มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ลูกมีความบกพร่องทางการพูดและภาษา (Children with Speech and Language Impairment)


เมื่อบุคคลไม่สามารถเปล่งเสียงพูดได้อย่างถูกต้อง ไม่สามารถพูดได้อย่างราบรื่น หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเสียงของตนเอง ถือว่าบุคคลนั้นมีความบกพร่องทางการพูด (Speech Impairment) ซึ่งครอบคลุมลักษณะตั้งแต่ปัญหาความยากลำบากในการออกเสียง หรือความผิดปกติในการออกเสียง (Articulation Disorders) รวมถึงการพูดติดต่าง (Stuttering) ในขณะเดียวกัน เมื่อบุคคลมีปัญหาในการรับรู้และเข้าใจภาษา (Receptive language) หรือมีทักษะในการใช้ภาษาบกพร่อง (Expressive language) ถือว่าบุคคลนั้นมีความบกพร่องทางภาษา (Language Impairment) ทั้งนี้ ผู้ใหญ่และเด็กต่างสามารถประสบปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษาได้ โดยสาเหตุของความบกพร่องอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย หรืออาจเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ สำหรับความบกพร่องทางการพูดและภาษาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กนั้นมีหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม อาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ตามลักษณะของความผิดปกติ ได้แก่

  • การออกเสียง (Articulation) โดยเด็กจะมีปัญหาในการออกเสียงไม่ถูกต้อง หรือพูดไม่ชัด
  • ความคล่อง (Fluency) เด็กมักจะมีพฤติกรรมการพูดซ้ำ พูดลากเสียงยาว หรือการละเสียง พยางค์ หรือคำบางคำ นอกจากนี้ปัญหาอาจเกิดจากการหยุดชะงักของการออกเสียง การหายใจเข้า-ออกที่ผิดวิธี หรือหลักการออกเสียงที่ไม่ถูกต้อง
  • เสียงพูด (Voice) โดยเด็กจะมีคุณภาพเสียงที่ผิดปกติ เช่น ระดับสูงต่ำของเสียง ความก้อง และความดังของเสียง
  • ภาษา (Language) โดยเด็กจะมีปัญหาในการใช้ภาษาเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่ต้องการ ความคิด ข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “ความบกพร่องทางการพูดและภาษา” แตกต่างไปจาก “การพัฒนาภาษาล่าช้า (Language delay)” ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเป็นเป็นตัวกำหนดความรุนแรงของปัญหา วิธีการรักษา และความเร่งด่วนในการรักษา ทั้งนี้เพราะการพัฒนาภาษาล่าช้า ซึ่งส่งผละกระทบต่อเด็กก่อนวัยเรียนจำนวนประมาณร้อยละ 5 ถึง 10 ถือเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในกระบวนการเจริญเติบโตและเรียนรู้ของเด็ก กล่าวคือ เด็กยังคงมีพัฒนาการไปตามลำดับ เพียงแต่ช้ากว่าปกติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน ปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษา ถือเป็นลักษณะความพิการอันเกิดจากพัฒนาการทางการพูดและภาษาที่ผิดปกติ โดยหากเด็กได้รับการยืนยันว่ามีความบกพร่องทางการพูดและภาษา การเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนและครบวงจรด้วยความร่วมมือระหว่างแพทย์ นักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษา (Pathologist) รวมไปถึงการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครู และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง ย่อมหมายถึงประสิทธิภาพในการรักษาที่มากขึ้น และความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาที่สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เด็กสามารถเอาชนะความบกพร่องทางการพูดและภาษาของตนเอง รวมทั้งสามารถมีพัฒนาการที่เหมาะสม และใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขในระยะยาว

เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษามีลักษณะอย่างไร?

