มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ความศรัทธาที่ฟ้าประทาน

ความศรัทธาที่ฟ้าประทาน

ครอบครัวบุญคล้าย ครอบครัวที่ต้องดูแลลูกพิการทางสมองสองคนคือ น้องนิดและน้องหน่อย โดยมีพ่อสุขและแม่บุญ คุณพ่อคุณแม่รับหน้าที่ดูแลน้องทั้งสองคนอย่างไม่ย่อท้อ ครอบครัวนี้มีความพิเศษที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคุณพ่อ ซึ่งเปลี่ยนจากพ่อผู้ไม่สนใจร่วมดูแลลูก มาเป็นคุณพ่อที่มีบทบาทอย่างสูงในการเลี้ยงดูลูกทั้งสองคน รวมถึงเปลี่ยนความคิดความเชื่อของตนเองสู่มุมมองใหม่ การมีศรัทธายิ่งว่าการที่ฟ้าประทานลูกพิการทางสมองทั้งสองคนมาให้นั้น เพราะเบื้องบนเชื่อมั่นว่าพ่อสุขและแม่บุญมีหัวใจที่งดงามและแข็งแกร่งพอจะดูแลเด็กน้อยทั้งสองคนนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยครอบครัวบุญคล้ายได้ถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ของตนเองใน “โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการโดยชุมชนสานกิจกรรมค่ายคืนสู่เหย้าสายสัมพันธ์คนพิการ” ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มฟื้นฟูเด็กพิการในจังหวัดนครศรีธรรมราช จากอำเภอเมือง อำเภอนบพิตำ อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอปากพนัง และอำเภอท่าศาลา โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมงานหลายองค์กร มูลนิธิเพื่อเด็กพิการเป็นผู้ประสานเครือข่ายชักชวนภาครัฐในพื้นที่ร่วมด้วยช่วยกัน โดยมีโรงพยาบาลท่าศาลาร่วมดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2542

โดยก่อนที่จะเข้าร่วมกลุ่มฟื้นฟูบำบัดในโครงการต่างๆ แม่บุญยังไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีเพื่อนร่วมคิด ต้องลาออกจากงานมาดูแลน้องนิดลูกสาวคนโตที่พิการทางสมอง การดูแลลูกคนโตโดยไม่มีกระบวนการบำบัดฟื้นฟูกระตุ้นพัฒนาการของลูก ผลที่เกิดขึ้นคือลูกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องนอนติดเตียงตลอดชีวิต ต่อมาเมื่อแม่บุญเริ่มเข้ารวมกลุ่มกับพ่อแม่ที่มีลูกพิการเช่นเดียวกัน มีเพื่อนหัวใจเดียวกัน และได้รับความรู้ต่อเนื่อง จึงพาน้องหน่อยลูกสาวคนเล็กที่มีภาวะสมองพิการเช่นกันเข้าโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูจนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

 

พ่อเปิดใจเรียนรู้สู่โลกกว้าง

จากเดิมพ่อสุขไม่สนใจ หรือใส่ใจดูแลลูก กำหนดจัดแบ่งหน้าที่ดูแลลูกให้แม่บุญเพียงคนเดียว จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งในปี 2553 โครงการเรียนรู้สู่โลกกว้างของกลุ่มเด็กพิเศษกลุ่มฟื้นฟูเด็กพิการ โดยชุมชนตำบลทางพูน อ.เฉลิมพระเกียรติ  การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพ่อสุข ทำให้เขาเปลี่ยนความคิด และเปลี่ยนพฤติกรรมนับจากนั้นเป็นต้นมา

