มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

สวนบำบัดเพื่อคนทุกคน

 IMG_5046“สายลมที่สดชื่น สายน้ำที่ไหลเย็นในลำห้วย แสงแดดอันอบอุ่น ผีเสื้อที่บินหาน้ำหวานจากดอกไม้ เสียงนกที่ร้องเพลงอย่างเริงร่า……….ดอกหญ้าและดอกไม้ที่หลากสีสัน เสียงดนตรีและความรักของพ่อแม่

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของเด็กทุกคน ให้เติบโตขึ้นอย่างมีดุลยภาพ และกลมกลืนกับธรรมชาติและสังคม เด็กที่เติบโตขึ้นอย่างไร้ความผูกพันกับสิ่งมีชีวิตอื่น ย่อมจะขาดความรักความเข้าใจผู้อื่น และธรรมชาติ รวมทั้งจะทำให้เขาขาดความรักและความเข้าใจตนเองในที่สุด 

………..สำหรับเด็กพิการนั้น ขาดโอกาสที่เด็กปกติมี หลายคนเรียนรู้ช้า หลายคนเคลื่อนไหวตนเองไม่ได้อย่างอิสระ หลายคนมองเห็นแต่ความมืด หลายคนไม่เคยได้ยินเสียงอื่นใดเลยนอกจากเสียงในใจเขา ความพิการเหล่านี้ล้วนทำให้เขาไม่สามารถไปสัมผัสธรรมชาติได้อย่างที่เขาต้องการ เด็กพิการส่วนใหญ่จึงขาดชีวิตชีวา ขาดการเรียนรู้ ขาดความรัก และความเข้าใจของชีวิตว่าจะดำรงอยู่ต่อไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร 

การนำเด็กพิการไปสัมผัสธรรมชาติ และใช้ชีวิตเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเขา ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม จะทำให้เด็กพิการได้รู้จักสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเขา การได้ต่อสู้กับธรรมชาติจะทำให้เด็กพิการได้ตระหนักว่า ธรรมชาติได้ให้พลังอันยิ่งใหญ่ในตัวเด็กพิการ ที่จะต่อสู้กับตนเองและสิ่งอื่นๆ การเห็นความงดงามของธรรมชาติ จะทำให้เขาเห็นความสวยงามในตัวเขา ทั้งนี้เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ 

โลกธรรมชาติจะเป็นตัวดึงให้เด็กพิการนั้น ก้าวพ้นออกจากโลกแคบๆ ที่มีแต่ตัวของเขาเพียงลำพัง”

 จากหนังสือประคำลูกโอ๊ค เขียนโดย รอน โจนส์ นักการศึกษาและนักเล่าเรื่องในปีพ.ศ. 2519 และแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณมนันยา ในปี พ.ศ. 2523  ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ทำงานด้านเด็กพิการทั่วโลก  ในประเทศไทยมีผลทำให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการจัดสร้างค่ายห้วยน้ำใส จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นค่ายเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับเด็กพิการประมาณปี พ.ศ. 2530  และปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้จัดทำสวนบำบัดเพื่อเด็กพิการ เพื่อเป็นสวนตัวอย่างที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ลาดพร้าว 47 กรุงเทพฯ

IMG_5068การทำสวนเป็นการดึงธรรมชาติให้เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กพิการมากยิ่งขึ้น  เด็กสามารถสัมผัสกับธรรมชาติได้ทุกวัน  เมื่อเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ในสวน ก็ยิ่งทำให้เด็กพิการได้ผ่อนคลาย สงบ และพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา  ที่สำคัญแทนที่จะเกิดผลต่อเด็กพิการเท่านั้น  กลับพบว่าพ่อแม่ พี่เลี้ยงและบุคลากรที่บำบัดเด็กพิการ ก็ได้รับผลการผ่อนคลาย และฟื้นฟูไปพร้อมๆ กับเด็กอีกด้วย  การทำสวนบำบัดจึงเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและเกิดประโยชน์ทั้งผู้รับการบำบัดและผู้ให้การบำบัด

น่าดีใจที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปซึ่งดำเนินการโดยองค์กรเพื่อคนพิการ ชุมชน    มีการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสนับสนุนการบริการคนพิการ   กิจกรรมสวนบำบัดจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมบริการที่สำคัญและสามารถดำเนินการโดยครอบครัวของเด็กพิการ

สวนบำบัดไม่ได้มีเพื่อเด็กพิการเพียงอย่างเดียว  ความจริงสวนบำบัดมีขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อคนทุกคน…


ย้อนกลับ