มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

เด็กออทิสติก (Autistic Children)


เด็กออทิสติก (Autistic Children) หรือเด็กที่มีภาวะออทิสซึม หมายถึง เด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งส่งผลให้เขามีปัญหาในการทำความเข้าใจและตอบสนองกับโลกภายนอก และทำให้เขามีพฤติกรรมและการแสดงออกที่แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป เมื่อแรกพบ เราอาจจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กคนที่เราเห็นอยู่นั้นเป็นเด็กออทิสติกหรือไม่ เพราะไม่มีตัวบ่งชี้ที่เห็นได้ชัดเจนทำให้เด็กออทิสติกหลายคนถูกเข้าใจผิดในเบื้องต้นว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องดื้อ ซน และไม่สุภาพ ซึ่งจากสถิติชี้ว่ามีเด็กออทิสติกทั่วโลก ประมาณ 4 – 5 คน ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน อีกทั้งยังมีนักวิจัยคาดการณ์จากสัญญาณที่เกิดขึ้นว่าอัตราการเกิดของเด็กออทิสติกนั้นอาจสูงเท่ากับ 23 คน ต่อประชากรเด็ก 1,000 คน โดยมีแนวโน้มที่จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงถึง 4 เท่า จากการวินิจฉัยตามคู่มือและสถิติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันครั้งที่ 3 และ 4 พบภาวะออทิสซึมในเด็กอายุ 1 – 5 ปี เท่ากับ 9.9 ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน อย่างไรก็ตาม สถิติพบว่ามีเด็กออทิสติกเกือบร้อยละ 10 ที่มีความเป็นอัจฉริยะในตัว หรือที่เรียกว่า Autistic.Savant ซึ่งอาจเป็นอัจฉริยะเฉพาะด้านหรือหลายด้านพร้อมกัน ในศาสตร์สาขาต่างๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ดนตรี หรือศิลปะ เป็นต้น

เด็กออทิสติกจะมีปัญหาบริเวณสมองซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าใจและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กที่มีภาวะ ออทิสซึมมีการแสดงท่าทางแตกต่างจากคนทั่วไป เช่น เด็กออทิสติกจำนวนมากที่ใช้คำพูดในการสื่อสารไม่ได้เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องการ ทำให้ผู้อื่นประสบปัญหาในการทำความเข้าใจว่าพวกเขาพูดอะไร และทำให้ในบางครั้งคนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดในสิ่งที่เด็กออทิสติกสื่อ เด็กเหล่านี้อาจจะเห็นหรือได้ยินในสิ่งที่คนอื่นพูดกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้ยินทุกคำพูด พวกเขาก็จะเพิกเฉยกับสิ่งที่คนอื่นต้องการสื่อสาร หรือเด็กบางคนที่มีภาวะออทิสซึมจะแสดงอาการที่มีความสุขในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นก็แสดงอาการเสียใจและโมโห หรือแสดงอาการเกรี้ยวกราด ซึ่งพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมานั้นสะท้อนว่าพวกเขาไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร

เด็กออทิสติกมีลักษณะอย่างไร?

เด็กออทิสติกจะมีภาวะบกพร่องด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาวะบกพร่องด้านการสื่อสาร และการแสดงพฤติกรรมที่ซ้ำๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรสังเกตและเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ดังนี้

  • ภาวะบกพร่องด้านการปฎิสัมพันธ์ทางสังคม ส่วนใหญ่เด็กออทิสติกจะมีปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยมีพฤติกรรมดังนี้
    • ไม่สบตา
    • ตั้งใจฟังหรือดูคนอื่นน้อย หรือมีความบกพร่องในการตอบสนองกับบุคคลรอบข้างน้อย
    • ไม่รู้จักการแบ่งปันของเล่นหรือทำกิจกรรมอื่นร่วมกับบุคคลรอบข้าง
    • มีการตอบสนองที่ไม่ปกติต่ออารมณ์โกรธ ความเครียด หรือการแสดงความรักจากบุคคลอื่น

    ในปัจจุบัน งานวิจัยได้กล่าวว่าเด็กออทิสติกที่ไม่ตอบสนองด้านอารมณ์เนื่องจากพวกเขาไม่ได้สนใจสภาพสังคมรอบตัวของตัวเอง เช่น เด็กออทิสติกบางคนสนใจดูปากเมื่อมีคนพูดกับพวกเขามากกว่าจะสบตา เด็กออทิสติกบางคนมีภาวะบกพร่องด้านการเข้าใจคนอื่น เช่น เด็กทั่วไปจะเข้าใจข้อมูลที่บุคคลอื่นสื่อสาร รวมถึงความรู้สึก และเป้าหมายในการสื่อสารของบุคคลอื่น ในทางตรงกันข้ามเด็กออทิสติกจะไม่เข้าใจและไม่สามารถคาดคะเนการสื่อความหมายของบุคคลอื่นได้