ลักษณะของความบกพร่องทางการพูดและภาษาจะแตกต่างกันไปตามประเภทของความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเด็กอาจมีความผิดปกติหลายลักษณะร่วมกันก็เป็นได้ โดยเมื่อเด็กมีความผิดปกติทางการออกเสียง (Articulation Disorder) เด็กจะมีความยากลำบากในการออกเสียงบางเสียง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ เสียงที่เปล่งออกมาอาจหายไป เปลี่ยนไป หรือแปลกไปจากปกติ เป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เด็กต้องการจะสื่อได้ ลักษณะเสียงที่หายไป หรือเปลี่ยนไปมักเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในเด็กส่วนใหญ่ที่เพิ่งเรียนรู้วิธีในการพูด อย่างไรก็ตาม การออกเสียงที่ไม่ถูกต้องนั้น ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่าปัญหาดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ ทั้งที่เด็กเติบโตเลยช่วงวัยที่ควรออกเสียงดังกล่าวได้ชัดเจนแล้ว

สำหรับเด็กที่มีความผิดปกติทางความคล่องของการพูด (Fluency Disorder) นั้น มักมีลักษณะการพูดติดอ่างหรือพูดตะกุกตะกัก (Stutter) เพราะฉะนั้นการพูดของเด็กจึงมักเต็มไปด้วยการซ้ำ (repetitions) ความลังเล (hesitations) ความยืดยาว (prolongations) หรือ ความยุ่งเหยิง (disturbances) ยิ่งไปกว่านั้น เด็กอาจมีอาการตึงของกล้ามเนื้อ ซึ่งสังเกตได้บนใบหน้า คอ ไหล่ หรือหลังมือ เพราะเสียงพูด (Voice) เกิดจากการเคลื่อนที่ของลมจากปอดผ่านกล่องเสียง จนทำให้เส้นเสียง (Vocal folds) สั่น และเกิดเสียง โดยเสียงที่เกิดขึ้นจะเดินทางผ่านคอหอย จมูก และปาก จนเกิดเป็น “เสียงพูด” ดังนั้น ความผิดปกติทางเสียงพูด (Voice Disorder) จึงได้แก่ปัญหาเกี่ยวกับ ระดับสูงต่ำของเสียง ความก้อง ความดัง และคุณภาพของเสียง เด็กอาจมีเสียงแหบ ต่ำ หรือแหลมผิดปกติ เด็กบางคนอาจมีเสียงพูดคล้ายเสียงนาสิก (เสียงขึ้นจมูก) หรืออาจมีลักษณะเหมือนเสียงถูกปิดกั้น ทั้งนี้เด็กอาจเสียงหาย หรือไม่สามารถใช้เสียงได้มาก อีกทั้งยังอาจรู้สึกเจ็บคอเมื่อออกเสียง ส่วนภาษา (Language) มีความเกี่ยวข้องกับความหมาย มากกว่าเสียง ความผิดปกติทางภาษา (Language Disorder) จึงเป็นลักษณะความบกพร่องทางการเข้าใจ หรือใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ซึ่งได้แก่ ความผิดปกติในการรับรู้และเข้าใจภาษา (Receptive language disorder) ความผิดปกติในการใช้ภาษา (Expressive language disorder) รวมถึงความผิดปกติร่วมกันระหว่าง 2 ลักษณะ (Mixed language disorder) ทั้งนี้ เมื่อเด็กมีความผิดปกติทางภาษา มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ใช้คำไม่ถูกบริบทหรือไม่สอดคล้องกับความหมาย
  • ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นคำพูดได้
  • มีปัญหาในการจัดเรียงประโยค
  • ย่อคำให้สั้นลง
  • ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้

ความบกพร่องทางการพูดและภาษามีสาเหตุมาจากอะไร?

