มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

เพื่อวันนี้ที่ดีกว่าวันวาน


เพื่อวันนี้ที่ดีกว่าวันวาน

        แม่เปิ้ล คุณแม่ของน้องไนซ์ ซึ่งพิการด้านร่างกายจากการคลอดก่อนกำหนด แต่ด้วยความพยายามสุดใจของแม่เปิ้ล น้องไนซ์มีพัฒนาการดีขึ้นทุกวัน แม้น้องไนซ์ยังเดินเองไม่ได้ แต่น้องไนซ์สามารถไปโรงเรียนได้แล้ว โดยได้รับการโอบอุ้มให้โอกาสจากสังคม รวมถึงโรงเรียนที่เข้าใจความต้องการและวิธีการพัฒนาเด็กพิการ

แสงริบหรี่แห่งความหวัง

        น้องไนซ์คลอดตอนอายุครรภ์เพียง 32 สัปดาห์ น้ำหนักแค่ 2,120 กรัม ต้องอยู่ในตู้อบนานสี่วัน จนแข็งแรงดีแพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้าน แล้วนัดติดตามพัฒนาการทุกเดือน แม่เปิ้ลได้แต่คาดหวังว่าลูกชายสุดที่รักต้องเดินได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่รอวันแล้ววันเล่า หนึ่งปีผ่านไปลูกยืนไม่ได้ แขนขาแข็งเกร็ง นั่งไม่ได้ พูดสื่อสารไม่ได้

        “แม่สังเกตว่าลูกผิดปกติไม่เหมือนเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน อายุ 9 เดือนยังลุกนั่งเองไม่ได้ หมอส่งฝึกทำกายภาพบำบัดทุกสัปดาห์ กลับมาบ้านแม่ลองฝึกทำแบบกล้าๆ กลัวๆ ไม่มั่นใจกลัวลูกเจ็บ แต่พยายามทุกวันเพื่อให้ลูกดีขึ้นกว่าเมื่อวาน แม่ขวนขวายดิ้นรนเสาะหา หาทางเยียวยาลูก หมอยาหมอพื้นบ้าน หมอน้ำมันอยู่ที่ไหน ไกลแค่ไหน แม่พาลูกชายไปหาทุกที่ หมดเงินเท่าไหร่ก็ยอมขอให้ลูกดีขึ้น ผลที่ได้รับยิ่งดิ้นรนยิ่งหมดเงิน หมดแรงพลังใจ ความพิการไม่คลาย ลูกไม่หาย เริ่มท้อถอย รู้สึกชีวิตมืดมนมาก จนเก็บตัวทำใจยอมรับ แต่ก็ยังพร้อมที่จะสู้ไปกับพ่อของลูก”

ความหวังเริ่มเปล่งประกาย

        วันหนึ่งเริ่มมีแสงริบหรี่แห่งความหวัง เมื่อได้พบกับ แม่ของน้องดิว คุณแม่คนหนึ่งที่มีลูกพิการมาเยี่ยมเยียนถึงบ้าน มาพูดคุยให้กำลังใจ และเชิญชวนเข้ากลุ่ม แนะนำให้พบกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ จนได้รับความช่วยเหลือให้เข้าถึงสิทธิ ได้รับการจดทะเบียนผู้พิการ และร่วมกลุ่มทำกิจกรรมหนึ่งครั้งต่อเดือน ทำให้แม่เปิ้ลได้รับความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น มีทักษะพื้นฐานในการดูแลฟื้นฟูบำบัดลูก รวมถึงเข้าถึงโอกาสและช่องทางสำหรับคนพิการมากขึ้น

