มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

Garden Therapy/Horticulture Therapy

1. ความเป็นมา
2. นิยาม
3. ประโยชน์ของสวนบำบัด
4. สถานการณ์การใช้สวนบำบัดในประเทศไทย

1.ความเป็นมา
1.1 ประวัติและความเป็นมา

คำว่าสวนบำบัดจะตรงกับคำว่า Horticultural therapy (HT) ซึ่งหมายความถึง การทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพืชและสวนเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูความบกพร่องและความเจ็บป่วย  ประโยชน์ในการบำบัดนั้นได้มีการยอมรับและมีการบันทึกตั้งแต่สมัยโบราณ  ในคริสต์ศตวรรษที่ 19     Dr. Benjamin Rush ผู้ลงนามในคำประกาศอิสรภาพอเมริกา และได้รับการยอมรับว่าเป็น “บิดาแห่งจิตวิทยาอเมริกา”  เป็นบุคคลแรกที่เขียนบันทึกเกี่ยวกับผลดีที่เกิดขึ้นจากการทำสวนในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต

ในทศวรรษของปีค.ศ. 1940 และ 1950 การฟื้นฟูทหารผ่านศึกในโรงพยาบาลได้ยอมรับและใช้การทำสวนเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟู  ทำให้ไม่จำกัดในการใช้บำบัดผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น  การทำสวนบำบัดได้ประโยชน์มากมายอย่างเหลือเชื่อ และถูกนำมาใช้ในการวินิจฉัยและบำบัดมากขึ้น      ทุกวันนี้ สวนบำบัดได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการบำบัดที่มีประโยชน์และได้ผล  มันถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในชุดกิจกรรมของการฟื้นฟูสมรรถภาพ กิจกรรมบำบัดและกิจกรรมทางสังคม

1.2 คำว่า สวนบำบัด (Therapeutic Garden)

ในไม่กี่ปีมานี้เราได้เห็นความนิยมและตื่นตัวเรื่องสวนบำบัด  สวนบำบัดเหล่านี้ถูกออกแบบเป็นการเฉพาะให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพและการบำบัดรักษา  ซึ่งมีการออกแบบภูมิสถาปัตย์เพื่อให้สวนเป็นสวนสำหรับการบำบัด

สวนบำบัดเป็นการจัดสิ่งแวดล้อมที่มีพืชเป็นหลักโดยมีเป้าหมายเพื่อการกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับพลังแห่งการเยียวยาจากธรรมชาติ  การปฏิสัมพันธ์เป็นไปได้ทั้งการเป็นผู้กระทำ (active) และผู้ถูกกระทำ (passive)  ทั้งนี้ขึ้นกับการออกแบบสวนและความต้องการของผู้ใช้สวน  มีสวนบำบัดที่แยกย่อยไปอีก ได้แก่  สวนเยียวยา (healing gardens) สวนแห่งความสามารถ (enabling gardens)  สวนฟื้นฟูสมรรถภาพ (rehabilitation gardens)   สวนฟื้นคืนสภาพเดิม (restorative gardens)

A garden for all senses goes beyond visual beauty to embrace tactile, fragrant, delicious plants and soothing sounds.
Sensory garden
A garden for all senses goes beyond visual beauty to embrace tactile, fragrant, delicious plants and soothing sounds.
Enabling garden

สวนกลายเป็นสวนบำบัดได้อย่างไร  รูปร่างลักษณะของสวนบำบัดสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทางเข้าและทางเดินที่กว้างเป็นลำดับและเข้าถึงได้ง่าย   แปลงเพาะปลูกและภาชนะปลูกที่ยกสูงขึ้น และพืชที่กระตุ้นประสาทสัมผัสที่เน้น สี รูปทรง ผิวสัมผัส และกลิ่น  บ่อครั้งที่นักภูมิสถาปัตย์จะทำงานร่วมกับนักสวนบำบัดเพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ที่สวยงามที่ปรับให้เข้ากับ

ผู้คนที่มีความสามารถในระดับต่างๆ  ในขณะที่สวนต่างๆ เหล่านี้ถูกออกแบบตามหลักการ แต่โปรแกรมสวนบำบัดที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องขึ้นกับการออกแบบที่ประณีต  ที่สำคัญ สวนบำบัดที่ออกแบบโดยมืออาชีพที่ไม่มีโปรแกรมกิจกรรมสวนบำบัดย่อมไม่สามารถที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด

2. นิยาม

สำหรับประเทศไทย ขอใช้คำว่าสวนบำบัด และใช้คำภาษาอังกฤษว่า Garden Therapy  ทั้งนี้เพราะคนไทยคุ้นเคยกับคำว่า Garden มากกว่า Horticulture  และในต่างประเทศเริ่มใช้คำว่า garden ในเว็บไซต์หลายแห่ง  เพราะให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและเข้าใจได้ง่ายกว่านิยามสวนบำบัดที่เหมาะสม หมายถึง การใช้กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพืชและสวน ได้แก่ การทำสวน การปลูกผักและไม้ดอก การดูแลพืช การขยายพันธุ์พืช การเยี่ยมชมสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สวน และสวนสาธารณ ป่า อุทยาน ต่างๆ  เพื่อพัฒนาแต่ละบุคคล ให้เกิดความรู้สึกการมีสุขภาวะ ปรับปรุงสุขภาพทางกาย จิต และ ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

สวนบำบัดประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สวนบำบัดดำเนินการโดยนักสวนบำบัดและเจ้าหน้าที่สวนบำบัด ที่ผ่านการรับรอง (สำหรับในประเทศไทยให้เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรสวนบำบัดพื้นฐาน)
2. ดำเนินการในโรงพยาบาล หน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยระยะยาว  ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงเรียน หน่วยร่วมจัดบริการด้านสุขภาพ  ชุมชน และครอบครัว
3. เป็นการใช้สวนในการเป็นเครื่องมือบำบัด เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทั้งทางกาย การเห็นคุณค่าของตนเอง จิตใจ สังคม และปัญญา
4. กิจกรรมของสวนบำบัดช่วยกระบวนการเยียวยา ฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ  และใช้ร่วมกับกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การปรึกษา และการรักษาทางการแพทย์
5. นักสวนบำบัดจะสร้างเป้าหมายโดยการใช้การประเมิน และจัดกิจกรรมเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ต้องการ  การประเมินมีตั้งแต่ ความสามารถทางกาย ปัญญา จิตสังคม และประวัติการรักษา
6. เน้นผู้ป่วย/ผู้รับบริการ เป็นศูนย์กลาง เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการได้บบรลุการเติบโตด้วยตนเอง  และส่งเสริมให้ผู้คนช่วยเหลือตนเอง  นักสวนบำบัดเป็นผู้อำนวยการใช้กิจกรรมสวนบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้รับบริการบรรลุเป้าหมายของเขา

ในต่างประเทศ สวนบำบัดเป็นกิจกรรมใหม่ที่เป็นโอกาสในการพัฒนาและก้าวหน้าทางวิชาชีพ  นักสวนบำบัดที่ผ่านการอบรมเป็นที่ต้องการในโรงพยาบาล สถานพักฟื้นคนชรา คุก ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ โรงเรียน และสถานที่ต่างๆ ที่บริการแต่ละบุคคลที่มีความต้องการเฉพาะหรือพิเศษ  สำหรับประเทศไทย ได้มีหน่วยงานแรกที่ได้นำมาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยได้แก่โรงพยาบาลศรีธัญญา  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีการดำเนินการด้านสวนบำบัด  นอกจากนี้มีองค์กรด้านเด็กพิการ ผู้สูงอายุ และครอบครัว บางแห่งที่ได้ดำเนินการด้านนี้  จึงสมควรที่ประเทศไทยจะมีนโยบายในการส่งเสริมให้สวนบำบัดเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการฟื้นฟูสมรรถภาพ การพัฒนา และบำบัดรักษาผู้ป่วย  รวมทั้งพัฒนาสุขภาวะของคนไทยที่มีความต้องการเฉพาะ

3. ประโยชน์ของสวนบำบัด
      3.1 กลุ่มเป้าหมายที่นำสวนบำบัดไปใช้กับผู้อื่น
1. พ่อแม่ ครอบครัวเด็กพิการ
2. บุคลากรด้านสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด
3. ครู ครูการศึกษาพิเศษ  นักวิชาการโดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม
4. นักพัฒนาการเด็ก พี่เลี้ยงเด็ก
5. อาสาสมัคร  ผู้ที่สนใจงานสวนบำบัด