  • ความผิดปกติของพัฒนาการทางด้านการพูดและภาษา คือ สาเหตุหลักของปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษาในเด็ก ซึ่งถือเป็นความบกพร่องทางการเรียนรู้ประเภทหนึ่งอันเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดไปจากปกติ หากเด็กมีความผิดปกติของพัฒนาการในลักษณะนี้ จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการออกเสียง มีข้อจำกัดในการสื่อสารด้วยเสียงพูด หรือมีความยากลำบากในการรับและเข้าใจสารจากผู้อื่น โดยปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษาถือได้ว่าเป็นสัญญาณแรกของความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่จะตามมา
  • การสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) ซึ่งมักถูกมองข้าม แม้จะเป็นสาเหตุหนึ่งของความบกพร่องทางการพูดและภาษาในระยะยาว ดังนั้นเด็กที่มีการพัฒนาภาษาล่าช้า จึงควรได้รับการทดสอบการได้ยินโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
  • ความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability)
  • การได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยหากเด็กถูกละเลย ถูกใช้ความรุนแรง หรือมีโอกาสได้ฟังเสียงพูดน้อย ย่อมส่งผลให้เด็กมีการพัฒนาภาษาล่าช้า
  • ภาวะการคลอดก่อนกำหนด (Prematurity) ถือเป็นสาเหตุของปัญหาพัฒนาการล่าช้าหลากหลายรูปแบบในเด็ก รวมถึงการพัฒนาการทางการพูดและภาษาด้วยเช่นกัน
  • ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการฟัง (Auditory Processing Disorder) โดยเด็กจะไม่สามารถเข้าใจหรือจดจำสิ่งที่ได้ยินได้
  • ปัญหาทางระบบประสาท (Neurological problems) เช่น ภาวะสมองพิการ (Celebral Palsy) กล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) และการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic Brain Injury) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่จำเป็นสำหรับการพูด
  • ออทิซึม (Autism) ส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ความบกพร่องทางการพูดและภาษาก็อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคออทิซึมได้เช่นกัน
  • ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกาย (Structural problems) เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lip and cleft palate) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพูด
  • การพูดไม่ชัดแบบมีความบกพร่องของสมองที่ควบคุมโปรแกรมการพูด (Apraxia of speech) โดยเด็กจะมีปัญหาในการเรียบเรียงประโยค การลำดับคำ และพูดไม่ชัด
  • ภาวะไม่พูดบางสถานการณ์ (Selective Mutism) หรือลักษณะที่เด็กจะไม่ยอมพูดอย่างเด็ดขาดเมื่ออยู่ในสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นที่โรงเรียน

ปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษามีความสำคัญอย่างไร?

ในปี ค.ศ.2006 กระทรวงการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า เด็กมากกว่า 1.4 ล้านคนเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมเด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษาซึ่งเป็นอาการอันสืบเนื่องมาจากความผิดปกติอื่น เช่น ภาวะสูญเสียการได้ยินหรือหูหนวก (Deafness) ซึ่งหมายความว่า หากนำเด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษาไม่ว่าในกรณีใดก็ตามมารวมกัน จะถือได้ว่าความบกพร่องลักษณะดังกล่าวนี้เป็นความบกพร่องที่พบได้มากที่สุด ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษาถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทั้งผู้ปกครองและครูไม่ควรนิ่งนอนใจหากความสามารถในการพูดและการใช้ภาษาของเด็กแตกต่างหรือด้อยกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือมีพัฒนาการที่ไม่สอดคล้องกับอายุแม้ในช่วงแรกเริ่มของชีวิตก็ตาม โดยผู้ปกครองควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบการได้ยินเป็นลำดับแรก ถึงแม้เด็กจะสามารถตอบโต้หรือแสดงอาการเสมือนสามารถได้ยินปกติก็ตาม ทั้งนี้เพราะความผิดปกติทางการพูดและภาษาของเด็ก อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางการพูดและภาษา แต่เกิดจากความบกพร่องทางการได้ยินซึ่งขัดขวางพัฒนาการในการสื่อสารของเด็ก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุของความบกพร่องทางการพูดและภาษาของเด็กจะเกิดจากความบกพร่องทางการได้ยิน หรือเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม หากสามารถตรวจพบได้ยิ่งเร็วและเด็กได้รับการรักษาในทันที โอกาสที่เด็กจะสามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสม หรือหายเป็นปกติย่อมมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้การรักษาปัญหาความบกพร่องทางการพูดและภาษาอาจดำเนินไปตลอดช่วงชีวิตการศึกษาของเด็ก โดยอาจเป็นการรักษาโดยตรง หรือการปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) ก็อาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก โดยเฉพาะในรายที่ความผิดปกติของร่างกายเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมแก่เด็ก ทั้งนี้ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก คือ ความสามารถในการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน การทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งล้วนนำไปสู่พัฒนาการทางการเรียนรู้ และการเพิ่มพูนทักษะชีวิตที่สำคัญสำหรับอนาคต

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาลูกที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษาได้อย่างไร?