        “ในแต่ละครั้งได้พบกับเพื่อนหัวใจเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้รู้สึกชีวิตมีความหวัง กลับมามีพลังฮึดสู้ แล้วรู้สึกโชคดีอีกครั้งเมื่อมีโอกาสเข้าอบรมการฝึกการเคลื่อนไหวแบบญี่ปุ่น(โดสะโฮ) ที่ค่ายห้วยน้ำใส ฉะเชิงเทรา หลักสูตร 7 วัน 6 คืน ไปวันแรกๆ เครียดมาก สงสารลูก ลูกคงปวดมาก ร้องเสียงดังเหมือนแม่กำลังทำร้าย ทุกสายตาจ้องมองมาที่ลูก ตกกลางคืนลูกไม่นอน แม่ต้องอุ้มลูกเดินออกจากที่พักเกือบถอดใจ แต่บอกตัวเองว่าต้องสู้ทนเพื่อให้มีทักษะความรู้นำไปใช้บำบัดลูก จบการอบรมครั้งนั้นรู้สึกภูมิใจสุดๆ ได้ทักษะใหม่ๆ ได้ฝึกปฏิบัติจนเกิดความมั่นใจ เป็นการเริ่มต้นที่ดีและมีความหมาย ทุกครั้งที่มีการจัดอบรมเลยขออาสาร่วมอบรม เพื่อเพิ่มทักษะความชำนาญนำมาฟื้นฟูบำบัดลูกได้อีก”

        หลังจากนั้นน้องไนซ์เริ่มอาการดีขึ้น จากแขนขาเกร็งแข็งสั่นเริ่มอ่อนลงตอบสนองต่อการบำบัด ไม่ร้องงอแงให้ความร่วมมือ หัวเราะเริ่งร่าพลอยให้แม่เปิ้ลสนุกสุขใจไปกับการฝึกลูกน้อย พัฒนาการกล้ามเนื้อของน้องไอซ์เริ่มแข็งแรง รับรู้ได้ นั่งได้นานขึ้น โดยแม่เปิ้ลคาดหวังเพียงให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็พอใจแล้ว

        ต่อมาแม่เปิ้ลเข้ารับการอบรมหลักสูตรการฝึกการเคลื่อนไหวแบบญี่ปุ่น(โดสะโฮ)  จำนวน 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปี พ.ศ.2556 ปีละ 1 ครั้ง จนได้รับวุฒิบัตรจากสมาคมโดสะโฮ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อแก่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกพิเศษในกลุ่มและในเครือข่าย ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการให้เป็นผู้ช่วยวิทยากรในการฝึกอบรมโดสะโฮ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง

        “มีความสุข มีความยินดีทำอย่างเต็มที่เต็มใจทุกครั้งที่ได้รับเชิญ อยากขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ เสริมประสบการณ์จากชีวิตจริงให้กับพ่อแม่คนอื่นๆ  เวลาเห็นเด็กๆ ดีขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองมีความสุข ความเหนื่อยเมื่อยล้าหายหมด กลับกลายเป็นพรวิเศษที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจ ถือเป็นของขวัญที่ล้ำค่าต่อการก้าวต่อของเราด้วย เพื่อลูกของเรา และลูกเพื่อนๆ ในกลุ่มทุกคน”

เปิดตัวสู่โลกกว้าง

        แม่เปิ้ลพาน้องไนซ์ไปสมัครเป็นนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยช่วงแรกแม่แอนไปเฝ้าลูกอยู่ห่างๆ จนลูกปรับตัวได้ ต่อมาเมื่อน้องไนซ์มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คุณครูแนะนำให้ไปสมัครเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน แม่เปิ้ลไปปรึกษาคุณครูที่โรงเรียนใกล้บ้านอย่างมีความหวัง แต่ได้รับการปฏิเสธไม่รับเข้าเรียน จนรู้สึกหมดกำลังใจ แต่ได้กำลังใจจากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการช่วยประสานติดต่อโรงเรียนแห่งใหม่ในชุมชน ซึ่งเป็นโรงเรียนเรียนร่วม มีสถานที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศที่อบอุ่น เหมาะสำหรับการเรียนร่วมของเด็กพิการ ทำให้แม่เปิ้ลมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง

          “พอถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียน เศร้าเสียใจผิดหวังมาก จนได้มาพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ผู้อำนวยการมีมิตรไมตรีเอื้ออาทรเข้าใจมาก ท่านบอกว่าพามาได้เลย ที่โรงเรียนไม่รังเกียจ เรารับเด็กหมด เป็นคำพูดที่ทำให้แม่ดีใจจนน้ำตาไหลพราก ปีนี้ลูกอายุ 14 ปี เรียนชั้นประถม 5 ลูกเก่งขึ้นมาก นั่งบนรถเข็นได้นาน สามารถช่วยตัวเองได้ พอจะอ่านเขียนได้ บวกลบเลขได้ ยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์เหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่แม่ก็ดีใจที่สุดแล้ว”