“ก่อนนี้ผมคิดและตกลงกับภรรยาตั้งแต่ลูกคลอดออกมาผิดปกติ แบ่งบทบาทหน้าที่เลี้ยงดูลูก ทำงานบ้านทุกอย่างเป็นหน้าที่ของแม่ หน้าที่หาเงิน ทำนา ทำงานนอกบ้านเป็นหน้าที่พ่อ ผมคิดผิดมาตลอด วันหนึ่งผมมีโอกาสไปร่วมกิจกรรม เพราะต้องพาน้องนิดน้องหน่อยไปร่วมกิจกรรม ตอนนั้นแค่คิดว่าแม่บุญคนเดียวไม่ไหวแน่เลยแค่จะไปช่วย วันนั้นผมได้อุ้มลูกลงจากรถแบกเขาไว้บนบ่า ได้เรียนรู้ร่วมกับสมาชิกอีกหลากๆ ชีวิต น้ำเสียงสดใสเริงร่าที่ผมได้ฟัง สัมผัสได้ด้วยหัวใจ เสียงหัวเราะอย่างมีความสุขของลูกเป็นปฏิกิริยาที่เขาตอบสนองตลอดเส้นทาง ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่พ่อ สร้างสุขให้กับลูก เริ่มคิดว่าที่ผ่านมาผมพลาด รู้สึกผิดอย่างมหันต์ รู้สึกตัวเองเห็นแก่ตัว เป็นสามีที่ไม่ค่อยดีนัก รู้สึกสงสารภรรยาเหลือเกิน ที่ผ่านมาเขาทำมาได้อย่างไร ไม่เคยบ่นหรือแสดงสีหน้าท่าทางว่าเหนื่อยล้าให้เห็น ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่แม่อย่างดีที่สุด

แต่ก่อนเวลานัดพบกลุ่มทุกครั้งผมแค่ขับรถไปรับส่งรับ ไม่เคยรับรู้ว่าเขาทำอะไรกัน เขาต้องต่อสู้อดทนต่อปัญหาอุปสรรคมากมายแค่ไหน ผมเป็นพ่อที่ไม่รับผิดชอบเสียเลย เพิ่งรู้ว่าน้ำหนักลูกที่แบกรับไว้ช่างหนักหนาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ผมตรากตรำทำงานเช้าจนค่ำคิดว่าหนักมากยังเทียบไม่ได้กับความเหนื่อยยากลำบากที่แม่ดูแลลูกพิการถึงสองคนทั้งวันแถมอีกค่อนคืน กลับมาครั้งนั้นผมเข้าใจลึกซึ้งถึงก้นบึ้งหัวใจ ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองทันที แบ่งหน้าที่มาช่วยทุกกิจกรรม ผมบอกแม่บัติว่าเวลาพาลูกเข้าห้องน้ำให้โทรฯ เรียก แล้วผมจะรีบมาจากท้องนาเพื่อมาอุ้มลูกเข้าห้องน้ำ ผมให้เวลากับลูกมากขึ้น โอกาสเหมาะแดดไม่จัด ฝนไม่ตกจะพาลูกทั้งสองไปท่องเที่ยวตลาด น้ำตก ทะเล ภูเขา ท้องนา ทำหน้าที่เป็นไกด์บอกเล่าเก้าสิบทุกอย่างให้ลูกฟัง ลูกไม่เคยถาม เพราะลูกพูดไม่ได้ แต่พ่อแม่รู้ว่าลูกรับรู้ได้”
วิกฤตชีวิตสร้างพลัง

มีอีกเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตครั้งสำคัญ แต่กลับทำให้พ่อสุขค้นพบสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่ในชีวิตของตนเอง เมื่อพ่อสุขเป็นโรคฉี่หนูต้องนอนป่วยหนักในห้องไอซียูแรมเดือน การมีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายครั้งนั้นทำให้เขาคิดถึงลูกอย่างที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน และการรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ทำให้เห็นคุณค่าในชีวิตอย่างแท้จริง

“ที่รอดชีวิตมาได้ผมคิดว่าเกิดจากอานิสงค์ผลบุญที่เลี้ยงลูกพิเศษสองคนนี้ ขณะที่อาการสลึมสลือเหมือนคนกำลังจมน้ำ ได้ยินเสียงเครื่องช่วยหายใจ เสียงพูดคุยระหว่างหมอกับพยาบาลฟังคล้ายเสียงกระซิบ นาทีนั้นผมตั้งจิตอธิษฐาน ขออำนาจบารมีสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลาย เทวดาฟ้าดิน บุญกุศลที่สร้างสมตลอดมาโปรดมอบชีวิตให้ด้วยเถิด เพื่อจะขอทำหน้าที่ดูแลปกป้องลูกทั้งสอง หากผมตายไปใครจะช่วยดูแลเขา ลูกจะอยู่ได้อย่างไร แล้วนึกถึงลูกทั้งสองด้วย น้องนิดและน้องหน่อยช่วยพ่อด้วย พ่อรักเป็นห่วงลูกมาก พยายามรวบรวมกำลังใจเพื่อต่อสู้ให้รอดชีวิต แล้วผมรอดมาได้เหมือนปาฏิหาริย์ หลังจากนั้นนับวันครอบครัวผมยิ่งรู้สึกเป็นพลังซึ่งกันและกันมากขึ้น”