3.2 กลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากสวนบำบัด
      สวนบำบัดใช้ได้อย่างกว้างขวางกับผู้ที่มีปัญหาหรือทักษะทั้งทางร่างกาย จิต สังคม ดังนี้
1. ปัญหาการเรียนรู้ (learning disabilities)
2. สมาธิสั้น
3. พิการทางการเคลื่อนไหว สมองพิการ
4. อัมพาต อัมพฤกษ์
5. โรคหัวใจ
6. ความจำเสื่อม
7. ฟื้นจากการเจ็บป่วย
8. การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังจากการรักษาในโรงพยาบาล
9. การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย
10. มีปัญหา หรือข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ในผู้สูงอายุ
11. ทักษะทางสังคมต่ำ
12. ผู้ที่ตกงาน หรือไม่มีงานทำเป็นเวลานาน
13. วัยรุ่นที่เข้ากับสังคมหรือกลุ่มคนทั่วไปไม่ได้
14. การฟื้นฟูภาวการณ์ถูกทารุณกรรม
15. ความผิดหวัง เศร้าโศกเสียใจ
16 เด็กทั่วไป

3.3 ข้อดีของสวนบำบัด
การทำสวนเป็นทั้งงานอดิเรกในการใช้เวลาว่างที่เป็นที่นิยมมากที่สุด รวมทั้งเป็นกิจการที่เป็นธุรกิจที่สำคัญ
1. ให้ประโยชน์ทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ที่เข้าร่วม
2. ให้โอกาสแก่ผู้ที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว (ในทุกระดับ) ในการเข้าร่วมกิจกรรม  แม้กระทั่งผู้ที่อาจทำได้เพียงแค่การหยอดเมล็ดพืชลงในดินและเฝ้าดูการเติบโต ก็สามารถเข้าร่วมการทำสวนได้
3. เป็นกิจกรรมที่เคลื่อนที่ (พลวัต) อยู่ตลอดเวลา  เกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตซึ่งหมายความว่าคุณกำลังทำงานกับสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้เข้าร่วมจะมีข้อจำกัดในการเข้าร่วม
4. เป็นกิจกรรมที่มี “ความหมาย” และ “การสร้างสรรค์” กับผู้สูญเสียความสามารถในการสร้างสรรค์หรือคุณค่าของชีวิตลดลง
5. ใช้เพื่อออกกำลังและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย  นักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์สามารถใช้กิจกรรมสวนบำบัดเพื่อช่วยการกระตุ้นและสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ถูกทำลาย  เพิ่มการเคลื่อนไหว และชะลอความเสื่อมที่เกิดจากโรคความเสื่อม
6. สวนเชื่อมโยงเรากับธรรมชาติและอื่นๆ  มันสามารถให้ความรู้สึกถึงเป้าหมายและการบรรลุความสำเร็จ  ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว  ปรับปรุงทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น และช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือกลุ่ม  ทั้งหมดนี้ช่วยพัฒนาสุขภาพจิต
7. สามารถช่วยสร้างทักษะการทำงานเป็นทีม หรือการรวมกลุ่มในกลุ่มผู้ตกงานเรื้อรัง (ทุกอายุ) หรือวัยรุ่นที่แยกตัว ด้อยโอกาส  ทักษะที่พวกเขาเรียนรู้ในสวนสามารถนำไปใช้กับส่วนอื่นๆ ของชีวิต  ได้แก่ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ต้องการการเลี้ยงดูและการดูแลวันต่อวันสามารถสร้างการเคารพตนเอง สร้างความไว้วางใจ (ในการทำงานเป็นทีม) กระตุ้นความรู้สึกของการเห็นคุณค่าของตนเอง และสร้างโอกาสในการมีงานทำ  นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะเมื่อร่วมในโปรแกรมที่เป็นของชุมชน เช่นการสร้างพื้นที่สาธารณะ (สวนสาธารณะ สวน เป็นต้น)   สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์สำหรับชุมชนโดยรวม เนื่องจากเกิดกิจกรรมของชุมชน เกิดความภูมิใจของชุมชนในผู้เข้าร่วมซึ่งถ้าไม่มีโครงการนี้ก็จะไม่มีส่วนร่วมในสังคม  และพื้นที่สาธารณะก็มักจะคงอยู่หรือไม่ถูกยกเลิกได้ง่าย
8. สามารถส่งเสริมการสื่อสารและกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวัย เช่น โปรแกรมที่ร่วมระหว่างผู้สูงอายุและเด็ก
9. สามารถส่งเสริมการสื่อสารระหว่างผู้คนที่มีภูมิหลังด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน (รวมทั้งเพศ)  การสื่อสารเสริมสร้างความตระหนักถึงวัฒนธรรม ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสร้างมิตรภาพ