        ที่โรงเรียนมีคุณครูที่เข้าใจเอ็นดูน้องไนซ์ คอยให้ความช่วยเหลือจัดเวรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการดูแลทุกอย่างจนแม่หายห่วง และที่วางใจอย่างวิเศษสุด เมื่อรู้ว่าลูกมีบัดดี้เพื่อนนักเรียนคู่ใจคอยช่วยเหลือตลอดเวลาที่โรงเรียน แม่จึงเริ่มหางานทำเป็นงานบันทึกข้อมูลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพใกล้บ้าน ในความโชคร้ายย่อมมีความโชคดีแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่เสมอ แม่เปิ้ลรู้สึกโชคดีที่มีผู้ใหญ่ใจดีในสังคมเข้าใจและให้โอกาสลูกของแม่ได้พัฒนาต่อไป

ลบคำสบประมาทด้วยสองมือแม่

        เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต การมีลูกผิดปกติทำให้ผู้คนรอบข้างมองด้วยสายตาแปลกๆ อาจด้วยความเวทนาหรือสงสาร จนแม่กลัวที่จะพาลูกออกสู่สังคม กลัวคำพูดที่ถูกสบประมาทเมื่อไปรักษาว่า คงไม่หายหรอกนอนกับที่นั่นล่ะ แม่เปิ้ลเคยรู้สึกท้อกับคำพูดบั่นทอนของชาวบ้าน แต่เปลี่ยนเป็นพลังในการฮึดสู้ เพื่อให้คนรอบข้างเห็นและเข้าใจว่าเด็กพิการสามารถพัฒนาได้ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ ไปเที่ยวห้าง ไปเที่ยวทะเล พุดคุยสื่อสารกับคนรอบข้างได้ กินอาหารเองได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทุกปี

        “คุณหมอจะเก่งแค่ไหน นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัดให้เวลาฟื้นฟูลูกเก่งดีแค่ไหนก็เพียงครั้ง

คราว เราต่างหากที่อยู่กับลูกตลอดเวลา เริ่มแรกขอเพียงเรายอมรับความพิการให้ได้ ปรับมุมมองทัศนคติใหม่ ปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่กับปัจจุบันให้ได้อย่างมีความสุข เราดูแลด้วยหัวใจที่รักลูก สองมือของแม่สำคัญที่สุด เป็นยาใจขนานเอกที่ช่วยบำบัดลูก เราเติมพลังพัฒนาการให้กับลูกทุกด้านได้ด้วยตัวเอง สำหรับลูกเป้าหมายไม่ไกลเกินฝัน ขอแค่ให้ลูกมีชีวิตเต็มตามศักยภาพที่เขาควรจะมีได้ พอขยันฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง พัฒนาการของลูกก็ดีขึ้นทุกวัน จนคำสบประมาทของชาวบ้านหายไปได้”

        แม่น้องไนซ์ใช้ความท้าทายสร้างพลังให้กับตัวเอง ใฝ่รู้ ฝึกฝนปฏิบัติจนเกิดทักษะความชำนาญ มีความมั่นใจในตนเองและลูกน้อยอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อแม่ยอมรับในธรรมชาติที่ลูกเป็น จึงพยายามทำให้สังคมเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้อยู่อย่างเท่าเทียม เมื่อได้รับโอกาส แม่เปิ้ลจึงใช้ทุกโอกาสนั้นอย่างคุ้มค่า โดยการเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ปกครองหัวใจเดียวกัน เพราะการอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายทำให้ขาดพลัง แม่เปิ้ลเรียนรู้จนได้บทเรียนมากมายจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม เมื่อแม่มีความเข้มแข็งพอ เสมือนได้รับวัคซีนใจอย่างต่อเนื่อง แม่จึงมีความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในการฟื้นฟูบำบัดลูกอย่างไม่มีวันหมดสิ้นกำลังใจ
ภาพจาก : https://th.pngtree.com/freepng/parent-child-parent-child-interaction-parent-child-interaction-mother-and-child_3808244.html


ย้อนกลับ