มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

คุณยายหัวใจแกร่ง


แม่เฒ่าผิน…คุณยายหัวใจแกร่ง

เนื่องจากแม่ต้องไปทำงานรับจ้างร้านอาหาร พ่อจากไปตั้งแต่น้องอายุ 1 ปี น้องเอมีภาวะสมองพิการตั้งแต่กำเนิด มีภาวะเกร็งแข็ง คืบคลานไม่ได้ นั่งไม่ได้ น้ำลายไหลตลอดเวลา พัฒนาการช้า ได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท่าศาลาเพื่อเข้ารับการฟื้นฟูบำบัดอย่างต่อเนื่องตามโปรแกรม แม่เฒ่าผินทำหน้าที่ดูแลด้วยหัวใจเต็มร้อย มาตามนัดเกือบทุกครั้งถ้าน้องไม่ป่วยเจ็บ จนได้รับรางวัลครอบครัวตัวอย่างทุกปี เพราะเป็นสมาชิกกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง ปัจจุบันน้องเอสามารถเข้าเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วยเหลือตัวเองได้ เข้าห้องน้ำ กินข้าวเองได้ ใส่เสื้อผ้าที่ไม่มีกระดุมได้ รูดซิปได้เอง ใส่รองเท้ารัดส้นได้ เดินเองได้โดยใช้ที่ฝึกเดิน ปั่นจักรยานสามล้อที่ดัดแปลงเฉพาะได้ดีมาก สามารถสื่อสารพูดคุยโต้ตอบได้รู้เรื่อง แต่ยังมีภาวะเกร็งกระตุกเป็นบางครั้ง

13 ปีแห่งการฟื้นฟู

ช่วงเวลาในการฟื้นฟูบำบัดนาน 13 ปีเต็มทำให้น้องเอมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยมา ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณยายและคุณตา แม่เฒ่าผินและพ่อเฒ่าบุญสม น้องเอคงกลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การได้รับการฟื้นฟูบำบัดเร็วและต่อเนื่องส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก ลดภาระการพึ่งพิงตามเป้าหมายที่แม่เฒ่าผินได้ร่วมตั้งไว้ตั้งแต่วันที่เข้าร่วมการฟื้นฟูบำบัด แม่เฒ่าผินเล่าถึงหัวใจในการการเลี้ยงดูเด็กพิการ ว่าต้องทุ่มเททั้งกายและใจ ให้ความรักความเข้าใจ เอาใจใส่แม้เขาไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ แต่คิดเสมอว่าเขาเข้าใจ เขารับรู้ทุกสิ่งที่ทำให้เขา เชื่อว่าเขาเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ผู้ดูแลต้องรู้จักการรอคอย ผลอาจช้าหน่อยต้องใช้เวลา และระหว่างทำคิดว่ากำลังทำสิ่งพิเศษเสมอ การเรียนรู้สำหรับเด็กพิการทำได้หลากหลาย แม่เฒ่าผินจึงแสวงหาความรู้ไม่หยุดนิ่ง เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูบำบัดหลาน โดยคิดแค่ว่าอย่างน้อยให้หลานสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม่เฒ่าผินได้รับความรู้จากเพื่อนๆ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ แล้วนำมาฝึกฟื้นฟูบำบัดต่อที่บ้านทุกวัน โดยให้เวลาอย่างใส่ใจในการฝึกหลานอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง
สร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง

แม่เฒ่าผินไม่ได้ดูแลหลานอย่างเดียวดาย ยังมีแรงหนุนจากคนในครอบครัว พ่อเฒ่าสมและคุณลุงรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์การฝึกต่างๆ พัฒนาตนเองจนกลายเป็นนักออกแบบให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟู เช่น ปรับโถส้วมนั่ง ทางลาดเข้าห้องน้ำ ทำที่ฝึกยืน ทำราวเดิน ทำเก้าอี้จากกล่องกระดาษ ที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการเคยมาสอนทำตอนน้องเอยังนั่งไม่ได้ และปีที่ผ่านมามีนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาส่งเสริมเรื่องแผ่นบอร์ดการฝึกประจำสัปดาห์

สวนบำบัด

มูลนิธิเพื่อเด็กพิการให้ความรู้เรื่องการฝึกการเคลื่อนไหวแบบญี่ปุ่น (โดสะโฮ) การนวดไทยเพื่อการฟื้นฟูสำหรับเด็กพิการ การฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน และสวนบำบัดเพื่อการฟื้นฟูเด็กพิการ

น้องเอมีความชอบส่วนตัวเรื่องการปลูกต้นไม้เป็นพิเศษ เพราะได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กๆ น้องเอสามารถเดินด้วยที่ฝึกเดิน จับจอบ ขุดหลุมปลูกต้นไม้เอง กอบกำสัมผัสขยำและเล่นดินอย่างมีความสุข มีสมาธิในการปลูก ถือเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นความคิด ความจำ ฝึกกล้ามเนื้อ น้องเอฟสามารถบอกชื่อพรรณไม้ ต้นไม้ สรรพคุณทางยาของต้นไม้แต่ละชนิดได้อย่างน่าประทับใจ

สวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเชิงสร้างสรรค์ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา การเห็นคุณค่าในตนเอง สามารถเชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชีวิตประจำวันได้อย่างดี