  • ศึกษาเกี่ยวกับความบกพร่องทางการพูดและภาษาของลูก เพราะยิ่งผู้ปกครองเข้าใจปัญหา ก็จะรู้วิธีการปฏิบัติ และสามารถช่วยลูกได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
  • อดทน เพราะถึงแม้ว่าลูกจะมีความบกพร่องทางการพูดและภาษา แต่ลูกก็มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาไปได้ตลอดชีวิต ไม่ต่างจากเด็กปกติทั่วไป
  • ติดต่อกับโรงเรียนเพื่อแจ้งความต้องการพิเศษของลูก พ่อแม่คือบุคคลที่รู้จักลูกมากที่สุด ดังนั้น จึงควรแจ้งโรงเรียนเกี่ยวกับปัญหาของลูก โรงเรียนจะได้ร่วมมือกับผู้ปกครองและสามารถช่วยเหลือเด็กได้อย่างเหมาะสม
  • รอบรู้เรื่องการบำบัดเกี่ยวกับความบกพร่องทางการพูดและภาษาที่ลูกกำลังได้รับการรักษา นอกจากนี้ยังควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีที่จะสามารถช่วยบำบัดลูกเมื่ออยู่ที่บ้านและในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งควรรับคำแนะนำในสิ่งที่ไม่ควรทำต่อลูกด้วย
  • มอบหมายให้ลูกทำงานบ้าน เพราะการทำงานบ้านจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความสามารถของลูก โดยคำนึงถึงอายุ ระยะเวลาที่เด็กสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และความสามารถในการทำงานของลูกเป็นหลัก ทั้งนี้พ่อแม่มีหน้าที่อธิบายวิธีการทำงานบ้านอย่างเป็นลำดับในแต่ละขั้นตอนจนกว่างานจะเสร็จ รวมทั้งสาธิตหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ และให้การชมเชยเมื่อลูกสามารถปฏิบัติตามได้ในแต่ละขั้นตอนหรือเมื่อลูกสามารถทำงานได้สำเร็จในท้ายที่สุด
  • เป็นผู้รับฟังที่ดี โดยไม่พูดแทรกหรือแก้ไขคำ หรือประโยคในทันทีที่ลูกพูดผิด ในทางกลับกัน พ่อแม่ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกพูดเช่นกัน
  • แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครองที่ลูกมีความบกพร่องทางการพูดและภาษาเหมือนกัน เพราะอาจได้เรียนรู้วิธีการที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งได้รับกำลังใจจากผู้ปกครองที่ต่างก็มีประสบการณ์ในลักษณะเดียวกัน
  • ติดต่อกับครูของลูก โดยให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่ครู สาธิตวิธีการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่ลูกใช้ รวมทั้งให้ข้อมูลที่ครูควรทราบ และหาวิธีส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยเริ่มจากที่บ้าน

เกร็ดความรู้เพื่อครู

  • ศึกษาเกี่ยวกับความบกพร่องทางการพูดและภาษาของเด็กแต่ละคนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ครูจึงจำเป็นต้องทราบลักษณะความบกพร่องและผลกระทบที่มีต่อความสามารถในการสื่อสารของเด็กเป็นรายบุคคล
  • ตระหนักว่าครูมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตเด็กเช่นกัน โดยการหมั่นสังเกตจนพบจุดแข็งของเด็ก รวมถึงสิ่งที่เด็กสนใจเป็นพิเศษ แล้วจึงสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อต่อยอดความสามารถ อันถือเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต
  • ให้การอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น ในการทำกิจกรรม การทำการบ้าน การทำข้อสอบ ทั้งนี้การช่วยเหลือที่เหมาะสมดังกล่าว จะสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้เกี่ยวข้องที่สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการสอนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางภาษาและการพูด รวมไปถึงหาหนทางในการปรับหลักสูตรการเรียนให้เหมาะกับเด็กที่มีปัญหา
  • หาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในชุมชนและนอกชุมชนที่ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนที่มากขึ้น
  • ติดต่อกับผู้ปกครองของเด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่วมกันสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กระหว่างบ้านและโรงเรียน รวมทั้งถือเป็นการประเมินแนวโน้มการพัฒนาของเด็ก เพื่อวางแผนการช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กต่อไปในอนาคตผู้เขียน: ปัณณ์พัฒน์ จันทร์สว่าง และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา: ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็กขอบคุณ : https://taamkru.com

ย้อนกลับ