วิกฤตชีวิตครั้งนั้นทำให้พ่อสุขเริ่มคิดว่า ย่อมมีสิ่งดีซ่อนเร้นอยู่ในเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ทำให้เกิดพลังมหัศจรรย์ช่วยเยียวยาจิตใจและหล่อเลี้ยงร่างกายให้ก้าวต่อไป เพื่อสร้างโอกาสเรียนรู้ เติมเต็มชีวิตให้เข้มแข็งขึ้น การผ่านวันที่ยากลำบากมาได้จะมีสิ่งให้ภาคภูมิใจเสมอ การมีลูกพิการถึงสองคน หากคิดย่อท้อโศกเศร้าลงโทษตัวเองว่าเป็นเวรกรรมที่ต้องใช้กรรม ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด มีแต่ก่อพิษสะสมเพิ่มเติมให้ใจกายหมองไหม้ชีวิตมลาย พ่อสุขผ่านพ้นวิกฤตชีวิตครั้งนั้นมาได้ด้วยการคิดดี คิดว่าเป็นบุญ การเป็นพ่อแม่มิใช่กรรมเวร แต่เป็นพลังแห่งรักและศรัทธาที่ช่วยเติมเต็มให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

เปลี่ยนความเศร้าให้เป็นพลัง

ส่วนแม่บุญหญิงรูปร่างเล็กผอมเพรียว ผู้ผ่านการอบรมการนวดไทย การจัดกิจกรรมสวนบำบัด การฝึกการเคลื่อนไหวแบบญี่ปุ่น (โดสะโฮ) และการเสริมสร้างอาชีพ การฝึกฝนและพัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่บุญสามารถเป็นหลักในการฟื้นฟูบำบัดลูกได้อย่างมืออาชีพ

“ช่วงแรกๆ คือช็อคก่อน ท้อแท้กับโชคชะตาชีวิต กว่าจะทำใจได้ใช้เวลานานเป็นปี เมื่อจิตนิ่งปลดปลงยอมรับว่าฟ้าเทวดาเขาประทานเด็กพิเศษทั้งสองคนมาให้เรา เขาไว้วางใจเรา เราทั้งสองต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ความรักความเข้าใจ ให้เวลา ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด นำลูกออกสู่สังคม ฟื้นฟูบำบัดลูก เริ่มจากเป้าหมายง่ายๆ เช่น ตอนแรกน้องหน่อยลุกนั่งไม่ได้ ต้องป้อนข้าวน้ำ เล่นของเล่นไม่ได้ เราก็กระตุ้นพัฒนาการจนดีขึ้น ลุกนั่งเองได้ หยิบของเล่นเองได้ นั่งถัดคลานได้ สิ่งสำคัญอย่าใจร้อน ต้องใช้เวลามากกว่าเด็กปกติหลายร้อยเท่า การฝึกลูกต้องพิเศษ ภูมิใจที่ลูกทั้งสองเก่งขึ้น เข้าสู่สังคมได้ไม่ร้องกวนโยเย ลูกคนโตพลาดที่ไม่ได้ฟื้นฟูบำบัดตั้งแต่ตอนเล็กๆ เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีที่ปรึกษา โดดเดี่ยว จนลูกนอนติดที่นอนตลอดชีวิต ซึ่งเรารู้สึกรับไม่ได้ พอมีน้องหน่อยเรามีความรู้มากขึ้น น้องก็ได้รับการฟื้นฟูบำบัดเร็วขึ้น”

จากประสบการณ์ทั้งหมดหลอมรวมให้พ่อสุขและแม่บุญสามารถเปลี่ยนความเศร้าเป็นพลัง เปลี่ยนความหวังเป็นโอกาส เปลี่ยนจากความท้อแท้เป็นพลังบุญสร้างศรัทธา รวมถึงเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจซึ่งกันและกันระหว่างพ่อแม่ที่มีลูกพิการ เพราะการเลี้ยงลูกพิเศษต่างจากการเลี้ยงลูกปกติ พ่อแม่ต้องอาศัยความหวังและกำลังใจอย่างแรงกล้าในการก้าวข้ามผ่านความสิ้นหวังไปให้ได้


ย้อนกลับ