3.4 ประโยชน์ที่ได้รับจากสวนบำบัด
        เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งทางร่างกายและจิต
ก. ประโยชน์ทั่วไป
ผู้คนทุกวัยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมสวนบำบัด
นักสวนบำบัดสามารถจัดกิจกรรมให้เหมาะกับแต่ละคน ตามความสามารถของแต่ละคน ดังนั้นกิจกรรมสวนบำบัดจึงสามารถใช้ได้กับแต่ละคน  ตัวอย่างเช่น บริเวณที่ทำงานสวนสามารถปรับให้ผู้ที่มีปัญหาที่หลังและการก้มเข้าทำกิจกรรมได้ โดยที่พวกเขาไม่ต้องก้ม  พื้นที่ทำงานสามารถปรับให้เตี้ยลงเพื่อให้ผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถทำกิจกรรมได้  สามารถปรับให้ต่ำลงเพ่อที่เด็กสามารถทำงานได้โดยนั่งบนเก้าอี้นั่ง

ตำแหน่งหรือบริเวณการทำกิจกรรมสวนบำบัดสามารถปรับให้เหมาะเฉพาะคน  ตัวอย่างเช่น สามารถควบคุมบริเวณเพื่อให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่อ่อนแอหรือมีความเสี่ยงไม่ต้องสัมผัสกับพืชที่มีอันตรายหรือหยิบพืชเข้าปาก  สามารถปรับสวนให้ผู้ที่นั่งรถเข็น มีปัญหาการคลื่อนไหว มีปัญหาการมองเห็นและอื่นๆ

ข. ประโยชน์ทางกายภาพ
     สวนบำบัดสามารถช่วย
1. พัฒนาทักษะกล้ามเนื้อย่อย/ละเอียด  เรามีทักษะกล้ามเนื้อย่อยและใหญ่  ทักษะกล้ามเนื้อใหญ่ ได้แก่กลุ่มกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การขุดดิน การวิ่งหรือกระโดด  ทักษะกล้ามเนื้อย่อยได้แก่ การใช้กระดูกและกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ การหว่านเมล็ดพืช การเขียน และอื่นๆ
2. เพิ่มความแข็งแรงและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ  การทำสวนสามารถช่วยให้ผู้นั้นเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  แม้ว่าผู้นั้นจะไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อบางมัด ตัวอย่างเช่น ถ้าไม่สามารถใช้ขาทั้งสองข้างได้  จะเพิ่มความแข็งแรงและความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่แขน ไหล่ เป็นต้น
3. เพิ่มองศาของการเคลื่อนไหว  การเคลื่อนที่ไปรอบๆ การขุด การพรวนดิน และอื่นๆ
4. พัฒนาการประสานงานและสมดุล  การได้ทำสวนและสวนบำบัดสามารถช่วยให้บุคคลเพิ่มการประสานงานและสมดุล  ลองนึกภาพการขุดดิน ต้องใช้แขนและขา จึงต้องการการระยะของประสานงานและการทรงตัวที่ดี

ดังนั้น สวนบำบัดสามารถทำให้สุขภาพทางกายภาพของแต่ละคนให้ดีขึ้น

A garden for all senses goes beyond visual beauty to embrace tactile, fragrant, delicious plants and soothing sounds.

A garden for all senses goes beyond visual beauty to embrace tactile, fragrant, delicious plants and soothing sounds.

ค. ประโยชน์ทางจิตใจ

สวนบำบัดมีประโยชน์ทางจิตใจดังนี้
1. สามารถเพิ่มความเชื่อมั่น/เห็นคุณค่าตนเอง  ตัวอย่างเช่น ผู้ที่รู้สึกว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ดี บางทีเพราะมีความพิการหรือบกพร่องทางการเรียนรู้  สามารถเข้าร่วมการทำสวนและสวนบำบัด และทำได้ดี สามารถช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าตนเอง