โดยแม่เฒ่าผินจัดสรรพื้นที่ในบ้านเป็นสวนผัก สวนดอกไม้ สวนสมุนไพร มีต้นไม้หลากหลายนานาพันธุ์ น้องเอสามารถเดินนำชมอย่างภูมิใจ และอธิบายเกี่ยวต้นไม้แต่ละชนิด อาทิ ใบรา ใบกระเพรา ใบขมิ้น ตะใคร้ ใบมะกรูด ต้นมะพร้าว ต้นลอกอ (มะละกอ) ใช้ทำอาหาร ส่วนดอกไม้ ดอกดาวเรือง ดอกกุนหยี (ดอกบานไม่รู้โรย) แม่เฒ่าเก็บไปวัดไหว้พระ หญ้าหนวดแมวแก้โรคไต ฟ้าทลายโจรแก้หวัดเจ็บคอ หญ้าใต้ใบแก้ไข้ แก้ร้อนในสำหรับเด็ก ใบเตยหอมไว้ทำขนม ไว้ใส่ในน้ำต้มหอมดี ต้นลูกยอใช้ทำห่อหมก ฯลฯ

 

สวนจากภูมิปัญญาของยาย

สิ่งสำคัญในกระบวนการสวนบำบัด การปลูกผักสวนครัวและปลูกต้นไม้ แม่เฒ่าผินไม่เคยทิ้งหรือขังหลานชายให้อยู่ในบ้านตามลำพัง แต่นำพามาอยู่ใกล้ๆ บอกเล่าเก้าสิบทุกอย่างให้หลานฟังว่ากำลังทำอะไร มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ตอนเล็กๆ น้องเอนอนฟังในรถเข็น บางจังหวะแม่เฒ่าก็ร้องเพลงให้ฟังด้วย เป็นวิธีการเรียนรู้ผ่านภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ่ายทอดกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กให้เรียนรู้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ ได้ทุกช่วงเวลาในชีวิตประจำวัน

ความภูมิใจของน้องเอเมื่อได้ปลูกต้นไม้ต้นแรก น้องเอปลูกต้นงวงช้างในกระถาง น้องเอสามารถเล่าถึงวิธีการปลูก การเตรียมดิน การรดน้ำ ไปจนถึงการดูแล โดยมีทุกคนในครอบครัวคอยชื่นชมให้กำลังใจ เมื่อถามว่าปลูกต้นไม้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง น้องเอตอบว่าได้ฝึกร่างกาย แม้จะยังไม่ได้ดั่งใจมากนัก

“ชอบครับ ดีใจที่ทำได้ ได้ออกแรง ได้ใช้มือ ใช้ขาเดิน และต้องเกร็งทรงตัวให้ได้ มันยากแต่พยายาม ได้เล่นดินขยำ พรวนดิน ผมหยิบจับจอบเองได้ กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่มันไม่ได้ดั่งใจที่ผมคิด บางทีหกล้มต้องระวัง”

น้องเอต้องระมัดระวังอาจเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ของมีคมบาด แมลงมดกัด กิ่งไม้หล่นใส่ แพ้ใบไม้ใบหญ้าเป็นเม็ดผื่นได้ โดยมีสมาชิกในครอบครัวคอยดูแลให้เหมาะสม เช่น ฝนตกแดดออกจ้าไม่ควรปลูก บริเวณที่ปลูกต้องสามารถวางที่ฝึกเดินได้ ทางเดินต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่ต่ำหรือสูงเกินไป เป็นต้น

 

ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กพิการ

แนวคิด “สวนบำบัด” หรือ “ธรรมชาติบำบัด” เป็นการนำธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกิจกรรมในชีวิตประจำวันมาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตรอบด้านให้กับเด็ก สร้างสัมพันธภาพในครอบครัว การได้ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ

กิจกรรมที่ทำเน้นให้เกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นเมื่อได้จับดิน สนุกเมื่อได้สังเกตการเจริญเติบโตของต้นไม้ เด็กได้เรียนรู้จากธรรมชาติ สร้างเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สีเขียวจากธรรมชาติสร้างความผ่อนคลาย การใช้ สี กลิ่น ผิวสัมผัสของธรรมชาติที่มีความแตกต่างช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสในกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสมองหรือร่างกายได้ดี เช่น การเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัสจากใบไม้ การนับจำนวนตัวเลข การขยี้ใบไม้เพื่อรับกลิ่นทำให้ความเครียดลดลง ทุกสิ่งรอบตัวสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้ลงตัวเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ และสภาพความพร้อมของเด็ก

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงต้องชื่นชมภูมิปัญญาการเลี้ยงดูแบบชาวบ้านของแม่เฒ่าและพ่อเฒ่า ที่ได้สร้างสรรค์การเรียนรู้จากธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต นำความรู้ภูมิปัญญาเดิมที่ตนเองมีผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับ เพื่อบำบัดและกระตุ้นเซลล์สมองส่วนที่ดีของเด็กให้แข็งแกร่ง มีการแตกขยายเชื่อมโยงเซลล์ประสาทของร่างกายทุกส่วนให้พร้อมเพื่อรองรับการฟื้นฟูบำบัดให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อไปตลอดชีวิต


ย้อนกลับ