มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

คุณประโยชน์จากธรรมชาติ

ประโยชน์ของสวนบำบัด

ปัจจุบันมีการใช้หลักการของสวนบำบัด ได้แก่ การได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับธรรมชาติภายในบริเวณสวน  ทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับต้นไม้ ธรรมชาติ นำมาใช้เป็นเวลานานหลายปีในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาลด้วยโรคต่างๆ  การได้มองพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติ เขียวขจี หรือสวนที่สวยงาม ร่มรื่นเป็นประจำทุกๆ วัน หรือได้ชื่นชมสวน ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบริเวณสวน นอกจากที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า ประโยชน์ของสวนที่เป็นผลดีต่อสภาพจิตใจ เกิดความสุข สงบ ทำให้คนได้พักผ่อน ผ่อนคลาย ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ จากการศึกษาเอกสารงานวิจัยต่างๆ ค้นพบว่าสวนบำบัดมีประโยชน์อย่างมากมายในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา (Kreitzer. 2015; Marcus. 2015; Detweiler.; et al. 2012; Söderback. 2004). มีรายละเอียดดังนี้

ประโยชน์ทางด้านร่างกาย
สวนบำบัดมีประโยชน์ทางด้านร่างกาย ดังนี้
1. ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความแข็งแกร่งและความคล่องตัวของกล้ามเนื้อ
Pic8การทำสวนและสวนบำบัด ทำให้ทุกส่วนของร่างกายเกิดการกระตุ้น และเพิ่มการเคลื่อนไหวให้กล้ามเนื้อ และชะลอความเสื่อมที่เกิดจากโรคความเสื่อม ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความแข็งแกร่งและความคล่องตัวของกล้ามเนื้อ ถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมบางคนนั้นจะไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อบางมัดได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าไม่สามารถใช้ขาทั้งสองข้างได้  จะเพิ่มความแข็งแรงและความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่แขน ไหล่ เป็นต้น

2.เพิ่มพลังงานและความอดทน
เนื่องจากการทำสวนและสวนบำบัด กิจกรรมต่างๆ ในสวน เป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนที่ไปรอบๆ การขุด การพรวนดิน และอื่นๆ ดังนั้นผู้เข้าร่วมต้องมีการเคลื่อนไหวทั้งร่างกาย แม้ว่าผู้เข้าร่วมจะมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมก็ตาม

3. ออกกำลังกายการประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตาPic7
ความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อมือและตาให้ทำงานอย่างประสานสัมพันธ์ที่ดี ต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝน กิจกรรมปลูกต้นไม้ เริ่มตั้งแต่เตรียมดิน ปลูกหว่านเมล็ด เพาะต้นกล้า พรวนดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ลักษณะของกิจกรรมปลูกผักหรือปลูกต้นไม้ มีส่วนช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กและความสามารถในการประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตาอย่างสมดุล
เมื่อพัฒนาความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือและตาให้สัมพันธ์กัน การบังคับกล้ามเนื้อทั้งสองส่วนนี้จะพัฒนาให้มีความสามารถในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้อย่างมั่นคง เช่น เมื่อผู้เข้าร่วมได้รับการฝึกฝนจนกล้ามเนื้อประสานสัมพันธ์กันดีแล้ว ก็จะมีความพร้อมในการใช้มือ    ในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การหยิบจับสิ่งของ การจับช้อนส้อมในการรับประทานอาหาร การถือสิ่งของ เป็นต้น

4. พัฒนาการประสานงานและสมดุลของร่างกาย
สมดุลของร่างกายคือ การที่คนเราสามารถยืน นั่ง เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นปกติ ไม่ล้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง การได้ทำสวนและสวนบำบัดสามารถช่วยเพิ่มการประสานงานและสมดุลของผู้เข้าร่วม  จากการขุดดิน ซึ่งต้องควบคุมการใช้กล้ามเนื้อแขนและขา จึงต้องการระยะของประสานงานและการทรงตัวที่ดี