  • ภาวะบกพร่องด้านการสื่อสาร โดยทั่วไปแล้ว เด็กในวัยเตาะแตะหรือเมื่อย่างเข้าขวบปีแรก จะเริ่มพูดได้สองสามคำ และรู้จักหันมามองเมื่อถูกเรียกชื่อ หรือชี้ของเล่นที่ต้องการได้แต่สำหรับเด็กออทิสติกจะมีพฤติกรรม ดังนี้
    • ไม่ตอบสนองหรือตอบสนองช้าเมื่อมีคนเรียกชื่อหรือเรียกให้สนใจ
    • มีการพัฒนาที่ล่าช้าทางด้านท่าทาง เช่น การชี้และแสดงสิ่งของให้ผู้อื่นดู
    • ส่งเสียงและพูดอ้อแอ้ในช่วงปีแรก แต่หลังจากนั้นจะหยุดพฤติกรรมดังกล่าว
    • การพัฒนาด้านภาษาล่าช้า
    • เรียนรู้การสื่อสารโดยใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ของตัวเอง
    • พูดเพียงคำเดียวหรือพูดซ้ำไปซ้ำมา ไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้
    • พูดทวนคำที่ได้ยินซ้ำๆ
    • ใช้คำแปลกๆ สื่อความหมายแปลกๆ เฉพาะคนที่ใกล้ชิดกับเด็กจึงจะเข้าใจ
  • การแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ โดยทั่วไปเด็กออทิสติกมักแสดงพฤติกรรมที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งบางคนอาจแสดงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างรุนแรง ชัดเจน ในขณะที่บางคนอาจแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เช่น เล่นนิ้วมือ กระพือแขน เดินในท่าเฉพาะ ซ้ำๆ นอกจากนี้ ยังมีความสนใจจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างมากเป็นพิเศษ เช่น บางคนอาจชอบดูล้อรถที่หมุน ประภาคาร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ เนื่องจากเด็กออทิสติกไม่รู้จักการยืดหยุ่น จึงมักจะยึดติดอะไรแบบเดิมๆ พวกเขาจะรับประทานอาหารแบบเดิมๆ เวลาเดิมๆ ทุกวัน หรือไปโรงเรียนก็จะชอบไปเส้นทางเดิมๆ เป็นต้น

ภาวะออทิสซึมมีสาเหตุมาจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะออทิสซึมได้อย่างชัดเจน ในอดีตเคยมีการให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รูปแบบการเลี้ยงดู รวมถึงมีการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะด้านสุขภาพของคนในครอบครัว อายุของแม่ที่ตั้งครรภ์และปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ การได้รับสารพิษ และปัญหาระหว่างคลอดหรือระหว่างตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะออทิสซึมทั้งหมดจวบจนถึงปัจจุบันทำให้มีหลักฐานสนับสนุนว่า ความผิดปกติดังกล่าวเป็นเรื่องของความผิดปกติของสมอง ที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก กล่าวคือ ภาวะออทิสซึมเกิดจากเซลล์สมองที่ผิดปกติ และความไม่สมดุลของสารเคมีในระบบประสาท และยังพบความผิดปกติของบางตำแหน่งในสมองของเด็กกลุ่มนี้เมื่อเทียบกับสมองของเด็กทั่วไป รวมไปถึงเด็กที่มีภาวะผิดปกติของโครโมโซมเอ็กซ์ (Fragile X syndrome) ด้วย

การช่วยเหลือหรือแก้ไขเด็กออทิสติกมีความสำคัญอย่างไร?

