสัปดาห์ประกันภัยเดือนก.ย.นี้

“สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์” เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เสนอแนวทางขับเคลื่อนกรมธรรม์ประกันเพื่อคนพิการระยะถัดไปใน “4 ประเด็น” 1. ควรแก้เงื่อนไขให้เกิดความเป็นธรรม โดยไม่ระบุความเป็นผู้พิการ 2. ผลิตภัณฑ์ที่ออกแล้วควรทยอยแก้ไขเพื่อให้เป็นธรรมเช่นกัน 3. การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องทำเฉพาะกลุ่มสำหรับคนพิการ 4. ควรสร้างการรับข้อมูลข่าวสาร ทั้งคนพิการและภาพรวมของสังคม ช่วยยกระดับความคิดของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ

เนื่องจากปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการนั้นยังพบว่า มีข้อจำกัดเต็มๆ คำว่า “คนพิการ” มีข้อเสนอให้ปรับแก้ไขกรมธรรม์ดังกล่าว เห็นว่า ไม่ควรจะระบุถึง “ความพิการ” โดยกว้าง ขอให้ลบคำว่า “คนพิการในกรมธรรม์” และมองความคนพิการมีความเสี่ยงในความไม่สมบูรณ์แข็งแรงของสุขภาพและร่างกาย ตามเงื่อนไขประกันชีวิตและประกันวินาศภัยนั้น จึงไม่รับประกัน ดังนั้นขอให้ไปโฟกัสที่ “ตรวจสุขภาพ” อย่างเป็นธรรม เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป

สำหรับกรมธรรม์นี้ในเฟสแรก นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเชิงจิตวิทยาในการส่งสัญญาณไม่แบ่งแยกคนพิการกับคนปกติ ทุกคนเท่าเทียมเข้าถึงสิทธิการประกันได้และด้วยเบี้ย 300 บาทต่อปีจะทำให้คนพิการในชนบทเข้าถึงได้ เจียดเงินเดือนละไม่ถึง 30 บาท จากรับเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท มาจ่ายความคุ้มครองได้

“พีรพงศ์ จารุสาร” เลขานุการสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บอกว่า กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการในเฟสแรกต้องบอกว่าไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลยกับ “คนพิการ” เสียชีวิตจ่าย 100,000 บาท ถามว่าใครได้และที่สำคัญการจะมอบกรมธรรม์ในระยะเร่งด่วนแบบนี้ผู้รับ “ยังไม่ได้อ่านสัญญา” แม้จะเป็นกรมธรรม์ที่ผู้พิการเข้าถึงได้ง่ายและจ่ายเบี้ยถูก แต่มองได้ว่า “คนให้มีเจตนารมณ์ดีแต่คนรับมีความระแวง” ไม่น้อย

ดังนั้น ขอเสนอว่า ควรบอกเงื่อนไขสัญญาชี้แจงให้ชัดก่อนเพื่อทำให้ผู้พิการเกิดความสบายใจ ยอมรับในสัญญาว่าจะไม่มีเงื่อนไขและข้อบิดพลิ้วในภายหลังมาอ้างความพิการมาทำผิดสัญญาไม่ได้ “วิทยุต บุนนาค” นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คอนเซปต์ของคำว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่พึ่งผ่านร่างประชามติ ห้ามมีการเหลื่อมล้ำ ทุกคนมีสิทธิเสมอภาค ไม่จำกัดคนพิการ ฉะนั้น บริษัทประกันควรสร้างความเท่าเทียมกับคนพิการ มีความคุ้มครองหลากหลายให้กับคนพิการ เพราะคนพิการมีความเสี่ยงเท่ากับคนปกติ คนหูหนวก ไม่ได้แตกต่างเช่นกัน ตอนนี้คนเล่นเกมโปเกม่อนอาจจะยังมีความเสี่ยงกว่าคนพิการ ดังนั้นระยะถัดไป นอกจากความคุ้มครองเสียชีวิตแล้ว ขอให้มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล สามารถไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน จ่ายเบี้ยเท่าไหร่ก็ได้รับความคุ้มครองเท่านั้น

อย่างไรก็ดีท้ายสุด “คนึงนิจ สุจิตจร” ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. ยอมรับว่า กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคนพิการไม่เคยมีมาก่อน เป็นเฉพาะกลุ่มมาก สำเร็จไม่ได้ถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากสมาคมฯ และผู้ประกอบการ ทำเร่งด่วนเพียงไม่ถึง 1 เดือน ในการนำร่องจึงหยิบเอาแบบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุไมโครอินชัวรันส์ เบี้ยประกันราคาถูก ความคุ้มครองอย่างง่าย เป็นหลักประกันการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงดูแลครอบครัว

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างพิจารณากลุ่มผู้พิการเพิ่มเติมให้ความคุ้มครองหลากหลายและต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้พิการให้ชัดเจนในเงื่อนไขและสัญญา อาจจะยังเข้าใจไม่ครบถ้วน อย่างกรมธรรม์ในเฟสแรกก็พยายามเพิ่มความคุ้มครองนอกเหนือกรณีเสียชีวิต โดยมีความคุ้มครองรักษาในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยในและชดเชยรายได้รายวันเป็นต้น”

ปัจจุบันสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย มีจำนวนถึง 1.59 ล้านคนเป็นผู้ชาย 853,779 คน ผู้หญิง 743,996 คน มีสาเหตุความพิการ ไม่ทราบสาเหตุสัดส่วน 32.92% เจ็บป่วย 30.07% พิการแต่กำเนิด 19.51% เกิดอุบัติเหตุ 14.20% มากกว่า 1 สาเหตุ 2.81% และพันธุกรรม 0.48%

สำหรับประเภทความพิการทาง การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายถึง 765,561 คนหรือมีสัดส่วนถึง 80% ของผู้พิการทั้งหมด ที่เหลือเป็นความพิการทางการมองเห็นและการได้ยินรวมถึงสื่อความหมาย อย่างไรก็ตามคนพิการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป 37.67% เกษตรกรรม 36.23% กิจการส่วนตัวและอาชีพอิสระ 11.47% ลูกจ้างเอกชน 6.66% อาชีพอื่นๆ 6.53% และรับราชการและรัฐวิสาหกิจ 1.44%

ขอบคุณ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/714153


ย้อนกลับ