2. สามารถช่วยเพิ่มความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น  เพราะสามารถช่วยให้แต่ละคนเรียนรู้งานใหม่ๆ ทำงานด้วยตนเอง เรียนรู้เกี่ยวกับพืชและการทำสวนมากขึ้น  มัรสามารถช่วยความเป็นอิสระถ้าเขาสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปทำในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และที่บ้านของตนเอง  ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชและผักในบ้านตนเอง
3. สามารถช่วยเพิ่มทักษะในการสังเกต สิ่งที่ผู้นั้นทำ  พวกเขาจะเริ่มใส่ใจว่าพืชเติบโตได้อย่างไร  จะเพาะเมล็ดอย่างไร และอื่นๆ
4. สวนบำบัดสามารถสร้างทางเลือก ให้แต่ละคน  ด้วยสภาพปัญหาทางจิตบางประเภท เช่น การเรียนรู้  ผู้นั้นอาจไม่สามารถควบคุมชีวิตตนเองได้มากนัก  ดังนั้นการเข้าร่วมสวนบำบัดจะช่วยให้เขาตัดสินใจ  มีทางเลือก และแสดงถึงความเป็นอิสระมากกว่าที่เป็นมาในอดีต
5. สวนบำบัดสามารถเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหา ของแต่ละคน  โดยที่เมื่อเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด จะปลูกอย่างไร ปลูกลึกแค่ไหน ใช้ดินประเภทใด จะทำอย่างไรเมื่อได้ผลไม่เป็นไปตามที่คิด และอื่นๆ?  มันสามารถช่วยให้แต่ละคนพิจารณามากขึ้นเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง  แต่ละคนสามารถแสดงความริเริ่มที่ยิ่งใหญ่  ถ้าเจอดินที่แข็ง ขุดยาก จะทำอย่างไร?  หรือเพาะเมล็ดแล้วไม่งอก หรืองอกยากจะทำอย่างไร?  แต่ละคนและนักสวนบำบัดสามารถค้นหาหนทางที่พวกเขาจะทำกิจกรรมได้มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน
6. สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ของแต่ละคน  ช่วยให้แต่ละคนคิดว่าจะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร  ทำสวนได้อย่างไร  ที่ตรงไหนเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้แต่ละชนิด  อะไรดูดีที่สุด และอื่นๆ
7. การทำสวนและสวนบำบัดสามารถเป็นสถานที่ที่แต่ละคนสามารถปลดปล่อยความเครียดหรือความโกรธ  การออกกำลังกายเป็นการระบายความโกรธและอารมณ์ที่ดี  และมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานหนักในการทำสวน  นอกจากนี้ การคิดเกี่ยวกับพืช ดิน และสิ่งที่ทำเป็นการดึงตนเองให้พ้นจากภาวะความเครียด
8. สวนบำบัดมีประโยชน์ด้านสังคม  ทำให้คนเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น  เพิ่มการเห็นคุณค่าตนเอง ทักษะทางสังคม และทักษะด้านภาษา
9. ด้วยการแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อสิ่งมีชีวิต  แต่ละคนจะมีความรับผิดชอบสำหรับงานนั้นๆ สวนนั้นๆ และยังทำงานร่วมกับผู้อื่นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือกลุ่ม
10. สามารถช่วยให้แต่ละคนพบกับความสำเร็จและล้มเหลว  แต่ละคนอาจมีความล้มเหลวหลายอย่างในชีวิต  แต่การทำสวนสามารถช่วยให้พวกเขาค้นพบหนทางในการเอาชนะความล้มเหลว  เนื่องจากพืชไม่ออกดอก หรือแปลงผักไม่งามตามที่คิดไว้  สิ่งนี้จะใช้ช่วยให้แต่ละคนพิจารณาว่าเขาทำอะไรจึงเป็นเช่นนั้น (การแก้ปัญหาอีกแล้ว)  และจะปรับปรุงสิ่งต่างๆ อย่างไร  ใช้ดินไม่ถูกต้องหรือไม่?  ทำเลไม่เหมาะสม?  อากาศร้อนเกินไป ร่มเกินไปหรือเปล่า?  จะแก้ปัญหาอย่างไร?
11. ช่วยให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับ
12. ทำให้ผู้นั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ในการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สถานการณ์การใช้สวนบำบัดในประเทศไทย
ดูรายละเอียดในรายงานการศึกษาสถานการณ์สวนบำบัดในประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
https://ahta.org/horticultural-therapy
https://en.wikipedia.org/wiki/Horticultural_therapy
https://plantbiopath.rutgers.edu/horttherapy


ย้อนกลับ