การวินิจฉัยว่าเด็กมีภาวะออทิสซึมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสามารถระบุได้ว่าเด็กมีความผิดปกติเร็วเท่าใด ก็จะสามารถนำเด็กเข้ารับการรักษาหรือบำบัดได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ ทั้งนี้ การวินิจฉัยเด็กออทิสติกควรเริ่มตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยมีงานวิจัยบางฉบับได้แนะนำว่าการคัดกรองจะมีประโยชน์เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน หรือเด็กกว่านั้น โดยมี 2 ขั้นตอน คือ

  • ขั้นตอนแรก การคัดกรองแบบทั่วไป คือ การตรวจสุขภาพของเด็กโดยกุมารแพทย์ ขั้นตอนนี้จะแสดงถึงปัญหาทางด้านพัฒนาการของเด็ก
  • ขั้นตอนที่สอง คือ การประเมินโดยทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งขั้นตอนนี้เด็กจะถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิสซึมหรือไม่

เมื่อทราบว่าเด็กมีภาวะออทิสซึม การใช้โปรแกรมการช่วยเหลือแบบใช้โรงเรียนเป็นฐาน ร่วมกับการรักษาโดยการให้ยา จะช่วยบรรเทาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็ก และช่วยเพิ่มความสามารถของเด็กเพื่อการเติบโตและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ ซึ่งเทคนิคที่เป็นที่นิยมที่สุดสำหรับใช้แก้ไขปัญหาเด็กออทิสติกคือการวิเคราะห์พฤติกรรมประยุกต์ หรือ ABA (Applied Behavior Analysis) อันเป็นเทคนิคการปรับพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายในการซ่อมแซมพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และการเสริมแรงพฤติกรรมใหม่ เช่น การเรียนรู้ที่จะพูด เล่น และตอบสนอง รวมถึงการลดพฤติกรรมบางอย่างลง

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กออทิสติกใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปรกติมากที่สุดคือ การให้ความรู้แก่พ่อแม่ ครอบครัว และคนในสังคม รวมถึงการมีหลักสูตรสำหรับเด็กออทิสติกที่เน้นไปที่ภาษาและการสื่อสาร ทักษะการอ่าน เช่น ตัวอักษร และการนับเลข ทักษะการเรียนรู้ เช่น การแสดงบทบาทสมมติ หรือการพิจารณาถึงความต้องการของผู้อื่น ทักษะทางสังคม เช่น การให้ความสนใจกับผู้อื่น และการแบ่งปัน ทักษะในการดำรงชีวิตประจำวันและการช่วยเหลือตัวเอง เช่น การแต่งตัว หรือกวาดบ้าน รวมถึงการสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความก้าวร้าว และความโกรธเคือง ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่เป็นออทิสติกได้อย่างไร?

  • ศึกษาเกี่ยวกับภาวะออทิสซึมในด้านการรักษาและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา
  • หาข้อมูลว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกของตนเองมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และจะทำอย่างไรให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมออกมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็จะช่วยให้สามารถจัดการสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวได้ดีขึ้น
  • ยอมรับความจริงว่าลูกมีภาวะออทิสซึม สนุกสนานกับพฤติกรรมแปลกๆ ของลูก และหยุดการเปรียบเทียบลูกของตนกับคนอื่น แสดงความรักแบบไม่มีเงื่อนไขและยอมรับที่จะช่วยเหลือลูกของตนเองอย่างเต็มที่
  • อย่ายอมแพ้ อย่ารีบด่วนสรุปเกี่ยวกับชีวิตของลูกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเด็กที่มีภาวะออทิสซึมสามารถเติบโต และพัฒนาความสามารถของตนเองได้ หากได้รับการสนับสนุน
  • มีตารางเวลาและรูปแบบในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ชัดเจน สม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และรู้จักให้รางวัลเพื่อเสริมแรงพฤติกรรมที่พึงประสงค์
  • เรียนรู้การสื่อสารที่ไม่ได้ใช้ภาษา เพื่อทำความเข้าใจและสื่อสารกับลูก เช่น การอ่านความต้องการของลูกโดยสังเกตสิ่งที่ลูกแสดงออก แม้เขาจะไม่ได้พูดออกมา

เกร็ดความรู้เพื่อครู

การช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาเด็กออทิสติกที่โรงเรียน ครูควรปฏิบัติ ดังนี้