ประโยชน์ทางอารมณ์และจิตใจ
สวนบำบัดมีประโยชน์ทางด้านอารมณ์และจิตใจ ดังนี้
1. ช่วยลดความวิตกกังวล และความตึงเครียด
การทำสวนและสวนบำบัดสามารถเป็นสถานที่ที่แต่ละคนสามารถปลดปล่อยความเครียดหรือความโกรธ  การนั่งชื่นชมความงดงามของธรรมชาติในสวนถือเป็นการผ่อนคลาย และการพักผ่อนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การออกกำลังกายในการทำกิจกรรมในสวนต่างๆ เป็นการระบายความโกรธและอารมณ์หงุดหงิด และมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานหนักในการทำสวน ทำให้ขณะทำงานสวน ต้องคิดเกี่ยวกับพืช ดิน และสิ่งที่ทำเป็นการดึงตนเองให้พ้นจากภาวะความเครียด

2. เพิ่มความเชื่อมั่นและการเห็นคุณค่าของตนเอง
กิจกรรมในสวนต่างๆ สามารถเพิ่มความเชื่อมั่น/เห็นคุณค่าตนเอง  ตัวอย่างเช่น ผู้ที่รู้สึกว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ดี บางทีเพราะมีความพิการหรือบกพร่องทางการเรียนรู้  สามารถเข้าร่วมการทำสวนและสวนบำบัด และทำเมื่อประสบผลสำเร็จ ทำได้ดี เพื่อปลูกต้นไม้ และเห็นต้นไม้เติบโตขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นกำลังใจผู้เข้าร่วม พัฒนาความรู้สึกต่อตนเองไปในทางที่ดี และทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าตนเองมากขึ้น
Picture9

3. ช่วยกระตุ้นความรู้สึกผ่านการสังเกตสัมผัสกับธรรมชาติ
การทำสวนและสวนบำบัดช่วยกระตุ้นความรู้สึกผ่านการสังเกตสัมผัสกับธรรมชาติ  จากการชื่นชมผ่านรูป, กลิ่น, เสียง และสัมผัส เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติให้มีความสุข สบายใจ เช่น สีสดใสของดอกไม้ที่บานอยู่ตลอดปี ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชื่นและผ่อนคลาย เป็นประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ ให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสชื่นชม นอกจากนี้การทำสวนและสวนบำบัดสามารถช่วยเพิ่มทักษะ      ในการสังเกต ผู้เข้าร่วมจะเริ่มใส่ใจว่าพืชเติบโตได้อย่างไร จะเพาะเมล็ดอย่างไร และอื่นๆ


ประโยชน์ทางสังคม
สวนบำบัดมีประโยชน์ทางด้านสังคม ดังนี้
1. ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
การทำสวนและสวนบำบัด เป็นประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น  ด้วยการทำกิจกรรมหรือการทำงานสวนร่วมกับผู้อื่นทำให้มีการวางแผน การตัดสินใจเลือกและลงมือปฏิบัติ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้สึก ความสนใจ ความต้องการทั้งของตนเองและผู้อื่น ถือเป็นการสร้างความชื่อมั่นในการเข้าสังคมด้วย

2. สร้างแรงจูงใจ
การทำสวนและสวนบำบัดเป็นการสร้างแรงจูงใจได้อย่างดี เพราะในการที่แต่ละคนได้มี    ส่วนร่วม และลงมือทำด้วยตนเอง เป็นการสร้างแรงจูงใจ เพิ่มการเห็นคุณค่าตนเอง และพัฒนาความรู้สึกต่อตนเองไปในทางที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ

Picture3

3. พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
การทำสวนและสวนบำบัด ในบางครั้งเป็นกิจกรรมกลุ่ม ที่ต้องมีการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นในแต่ละงาน ก็จะมีการแบ่งความรับผิดชอบให้แต่ละคน ทำให้ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของทีมหรือกลุ่ม ผู้เข้าร่วมจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อน ทำให้ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาระหว่างการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม

4. พัฒนาทักษะการดำเนินชีวิต
การทำสวนและสวนบำบัด เป็นการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถดูแลตนเอง  อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนและสังคมได้ มีส่วนช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้มแข็งและมีกำลังในการต่อสู้ปัญหา    โดย การให้อาชีพซึ่งทักษะที่พวกเขาเรียนรู้ในสวนสามารถนำไปใช้กับส่วนอื่นๆ ของชีวิต จากการเรียนรู้เกี่ยวกับพืชและการทำสวนมากขึ้น ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถทำงานได้ด้วยตนเอง  กระตุ้นความรู้สึกของการเห็นคุณค่าของตนเอง นอกจากนี้เป็นการสร้างเสริมนิสัยและทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงาน สำหรับผู้เข้าร่วมคนใดที่สนใจและรักในงานเกษตรกรรม ก็สามารถพัฒนาเป็นทักษะอาชีพ สามารถทำงานมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

Picture2


Picture4ประโยชน์ทางสติปัญญา
สวนบำบัดมีประโยชน์ทางด้านสติปัญญา ดังนี้
1. พัฒนาสมาธิและเป็นการฝึกสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่และตั้งใจ
ธรรมชาติสร้างสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ที่อยู่ในสวน การทำสวนและสวนบำบัด การได้อยู่กับธรรมชาติ จากเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกต้นไม้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย  จวบจนกระทั่งรอจนถึงวันที่ต้นไม้ผลิดอกออกผล เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถฝึกสมาธิ จากการเฝ้าสังเกตและการติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแต่ละวัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่และตั้งใจ มีสมาธิทำอะไรเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น

2. พัฒนาทักษะใหม่ และพัฒนาทักษะอาชีพ
กิจกรรมด้านการจัดหรือการปลูกต้นไม้ ผักและสมุนไพร หรือการประดิษฐ์งานจากดอกไม้ใบไม้ในรูปแบบต่างๆ ในสวนบำบัด นอกจากความเพลิดเพลิน ความสุข ผ่อนคลาย ยังสามารถพัฒนาเป็นทักษะอาชีพได้ สามารถทำงานมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต เช่น อาชีพเกษตรกรรม   การปลูกผักขาย เป็นต้น เป็นการสร้างโอกาสในการมีงานทำ

3. พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาและการคิดวางแผน
การทำสวนและสวนบำบัดสามารถเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาของแต่ละคน  โดยที่เมื่อเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด จะปลูกอย่างไร ปลูกลึกแค่ไหน ใช้ดินประเภทใด จะทำอย่างไรเมื่อได้ผลไม่เป็นไปตามที่คิด ถ้าเจอดินที่แข็ง ขุดยาก จะทำอย่างไร?  หรือเพาะเมล็ดแล้วไม่งอก หรืองอกยากจะทำอย่างไร?และอื่นๆ ดังนั้นทำให้แต่ละคนและนักสวนบำบัดต้องคิดและค้นหาหนทางที่พวกเขาจะทำกิจกรรมได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาและการคิดวางแผนอย่างมีระบบด้วยเช่นกัน
Picture1

4. พัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการคิดของสมอง ซึ่งมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิม การจัดกิจกรรมในการทำสวนและสวนบำบัด เป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การรับรู้ความงาม ให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงออกทางอารมณ์หรือความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจินตนาการโดยใช้ธรรมชาติในหลากหลายแบบ เช่น ช่วยให้แต่ละคนคิดว่าจะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร  ทำสวนได้อย่างไร  ที่ตรงไหนเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้แต่ละชนิด อะไรดูดีที่สุด เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นอกจากก่อให้เกิดความสนุก จากการที่ต้องค้นหาวิธีการคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำสวนตลอดเวลา ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่นำไปสู่การเกิดแนวทางใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่น และความพอใจในตนเองขึ้นมาด้วย
Picture6


ย้อนกลับ