  • แจกแจงงานของเด็กให้ละเอียด ชัดเจน เป็นลำดับขั้น เพื่อให้เด็กปฏิบัติได้
  • ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและชัดเจน เช่น “วางปากกา ปิดหนังสือ และตั้งแถวเพื่อไปข้างนอก” มากกว่าที่จะพูดว่า “ข้างนอกอากาศดี พวกเรามาเรียนวิทยาศาสตร์กัน เดี๋ยวพอทุกคนเขียนงานเสร็จ เราจะปิดหนังสือแล้วตั้งแถวไปศึกษาเกี่ยวกับต้นไม้นอกห้องเรียนกันวันนี้”
  • สอนทักษะทางสังคม เช่น การสลับกันพูด และระยะห่างระหว่างบุคคล
  • อย่าให้ตัวเลือกที่มากเกินไป เช่น เมื่อบอกให้เด็กหยิบสีแดง ก็อาจมีตัวเลือกให้เพียง 2-3 สี ไม่ควรมีตัวเลือกที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเกิดความสับสน
  • ถ้าตั้งคำถามหรือออกคำสั่งแล้วเด็กจ้องมองกลับอย่างว่างเปล่า ให้เปลี่ยนประโยคใหม่ นอกจากนี้ การให้เด็กทวนสิ่งที่พูดจะช่วยให้ทราบว่าเด็กว่าเข้าใจสิ่งที่ครูพูดหรือไม่
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเชิงประชดประชัน เพราะเด็กจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง
  • หลีกลี่ยงการใช้สำนวน ที่ไม่ได้สื่อความหมายตรงไปตรงมา
  • พยายามให้ตัวเลือกที่ชัดเจนหรือหลีกเลี่ยงคำถามปลายเปิด เช่น ควรถามว่า “หนูจะอ่านหนังสือหรือจะวาดรูป” แทนการถามว่า “หนูอยากจะทำอะไรตอนนี้”
  • พูดทวนคำสั่งซ้ำและตรวจสอบความเข้าใจ โดยใช้ประโยคที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
  • จัดตารางชีวิตประจำวันให้ชัดเจน รวมถึงจัดเวลาในการเล่นด้วย
  • สอนให้เด็กเข้าใจว่า “เสร็จสิ้น/เสร็จเรียบร้อย” หมายถึงอะไร และบอกได้ว่ามีสิ่งๆ หนึ่งเสร็จสิ้นเละมีอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากเดิมได้เริ่มขึ้น
  • การอธิบายต่างๆ ครูควรใช้รูปถ่าย เช่น ถ่ายรูปห้องที่สะอาดและแสดงให้เด็กดูเพื่อให้เด็กเข้าใจได้ว่า นี่คือผลสำเร็จที่ครูต้องการ
  • แจ้งเตือนให้เด็กรับรู้เวลามีการเปลี่ยนแปลงตารางเวลาไปจากเดิม หรือเปลี่ยนจากกิจกรรมหนึ่งเป็นอีกกิจกรรม
  • สื่อสารกับเด็กและเรียกชื่อเด็กแบบเจาะจง แทนการออกคำสั่งต่อชั้นเรียนโดยรวม
  • ใช้การนำเสนอที่หลากหลาย เช่น การใช้รูปภาพ ภาษากาย และการใช้เพื่อนเป็นแบบ
  • ทราบว่าท่าทางและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กอาจบอกได้ว่าเด็กกำลังมีความวิตกกังวลบางอย่าง
  • ไม่ถือโทษกับพฤติกรรมที่ดูก้าวร้าวหรือหยาบคายของเด็ก และเข้าใจว่าเป้าของการระบายความโกรธของเด็กอาจไม่ใช่สาเหตุที่เด็กโกรธ
  • หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหรือสิ่งเร้าที่มากเกิน พยายามกำจัดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจออกไปเวลาที่ต้องการให้เด็กจดจ่อกับงาน หรือจัดพื้นที่เฉพาะให้เด็กเวลาทำงาน ผนังที่มีสีสันสดใสหรือเสียงดังอาจทำให้เด็กออทิสติกบางคนสูญเสียสมาธิได้โดยง่าย
  • พยายามเชื่อมโยงงานที่มอบหมายให้เข้ากับความสนใจเฉพาะของเด็กออทิสติกแต่ละคน
  • ศึกษากระบวนการเรียนรู้คำศัพท์และการเรียนรู้ด้านภาษาโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
  • ดูแลเด็กไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งหรือล้อเลียน และสอนให้เพื่อนร่วมชั้นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการพิเศษของเด็กออทิสติก
  • อนุญาตให้เด็กออทิสติกไม่ต้องทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นกีฬา หรือการเล่นเกม ที่พวกเขาไม่ชอบหรือไม่เข้าใจ
  • ยอมให้เด็กแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ ที่เขาชอบบ้างเพื่อเป็นการให้รางวัลเวลาที่เขาพยายามทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ดีผู้เขียน: โสธิดา ผุฏฐธรรม ครุศาสตร์มหาบัณฑิต (จิตวิทยาการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็กขอบคุณ: https://taamkru.com

ย้อนกลับ